แนะนำ Ted Talks

เขียนให้นิตยสาร Go Training (เดือนธันวาคม ๕๑)

๑) ที่ TED Talks
ศัลยแพทย์ Sherwin Nuland เป็นอาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย Yale และเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง มีผลงานการเขียนลงใน New Yok Times, New Yorker และวารสารอื่นๆ มีผลงานการเขียนติดอันดับ New York Times Bestseller มาแล้ว ได้เล่าเรื่องไว้ในปี ๒๐๐๑ ขณะที่มีอายุได้ ๗๑ ปี ถึงการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า ไม่สุงสิงกับใคร เก็บเนื้อเก็บตัว อาจจะไม่ถึงขั้นบ้านะครับ ว่า ในอดีตนั้น มักจะเชื่อกันถึงเรื่องของการเข้าทรงและวิญญาณเข้าสิง จนมีคนค้นพบการใช้สมุนไพรมารักษา  จากนั้นก็มีการทดลองนำไฟฟ้ามารักษาผู้ป่วย (electroshock therapy) ในกรณีดังกล่าวในช่วงศตวรรษที่แล้วนี่เอง โดยเป็นการทดลองของคณะแพทย์ชาวอิตาลี โดยทดลองกับผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งทุกคนจนปัญญา ไม่ทราบว่าจะรักษาด้วยวิธีไหน ก็เลยลองทำการทดลองทางไฟฟ้า หรือพูดง่ายๆว่า ไปช๊อตไฟนั่นแหละครับ ผลปรากฎว่า จากคนที่นั่งเงียบๆ ไม่พูดไม่จา ก็กลายเป็นสะดุ้งสุดตัวแล้วหันมาตะโกนถามแพทย์ที่กำลังทำการทดลองอยู่ว่า  “มึงทำห่าอะไรของมึงวะ” (ขอโทษด้วยนะครับสำหรับภาษา แต่ตอนที่ท่านเล่าเนี่ย ท่านก็เล่าด้วยภาษาทำนองนี้เหมือนกัน เพื่อเน้นถึงปฏิกริยาตอบสนอง) และดูเหมือนว่า ผู้ป่วยรายนี้จะมีอาการที่ดีขึ้น และดีขึ้นเรื่อยๆในการทดลองครั้งถัดไป กรณีนี้เป็นการทดลองแรกๆที่ส่งผลในทางบวก จนนำไปสู่ศาสตร์ใหม่ทางด้านนี้ แม้ว่าในระยะยาวแล้ว ผู้ป่วยคนดังกล่าวจะกลับไปสู่สภาพเดิมอีกครั้ง แต่การทดลองครั้งนั้นก็เป็นใบเบิกทางของศาสตร์นี้ และแม้ว่า ในยุคหลัง การรักษาในแนวนี้จะไม่เป็นที่นิยมนัก แต่ก็ยังมีการทดลองใช้อยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษหลัง (ขณะที่ท่านเล่าอยู่น่ะครับ)
พอมาถึงตรงนี้ ท่านก็มาเฉลยว่่า สาเหตุที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ก็เพราะ ท่านเองก็เคยผ่านการรักษาแบบนี้มาแล้ว
เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ในยุคทศวรรษที่ ๖๐ จากนายแพทย์หนุ่มที่มีอนาคตสดใส แต่เนื่องจากปัญหาการหย่าร้างกับภรรยา และปมส่วนตัวจากวัยเด็ก เขาก็กลายเป็นคนที่อยู่ในห้อง ไม่ออกมาสุงสิงใคร ไม่พูดไม่จา ไม่สังคมกับใคร คนไข้เริ่มกลัว ยกเลิกนัด และทางโรงพยาบาลเองก็เริ่มจะเป็นห่วง ไม่กล้าให้ไปรักษาใครที่ไหนนัก สุดท้ายก็เลยถูกส่งตัวเข้าสถานบำบัด เมื่อตอนอายุได้ ๔๓ ปี กลายเป็นกรณีที่ไม่มีใครเชื่อว่า เขาจะหายได้ แต่ก็มีนายแพทย์ท่านหนึ่งอยากจะขอทดลองด้วยวิธีทางไฟฟ้าที่ว่านี้ดู และด้วยความเชื่อและความพยายามของแพทย์ดังกล่าว Sherwin Nuland ต้องเข้ารับการรักษาถึงกว่า ๑๐ ครัั้ง เขาจึงเริ่มมีการตอบสนองในทางบวก และต้องต่ออีก ๑๐ ครั้งจนกระทั่งตัวเขาเองก็เริ่มรู้สึกตัว มีความมั่นใจว่า เขาสามารถเอาชนะอาการซึมเศร้าของตัวเอง และจะกลับมาอยู่ในสภาวะปกติได้
ท่านเล่าด้วยอารมณ์ขำๆ แต่ก็เศร้าๆในทีว่า ตลอดเวลากว่าสามสิบปีที่ผ่านมา หลังจากที่ได้รับการรักษา ท่านสามารถกลับมามีชีวิตปกติได้ ลูกกลับมาอยู่ด้วย มีชีวิตครอบครัวได้เป็นปกติ มีลูกอีกสองคน และกลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง แม้ว่า ทุกวันนี้ บางครั้ง เขาก็ยังมีอาการข้างเคียงที่แสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว มีอาการซึมเศร้าอยู่บ้าง
ท่านกล่าวตอนท้ายด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือว่า ที่นำเรื่องนี้มาเล่า ทั้งที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา  ก็เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนรุ่นหลัง เป็นการให้กำลังใจให้กับทุกคน ว่าชีวิตมีล้ม ก็มีลุกได้ ตัวเขาเองผ่านจุดที่ต่ำที่สุด ถึงขั้นว่าไม่สามารถสื่อสารกับผู้คนได้ ก็ยังสามารถกลับมาได้ (resurrection) และถ้าเขาเองยังกลับมาได้ เชื่อเถอะว่าทุกคนก็สามารถทำได้
ผมว่าคนดู TED Talks วันนั้น น้ำตาซึมไปตามๆกัน
๒) ที่ TED Talks
ในขณะที่ทุกคนกำลังรอการเสวนาหัวข้อต่อไป ซึ่งผู้เข้าเสวนามีอยู่ห้าหกคน ซึ่งในนี้มีทั้ง Sergey Brin (ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร่วม Google), Carl Bernstein (ผู้สื่อข่าวผู้ขุดคุ้ยกรณี Watergate จนทำให้ประธานาธิบดี Richard Nixon ต้องลาออก) และ ราชินีนัวร์จากจอร์แดน (Queen Noor of Jordan)  ปรากฏว่า พิธีกรจาก BBC ต้องออกมาขอโทษทุกๆคนที่ต้องรอต่อไปอีก เนื่องจากทาง BBC มีปัญหาทางเทคนิค ทำให้ไม่สามารถแพร่สัญญญาณสดได้ จึงต้องรอให้ทำการซ่อมแซมเสร็จเสียก่อน จึงจะเข้าสู่หัวข้อการเสวนาได้ ทันใดนั้นเอง ก็ปรากฏเสียงตะโกนจากคนดูด้านหลัง เอ่ยปากแซววาที โดยปล่อยมุขเป็นระยะๆอย่างมืออาชีพ และปรากฏว่า มันตลกเสียด้วย ตลกซะทุกประโยคอย่างน่าทึ่ง จนทุกคนต้องหันหัวกลับไปดูว่าใครเป็นคนแซว พอเห็นหน้าแล้ว ก็อมยิ้มกันเป็นแถบครับ เพราะเป็นคุณ Robin Williams  ดารานักแสดงตลกที่ทุกคนจำกันได้ดี แกคงทนไม่ได้ที่จะเห็นคนนั่งรอกันเงียบ ก็เลยปล่อยมุขฆ่าเวลา แกพูดตลก และติดลม เพราะคนดูเล่นด้วย ก็เลยเดินไปปล่อยมุขบนเวทีเสวนาจริง เป็นการปล่อยมุขสดๆ เป็นเวลากว่า ๑๐ นาที โดยไม่ได้เตรียมกับผู้จัดมาก่อน แกตั้งใจมานั่งฟังเฉยๆเท่านั้นเอง จนกระทั่งช่างซ่อมปัญหาเทคนิคได้ จึงคืนเวทีให้ผู้จัดไป แต่ก่อนลงจากเวที ผู้่จัด TED Talks คือ คุณ Chris Anderson ต้องเดินมาขอร้องให้ช่วยกลับมาขึ้นเวทีอีกครั้ง ในวันเสวนาถัดไป
ได้อ่านแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ สนใจ  TED Talks หรือยังครับ คำว่า TED ย่อมาจาก Technology, Entertainment and Design ครับ เป็นงานรวมตัวกันของคนที่มีความคิดดีๆ นำมาเล่ากัน โดยเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 1984 หรือ พ.ศ. ๒๕๒๗ คนที่มาร่วมงานที่นี่ มีตั้งแต่นักการเมืองระดับโลก ซึ่งมาหมดแล้วทั้ง Bill Clinton และ Al Gore นักสังคมศาสตร์ที่ทำงานช่วยเหลือผู้ยากไร้ในอาฟริกา นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานใน LAB ต่างๆก็นำผลงานมาโชว์กัน นักออกแบบสินค้า สถาปนิก วิศวกร  หรืออาจารย์ก็นำเรื่องสนุกๆ ที่น่าสนใจของพวกเขามาเล่ากัน น่าทึ่งมากครับ ทั้งหมดอยู่ภายใน theme ว่า Ideas Worth Spreading และต้องเล่าให้จบใน  18 นาที ใครจะเล่าเรื่องอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นตัวจริงมาเล่าเถอะ
ลองนึกถึงคอมพิวเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีแบบสัมผัสแทนคีย์บอร์ดน่ะครับ คล้ายๆกับที่เห็นในหนังเรื่อง Minority Report ที่คุณ Tom Cruise ทำเท่ห์ขยับแขนขึ้นลงหาข้อมูลน่ะครับ ในปี 2006 คุณ Jeff Han ซึ่งเป็นนักวิจัยจาก New York University ก็มาโชว์เทคโนโลยีดังกล่าวให้ดูเป็นครั้งแรกใน TED Talks ซึ่งต่อมาเราก็ได้เห็นใช้กันแพร่หลายใน iPhone น่ะครับ
ในปีนี้ที่ผ่านไปเมื่อต้นปี ก็มีดร. Jill Bolte Taylor ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมอง มาเล่าเรื่องการทำงานของสมอง และประสบการณ์ตรงที่เธอประสบจนต้องเข้ารับการผ่าตัด และรักษามากว่า 9 ปีจึงจะเป็นปกติ ระหว่างที่เธอเล่าไปว่า เธอเจออะไร เธอก็อธิบายการทำงานของสมองพร้อมๆกับนำสมองจริงๆ(จากศพ แต่คัดมาแต่สมอง) พร้อมกับอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง เล่นเอาขนลุกไปทั้งห้องสัมมนา เพราะผู้เล่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จริงๆ เจอด้วยตัวเองจริงๆ แถมยังเอาของจริงมาให้ดูกันอีก งานนี้ ถึงกับทำให้ Oprah Winfrey ต้องเชิญไปออกรายการเลยครับ
นอกจากนี้ ยังมีด้านเบาๆให้้้เห็นบ้าง เช่น การแสดงกล (ปิดตาขับรถบนถนนจริงๆ) แชมป์โลก Juggle คู่ที่มาเล่นให้ดูสดๆ พร้อมบทพูดที่ตลกมากๆ หรือการแสดงดนตรีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ แม้กระทั่งการพับกระดาษที่เป็นศาสตร์หนึ่งของญี่ปุ่น ก็มีคนนำมาเป็นกรณีศึกษาว่า สามารถนำมาประยุกต์เป็นการพับ air bag ให้กับรถได้ ดูแล้วเพลินมาก
บทความนี้เป็นตอนที่ผมยอมรับเป็นเรื่องที่เขียนยากที่สุด เพราะเนื้อหาที่น่าเล่าเยอะมาก และทุกครั้งที่กลับไปดูเพื่อประกอบการเขียน ก็อดดูทุกเทปจนจบไม่ได้ แนะนำให้ไปหาดูกันได้ที่ www.ted.com ครับ หรือถ้ามี iPod อยู่แล้ว ยิ่งง่ายใหญ่ เพราะมีใน iTunes ให้โหลดไปดูฟรีๆ
ปีหน้านี้ มีการย้ายที่จุัดไปที่ใหม่ เพราะปีที่ผ่านมา ห้องประชุมใหญ่มีแค่ 500 ที่นั่ง ไม่สามารถรับผู้เข้าร่วมกว่า 1300 คนได้ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อยๆ 1 ปี เพราะคนสมัครเยอะเหลือเกิน ทั้งที่ต้องจ่ายค่าสมาชิก 6000 เหรียญสหรัฐ เพราะทุกเสวนา เป็นตัวจริงมาเล่าทั้งนั้น
ที่เขียนเรื่องนี้ เพราะได้ยินว่าทาง Go Training จะจัดงานคล้ายๆอย่างนี้น่ะครับ อยากเห็นน่ะครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดังมาเล่าหรอกครับ ขอแค่คนที่รู้จริง มาเล่าเรื่องที่ได้ทำมา หรือไปเจอมา ก็พอแล้ว มาช่วยกันเล่าเรื่อง เพื่อให้เรื่องดีๆได้ขยายออกมาบ้าง หรือจะว่าไป คนดังๆบางคนก็คงอยากจะเล่าเรื่องทีี่เขาหรือเธออยากเล่าบ้างมั้ง เพราะมีแต่คนถามเรื่องเดิมๆซ้ำทั้งนั้นเลย เหมือนเรื่องแรกที่ผมเขียนไว้ข้างต้นน่ะครับ ขอให้แนวคิดไปในทางเดียวกันเถอะ น่าสนุกทั้งนั้น อย่าลืมนะครับ Ideas Worth Spreading เอาใจช่วยครับ