Open Office และการใช้งาน Cloud

มีความเคลื่อนไหวทั้งในไทยและในระดับโลก ในแวดวงการใช้งาน ICT ที่น่าสนใจ สำหรับผมในปีนี้ อยู่ ๒ เรื่องนะครับ เลยอยากขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้

เรื่องแรกคือการหันมาใช้งานโปรแกรม Open Source อย่างมีนัยยะในเมืองไทย โดยองค์กรใหญ่

ไม่ทราบว่า ในที่นี้ จะมีสักกี่คนที่รู้จักโปรแกรมในตระกูลของ Open Office ก็เลยอยากจะขอปูข้อมูลพื้นฐานเล็กน้อย

Open Office เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปที่แจกกันให้ใช้ฟรี ภายใต้เงื่อนไขของ Open Source (นั่นคือ ใช้งานฟรี แต่ถ้านำไปพัฒนาเพิ่มเติม ต้องเปิดเผยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมา ให้ผู้อื่นได้ทราบด้วย เพื่อที่จะได้นำไปพัฒนาต่อ) เจ้า Open Office ที่ว่านี้ ประกอบไปด้วยโปรแกรมทั้งหมด ๔ ตัว คือ Word Processor, Spreadsheet, Presentation และ Database ซึ่งก็เทียบเท่ากับการทำงานของ Microsoft Office นั่นเอง แน่นอนว่า ด้วยความที่เป็นของฟรี และค่อนข้างใหม่ เมื่อเทียบกับ MS Office แต่สำหรับการใช้งานทั่วไปแล้ว ต้องยอมรับว่า สามารถใช้งานแทนกันได้ ยกเว้นว่า ในหน่วยงานนั้น ได้มีการเขียน application หรือ macro เพิ่ม เพื่อนำมาใช้งานเฉพาะทางขององค์กร โดยเฉพาะ MS Excel ในกรณี เช่นนี้ ก็คงต้องบอกว่า ยากหน่อย แต่เท่าที่เห็น บรรณาธิการ Go Training เอง ก็ใช้งานมาเป็นปีแล้ว เพื่อลดค่าใช้จ่าย ในการซื้อซอฟท์แวร์ ลองโหลดได้ที่ http://www.OpenOffice.org

ผมได้ผ่านตาประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในการรณรงค์ให้ใช้งานโปรแกรม Open Office มานานแล้ว ผมเคยลองๆอยู่ตั้งแต่ช่วงบริษัท SUN นำมาปรับปรุงเป็น Star Office ประมาณในช่วงปี 1996-1999 ซึ่งจะว่าไปแล้ว เป็นช่วงที่ Microsoft ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว ใหญ่เสียจนดูไม่ออกเลยว่า จะมีใครสามารถมาต่อกรกับ Microsoft ได้ ณ เวลานั้น โปรแกรมในตระกูล Office ทั้งหลาย แทบจะยกธงขาวกันไปหมดแล้ว (ตอนนั้น Apple ยังลูกผีลูกคนอยู่เลยนะครับ ก่อนที่จะเชิญ Steve Jobs กลับเข้ามา)

ผมติดตามการใช้งาน Open Source ในบ้านเราแบบห่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีโอกาสได้ใช้เองอย่างจริงจัง จนเมื่อมาทำ podcast โดยไม่ได้เงิน เลยต้องพึ่งโปรแกรมในตระกูลนี้อย่างจริงจัง ก็พบว่า ทำงานได้ดีกว่าที่คิดมาก แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่ได้ใช้ Open Office

แต่เพิ่งเริ่มเห็นการใช้งานเป็นจริงเป็นจังในบ้านเรา เมื่อสักปีที่แล้วนี่เอง โดยมีองค์กรใหญ่ๆ ระดับธนาคารอันดับต้นๆของประเทศ หันมาศึกษาและนำมาใช้งานอย่างจริงจัง แน่นอนว่า ย่อมมีเสียงตอบรับในทางลบ จากผู้ใช้งานต่างๆนานา เนื่องจากปัญหาความไม่เข้ากันในการเปิดไฟล์ข้ามกันไปมาระหว่าง ๒ ตระกูล การจัดหน้า การแสดงสีบนหน้าจอ ฯลฯ แต่ผมเองก็ยังเข้าใจว่า ธนาคารดังกล่าว ก็ยังผลักดันให้ใช้งานอยู่ เพื่อหวังผลระยะสั้นในเรื่องของค่าซอฟท์แวร์ และระยะยาวในเรื่องของค่า license ต่างๆที่ต้องใช้ในการ upgrade เป็นเวอร์ชันใหม่ๆ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันออกไป แล้วแต่เวอร์ชัน

อยากปรบมือดังๆให้กับธนาคารดังกล่าว แน่นอนว่าเหตุผลเรื่องเงินเป็นเหตุผลสำคัญ จากที่ต้องจ่ายปีละเป็นสิบๆล้านบาท ลดลงมาเหลือเกือบๆศูนย์ แต่จะมีสักกี่ที่ ที่จะกล้าริเริ่มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลก ที่ไม่มีสื่อใดหยิบเรื่องดังกล่าวมาเล่าในวงกว้าง หรือเล่าแล้ว แต่ผมอยู่ในกะลาก็ไม่ทราบได้

Open Source ไม่ได้มีแค่ซอฟท์แวร์สำหรับงานเอกสารเท่านั้นนะครับ แต่เจ้า Open Office เป็นตัวที่หลายๆคนน่าจะได้สัมผัสง่ายที่สุด และมีผลกระทบมากที่สุด ผมเริ่มได้ยินคนเล่าให้ฟังบ้างแล้วว่า เริ่มได้รับไฟล์นามสกุลแปลกๆจากลูกค้า ต้องไปหาโปรแกรมมาเปิด แจ๋วแฮะ มีคนกล้าใช้แล้ว

นอกจากนี้แล้ว ยังมีโปรแกรมดีๆที่สามารถนำมาใช้งานกันได้ฟรี ตาม Open Source ได้อีก เช่น โปรแกรม Audacity ที่ผมใช้บันทึกเสียงในการจัดรายการพอดคาสท์อยู่หลายเดือน เจ้าตัวนี้ ทำหน้าที่บันทึกเสียงในการพูดคุยสนทนาได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่ได้ถึงระดับมืออาชีพใช้ในการบันทึกเพลง แต่ก็ต้องบอกว่า เกินพอ สำหรับผู้ใช้งานทั่วๆไป

ส่วน หนึ่งที่ผมสนใจเรื่องนี้ เป็นเพราะการใช้งานประเภทนี้ เป็นโอกาสเกิดของบริษัทเล็กๆในบ้านเราครับ ในการเข้าไปให้บริการองค์กรต่างๆ เพื่อให้ใช้งานซอฟท์แวร์พวกนี้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งมักจะมีปัจจัยอื่นๆที่ต้องพิจารณาด้วย ไม่ว่าจะเป็น

  1. การว่าจ้างบริษัทเหล่านี้ ในระยะยาว จะแพงกว่าซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปหรือไม่ ไม่ใช่แค่ในเมืองไทยหรอกครับ เป็นข้อสงสัย หรือตั้งข้อสังเกตุกันทั้งโลกแหละ
  2. ถ้าต้องหาคนมาทำงานในบริษัท มีแผนก IT แล้วบุคคลากรที่มีความสามารถในสาย Open Source จะหาได้ในตลาด หรือไม่ และพวกนี้จะยอมอยู่กับองค์กรไหม
  3. เมื่อถึงเวลามีปัญหาจริงๆ จะมีใครรับผิดชอบในการแก้ปัญหาได้หรือไม่

เรื่องนี้ ไม่มีคำตอบตายตัว แต่ละที่ก็มีแนวทางแก้ปัญหาแตกต่างกันออกไป แต่ดูแนวโน้มแล้ว หลายๆองค์กรคงกำลังคิดหนักว่า จะลงทุนซื้อซอฟท์แวร์ต่อปีไปอย่างนี้อีกนานเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมาถึงเรื่องที่ ๒ ที่ผมอยากเสนอไว้

ณ เวลานี้ ผมเชื่อว่า แต่ละบ้าน เริ่มจะมีคอมพิวเตอร์เครื่องที่สามแล้ว ไม่ต้องไปพูดถึงเครื่องที่สอง ที่เชื่อว่า หลายๆบ้านมีมาสักพักแล้ว และเมื่อมีเครื่องคอมพิวเตอร์ตระกูลใหม่ๆ ไม่ว่า จะมาในรูปแบบของสมาร์ทโฟน ทั้งเจ้า BlackBerry iPhone หรือ Android ก็ดี หรือในรูปแบบของ iPad ที่เป็นเครื่องพกพาแนวใหม่ เชื่อว่าหลายๆคนเริ่มรู้สึกถึงความไม่สะดวกในการที่เราต้องเก็บข้อมูลไว้หลายที่ และจำไม่ได้ว่า ไฟล์ไหมล่าสุด ต้องพกเจ้า  Thumb Drive ไว้กับตัว เพื่อจะได้เก็บข้อมูลชุดเดียว

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้หลายๆองค์กรเริ่มคิดใหม่ ก็คือเหตุการณ์วุ่นวายในกรุงเทพ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้เอง แม้ความวุ่นวายจะอยู่ในตัวเมืองส่วนใน แต่ผลกระทบของการปิดถนน ปิดการจราจร ประกาศเคอร์ฟิวส์ และการหยุดการให้บริการของขนส่งมวลชนสาธารณะ ทำให้เกือบทั้งหมดในกทม.รู้สึกเดือดร้อนได้

ผมเชื่อว่า ไม่มากก็น้อย ทั้งสองเหตุการณ์ ทำให้ทั้งระดับองค์กรและบุคคล เริ่มพิจารณาถึงการเก็บข้อมูล”นอกสถานที่”มากขึ้น ถ้าได้ลองอ่านข่าวเรื่องไอทีในปีนี้ ผมเชื่อว่า หลายๆคนคงเคยได้ยินคำวา่ cloud computing อยู่บ้างนะครับ ก็เป็นเรื่องประมาณนี้แหละครับ แทนที่จะเก็บข้อมูลไว้เอง ก็ไปฝากไว้”ข้างนอก” (หรือ “cloud” ซะ)

เรื่องนี้ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดนะครับ ถ้าใครมี HotMail, Yahoo หรือ Gmail อยู่แล้ว (หรือถ้าไม่มี ก็ไปลองนะครับ ฟรีเหมือนกัน) ก็หมายความว่า เราใช้บริการ cloud อยู่แล้วล่ะครับ แทนที่จะใช้บริการเมล์ขององค์กร หรือของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ท ก็ใช้บริการของ Google, Yahoo และ Microsoft ซะ สามารถเช็คเมล์จากที่ไหนก็ได้ในโลก โดยที่เราก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ข้อมูลจริงๆอยู่ที่ไหนเสียด้วยสิ รู้แต่ว่า มันอยู่ในโลกนี้นี่แหละ

ทีนี้ เรื่องนี้ มาเกี่ยวกับ Open Office ตรงไหนล่ะ

ผมอยากแนะนำท่านที่ไม่เคยลอง หรือไม่รู้จัก ให้ลองใช้บริการ Google Docs ดูนะครับ เจ้าตัวนี้เป็นบริการฟรีของ Google เจ้าตระกูล Docs ที่ฟรีนี้ มีทั้ง

  1. Document (เทียบเท่า MS Word),
  2. Spreadsheet (เทียบเท่า  MS Excel) และ
  3. Presentation (เทียบเท่า MS PowerPoint)

ผมใช้งานเจ้า Document ตัวนี้อยู่เป็นประจำ เพราะต้องสลับคอมพิวเตอร์ใช้งาน ทั้งเครื่องของที่ทำงาน ที่เป็น Windows และเครื่องส่วนตัวที่เป็น Mac รวมไปถึงเจ้าเครื่องพกพาอย่าง  iPad ด้วย ทำให้รู้สึกว่า ฝากเอกสารไว้บน Google สะดวกที่สุด เพราะสามารถเข้าถึงจากที่ไหนก็ได้ งานไหนที่ประณีตมาก ก็จะเขียนบน Google Docs จนเสร็จ แล้วจึงนำมาลง MS Word ทีหลัง สะดวกดี เชื่อว่าหลายๆคนที่มีเหตุให้ต้องใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า ๑ เครื่อง และลืมเซฟงานลง Thumbdrive อย่างที่เอ่ยไว้ในตอนต้น คงจะมีทางออกคล้ายๆกัน แน่นอน ตอนนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการลดค่าใช้จ่าย ก็มีทางเลือกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Open Office หรือ Google Docs

แน่นอนครับ เรื่องนี้กระทบ Microsoft แน่ๆ ซึ่งทาง Microsoft เอง ก็มีทางเลือกในแนวนี้เช่นกันครับ ลองดูที่ Live.com มีทางเลือกเหมือนที่ Google Docs มีเหมือนกัน ลองใช้งานตามชอบใจเลยครับ

แต่ประเด็นเรื่อง security คงเป็นเรื่องที่หลายๆคน ยังไม่วางใจที่จะฝากเอกสารไว้ที่ Google หรือผู้ให้บริการรายใดนัก แต่เรื่องนี้ ผู้ใช้งานน่าจะเลือกเองได้ว่า เรื่องแบบไหนที่จะทำบน Google Docs และเรื่องไหนจะเก็บไว้ทำในเครื่อง แล้วแต่ความชอบครับ

ทั้งสองเรื่องนี้ (การใช้งาน Open Office / Open Source และการใช้งาน Cloud) ดูจะเป็นทางออกที่น่าสนใจ แต่ก็เป็นทางเลือกที่ใหม่ในเมืองไทย เชื่อว่า ยังมีความกล้าๆกลัวๆกันอยู่ในระดับหนึ่งทีเดียว อย่างที่กล่าวในข้างต้น มีธนาคารที่ใช้งาน Open Office ให้เห็นแล้ว แต่ผมยังไม่ทราบว่า มีการใช้งาน Google Docs หรือ Microsoft Live ในองค์กรใหญ่บ้างหรือยัง แต่ที่เจอ ก็คือ เถ้าแก่ใหม่หลายๆคน ที่เมื่อออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัวแล้ว อยากจะประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เนื่องจากค่าซอฟท์แวร์ เมื่อเทียบกับรายได้ของเถ้าแก่ใหม่แล้ว ยังแพงเกินไป

เชื่อว่า หลายๆคนรู้จักการใช้งาน Open Office หรือ Google Docs อยู่แล้ว แต่สำหรับผมแล้ว ปีนี้ ดูจะเป็นปีที่เริ่มมีการพูดถึงในวงกว้างขึ้นมาก ถ้าใครมีประสบการณ์การใช้งาน ช่วยมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์บ้างก็ดีครับ สวัสดีครับ

สอนทำพอดคาสท์ด้วยตัวเอง กับ Go Training รุ่น ๒

เนื่องจากมีคนถามถึง ทาง Go Training จึงอยากให้จัดอีกครั้งหนึ่ง โดยขยายเนื้อหาจาก ๑ วัน ให้เป็น ๒ วัน และระบุให้ชัดเจนว่า อยากให้เป็นกลุ่มที่เป็น non-technical จริงๆ มิฉะนั้นแล้ว ความเร็วในการเรียนรู้จะต่างกันมากเกินไป จำกัดผู้เข้าเรียนที่ ๑๒ คน เหมือนเดิม

วัตถุประสงค์

  1. แนะนำให้รู้จักรูปแบบต่างๆของพอดคาสท์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเสียง วิดีโอ ภาพประกอบเสียง และการทำ Video Capture จากหน้าจอ
  2. สามารถวางแผนการทำพอดคาสท์และประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้นได้
  3. แนะนำในการจัดรายการเบื้องต้นได้
  4. แนะนำการเลือกอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดรายการ

ผู้ที่ควรเข้าหลักสูตรนี้

  1. ผู้ที่เป็นเจ้าของ content เอง ไม่ว่าจะเป็นคอร์สฝึกอบรม ความรู้เฉพาะทาง ที่ต้องการบันทึกและถ่ายทอด
  2. ผู้ที่ต้องการ หรือมีหน้าที่ในการเก็บบันทึกข้อมูลเฉพาะทาง เพื่อใช้ในการถ่ายทอดต่อไป
  3. ผู้ที่มีเว็บไซด์ หรือ Blog อยู่แล้ว และสนใจอยากทำรายการพอดคาสท์เป็นของตัวเอง

สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในการอบรม

  1. การจัดทำเว็บไซด์
  2. การถ่ายทำและตัดต่อวิดีโอ

วิธีการฝึกอบรม: บรรยาย และปฏิบัติ

เนื้อหาวิชา

วันที่ ๑

  1. แนะนำ podcast (๑ ชั่วโมง)
    • ตัวอย่างการทำ podcast ที่น่าสนใจ ทั้งไทยและต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบเสียงและวิดีโอ
    • แนะนำ iTunes และซอฟท์แวร์อื่นๆที่ใช้ในการรับชม
  2. ภาพรวมกระบวนการในการผลิต podcast ตั้งแต่การบันทึกเสียง วิดีโอและการบันทึกหน้าจอเพื่อทำรายการ จนถึงการนำขึ้นเว็บ ทั้งนี้สามารถทำได้ทั้งบนเครื่อง Mac และ Windowpodcast production (๔๐ นาที)
  3. การทำ production ด้านเสียง
    • เสียงและรูปแบบไฟล์เสียง (MP3, M4A)
      • อุปกรณ์ ไมค์และมิกเซอร์ สำหรับสถานะการณ์ต่างๆ เช่น บันทึกรายการคนเดียว เป็นกลุ่ม นอกสถานที่ และการบันทึกแยกเพื่อนำไปประกอบวิดีโอ
      • ซอฟท์แวร์ที่ใช้ (MAC และ Windows) ทั้งนี้ เน้นในส่วนของ Mac เป็นหลัก
      • สาธิตการบันทึกเสียง Garage Band (Mac) and Audicity (Windows)
    • แนะนำการทำ production ด้าน video ทั้งนี้เป็นเพียงการแนะนำเท่านั้น เพราะเนื้อหาวิธีการถ่ายทำวิดีโอ มีรายละเอียดมากจนเกินกว่าจะเป็นอธิบายได้หมดในเวลาอันสั้น
      • ปัจจัยในการเลือกวิดีโอ ความละเอียด Mic สื่อที่ใช้ในการบันทึก
      • รูปแบบไฟล์  MP4, M4V
      • สาธิตการใช้ iMovie’09 (Mac) และนำขึ้น YouTube
    • การทำ production บนคอมพิวเตอร์
      • บันทึกเสียงในการสัมภาษณ์ผ่าน  Skype
      • การบันทึกวิดีโอหน้าจอ (Screen Capture) เพื่อทำเป็นรายการวิดีโอ
      • การทำเป็นรายการภาพประกอบเสียง (Enhanced Podcast) เพื่อใช้ในการอธิบายภาพ โดยไม่ต้องถ่ายวิดีโอ (ใช้ GarageBand บน Mac  เท่านั้น)
  4. มอบหมายการบ้าน

วันที่ ๒

  1. นำเสนองานตามที่มอบหมายไป
  2. แนะนำการถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ท อธิบายองค์ประกอบในการถ่ายทอดสด (๓๐ นาที)
    • วิดีโอ Production การเตรียมการในการทำวิดีโอ
    • สัญญาณอินเตอร์เน็ท ปัจจัยในการเลือกสัญญาณอินเตอร์เน็ท Media และ Speed
    • Streaming Server
  3. web production & Tools แนะนำการจัดเตรียมเว็บไซด์สำหรับการทำ podcast ในส่วนที่นอกเหนือจากการทำเว็บไซด์ทั่วๆไป ( ๖๐ ​นาที)
    • Site Development
    • แนะนำการเขียน RSS เพื่อใช้ในการบอกข่าวตอนใหม่ และอัพเดท iTunes
    • iTunes Submission
  4. ความรู้เบื้องต้นด้านลิขสิทธิ์ และกฏหมายที่เกี่ยวข้อง (๓๐ นาที)
  5. ทดลองบันทึกเสียง (GarageBand หรือ Audacity) และแปลงไฟล์เป็น MP3 (แล้วแต่เวลาจะอำนวย)
  6. บทเรียนและ FAQ สถิติต่างๆที่เคยเห็น กรณีศึกษาที่น่าสนใจ ตลอดจนประสบการณ์ต่างๆที่ได้สัมผัสการทำ podcast มากว่า ๓ ปี (๓๐ นาที)

สิ่งที่ควรเตรียมมา

  1. Notebook จะเป็น Windows หรือ Mac ก็ได้ ควรจะมีไมค์โครโฟนในตัว หรือมีช่องให้ต่อไมค์ได้
  2. โปรแกรมในการบันทึกเสียง (Audacity สำหรับ Windows โหลดฟรีได้ที่ http://audacity.sourceforge.net หรือ GarageBand สำหรับ Mac ซึ่งมีให้ฟรีอยู่แล้ว)
  3. โปรแกรม iTunes (โหลดฟรีได้ที่ http://www.apple.com/iTunes ทั้งแบบ Windows และ Mac)
  4. โปรแกรม Skype (โหลดฟรีได้ที่ http://www.Skype.com)

“ถ่ายทอดได้ในสิ่งที่ผมทำมา ส่วนนี้เป็นส่วนที่ง่ายที่สุดแล้วล่ะครับ ส่วนที่ยากคือเนื้อหาของรายการ ที่แต่ละคนอยากเล่าออกมาว่า น่าสนใจขนาดไหน และที่สำคัญที่สุด คือความตั้งใจในการทำครับ เรื่องเทคนิค เราสามารถสอนกันได้ แต่ความพยายามและความตั้งใจเป็นเรื่องที่ต้องไข่วคว้ากันเองครับ”

งานนี้ ทาง Go Training เก็บเงินนะครับ ถ่้ามีรายละเอียดเพิ่มเติม ผมจะมาบอกอีกที

The Art of Choosing

ผ่านตาที่แผงหนังสือมาหลายเดือนแล้ว สำหรับ “The Art of Choosing” แต่ก็ยังไม่สะกิดใจให้ไปหาอ่าน แต่เท่าที่พลิกๆอ่านดู ก็เชื่อว่า เป็นแนวหนังสือที่ชอบอ่าน แต่ก็”ไว้ก่อน”ดีกว่า ด้วยข้อจำกัดของเวลา มีหลายเล่มที่รอคิวให้อ่าน หลายเรื่องรอฟังใน iPod และอีกหลายอย่างที่อยากเล่าในพอดคาสท์

ให้มาบังเอิญเจอหัวข้อนี้อีก ใน TED Talk ในรูปแบบของวิดีโอพอดคาสท์ที่โหลดมา เห็นว่า ความยาวของวิดีโอ ไม่นานนัก ก็เลยลองฟังดู ฟังจบ ก็ต้องบอกว่า สะกิดใจหลายอย่างครับ

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ และเล่าเรื่องนี้ใน TED Talk ชื่อ Sheena Iyenga เธอมีเชื้อสายอินเดีย แต่เติบโตในแคนาดาและเรียนที่อเมริกา ปัจจุบัน เธอสอนอยู่ที่ Columbia University ครับ ว่ากันว่า (จากใน Wikipedia) เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญอันดับต้นๆของโลกทีเดียวในเรื่องของศาสตร์การเลือกที่ว่านี่แหละ เนื่องจากว่า ยังไม่ได้อ่านหนังสือ แต่เท่าที่มีโอกาสได้ฟังจากใน TED Talk ก็ต้องบอกว่า เธอทำให้หนังสือน่าอ่านขึ้นมาอีกเยอะเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นความน่าสนใจของเนื้อหา วิธีการเล่าเรื่อง และลีลาการตอบคำถามของเธอในตอนท้าย เมื่อผู้จัดรายการขึ้นมาคุยกับเธอ ที่สำคัญ เธอเป็นคนตาบอดครับ เธอมาตาบอดสนิทเมื่ออยู่มัธยมปลายแล้ว ทำให้เธอมีประสบการณ์ในการเห็นมาก่อน รวมทั้งเรื่องสีด้วย

ลองดูตัวอย่างที่เธอเล่าให้ฟังนะครับ เธอบอกว่า ในกรณีที่เด็กประสบอุบัติเหตุ ทำให้อยู่ในอาการโคม่า อยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ มีทางเลือกเพียงแค่ ๒ ทางคือ ปลดเครื่องช่วยออก ซึ่งเด็กต้องเสียชีวิตแน่ๆ กับปล่อยให้ใช้เครื่องช่วยต่อ แต่ก็ต้องเสียชีวิตอยู่ดี ในสถานะการณ์ที่พ่อและแม่ที่ไหนในโลก คงไม่อยากเจอนี้ ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่อเมริกา ผู้ที่ตัดสินใจเลือกว่า จะใช้วิธีไหนนั้น ตกอยู่กับพ่่อและแม่ของเด็ก ในขณะที่ ถ้าเป็นที่ฝรั่งเศส ผู้ที่ตัดสินใจเรื่องนี้ จะเป็นหมอ

พอจะนึกออกไหมครับว่า ศาสตร์ของการเลือกแบบนี้ มีผลอย่างไรบ้าง จากผลของการศึกษาแล้ว พบว่า ในระยะยาวแล้ว พ่อแม่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ จะทนทุกข์ทรมานกับการตัดสินใจนี้ไปตลอดชีวิต เพราะจะมีคำถามตลอดเวลาในใจว่า What If เมื่อเลือกอีกแบบหนึ่ง ในขณะที่เมื่อการตัดสินใจอยู่ที่หมอแล้ว พ่อแม่จะมีแนวโน้มที่จะอยู่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ได้ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ต้องตัดสินใจเอง (ตัดประเด็นในส่วนการตัดสินใจของหมอ ในแง่ Moral ออกไปก่อนนะครับ ประเด็นอยู่ที่ใครเป็นคนตัดสินใจ) แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็บอกว่า คงแทบจะเป็นไปไม่ได้ ในกรณีที่จะให้พ่อแม่อเมริกันยอมให้การตัดสินใจนี้ ขึ้นกับหมอ เพราะแนวคิด หรือขนบธรรมเนียมทีสั่งสอนกันมา ทำให้พ่อแม่จะเป็นคนขอตัดสินใจเอง ทั้งๆที่ผลการศึกษาพบว่า โดยภาพรวมแล้ว พ่อและแม่จะทนทุกข์ไปนาน

สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ไปรับชม TED Talk หรืออ่านหนังสือแล้ว พบว่า ผมเขียนตกหล่น ก็ขอน้อมรับนะครับ แต่ผมคิดว่า ประเด็นที่เธอพยายามสื่อนะ ค่อนข้างชัดเจน

ยังมีอีกหลายๆเรื่องที่พอไปลองอ่านจากใน Wikipedia ในส่วนประวัติของเธอ ทำให้พบว่า หลายๆเรื่องที่เธอทำมานั้น กลายเป็นการทดลองที่มีการอ้างอิงในหนังสือหลายๆเล่ม ที่ผมพอจะคุ้นๆ ก็คือ เมื่อมีการทดลอง ในกรณีที่วางขายแยมที่มีถึง ๒๔ รส กับกรณีที่ลองวางขายแค่ ๖ รส พบว่า โดยรวมแล้ว วางขายแค่ ๖ รส ขายได้ดีกว่า วางขายทั้ง ๒๔ รส ทั้งนี้เพราะมีให้เลือกมากเกินไปนั่นเองในกรณีแรก

ฟังแล้วอยากบันทึกไว้สั้น เผื่อจะสะกิดใจให้ไปหาอ่านกันนะครับ