๒๒. ครบรอบ ๔ ปีแล้ว

ช่างคุยครบ ๔ ปีไปเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ มีงานเลี้ยงสนุกสนาน ทั้งคนจัด และแขกรับเชิญของรายการ ถ้าจะขาด ก็คือคนฟัง ซึ่งจะว่าไป ก็เป็นส่วนสำคัญที่สุด แต่เราก็ไม่รู้จะเชิญอย่างไร โดยไม่กระเทือนกระเป๋าเงินคนจัดนัก (ผมเองเคยได้ยินประสบการณ์นักจัดรายการวิทยุแนวรายการพูดแบบนี้ แล้วลองจัดงานสังสรรค์ ปรากฏว่า คนมานิดเดียว ผมเลยกลัวเหมือนกัน มาเยอะ ก็ไม่ไหว มาน้อย ก็ใจเสีย)

ดูเหมือนว่า เราจัดงานเลี้ยงทุก ๒ ปีไป โดยไม่ตั้งใจ เมื่อตอนที่ครบปีแรกนั้น ผมไม่มีเงินจัด แต่พอมาปีที่สอง ผมพอจะทำได้ ก็เลยจัดงานเลี้ยงกัน สนุกสนานดี มากันประมาณ ๓๐ คนได้ พอปีที่สาม เราดันทะลึ่งไปจัดงานสอนทำพอดคาสท์ที่ The Style by Toyota ที่สยามสแควร์ เหนื่อยแทบตาย แม้จะมีคนมา และได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ แต่ก็เข็ด ไม่อยากหาเรื่องเหนื่อยอีก พอมาปีนี้ ครบ ๔ ปี ผมเลยขอจัดงานเลี้ยงแทนดีกว่า โดยเชิญเพื่อนๆ และแขกรับเชิญหลายๆคนมางานกัน

รูปจากงานเลี้ยง ช่างคุย ๔ ปี

แม้จะตั้งใจให้เป็นงานเลี้ยงธรรมดา แต่ก็อดจะมีความคาดหวังจากหลายๆคนให้มีการเปิดเวทีพูด เพื่อเปิด/ปิดงานด้วย ผมก็เลยต้องรับหน้าที่ขอบคุณและพูดแนะนำทุกๆคนในงานไปจนจบ แต่ต้องยอมรับว่า ตอนท้ายๆนั้น ผมจำไม่ได้แล้วว่า ตัวเองพูดอะไรออกไปบ้าง จำได้แต่ว่า สนุกมาก

ช่างคุยมาถึง ๔ ปีได้ โดยไม่หยุดไปก่อน ไม่ได้มาจากสาเหตุใดเลยนอกไปจากว่า  มีคนฟัง เพราะถ้าไม่มี เราคงหยุดไปนานแล้ว แม้ว่า บางรายการจะหายไป แต่ก็เป็นการหยุดเพราะหน้าที่การงานเปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นการทะเลาะกัน หรือดังจนไปแยกไปเปิดเว็บ (ถ้ามี ก็เป็นเรื่องดีนิ) เราตะบี้ตะบันทำกันมาเกือบ ๖๐๐ ตอน ผมเองก็ไม่เคยนับว่า เรามีคนจัดรวมทั้งแขกรับเชิญทั้งหมดแล้วกี่คน หลายๆคนก็เป็นคนฟัง ที่กลายมา่เป็นแขกรับเชิญ จนเราเชิญมาช่วยจัด หรือไม่น้่อยเลย ที่เป็นคนฟัง กลายมาเป็นแขกรับเชิญ และกลายเป็นทีมงานจำเป็นโดยอัตโนมัติ น้องๆบางคนพูดคุยกับผมราวกับว่ารู้จักกันมานาน ทั้งๆที่ผมเพิ่งเคยเจอหน้าไม่กี่ครั้ง แต่คงเป็นเพราะฟังเสียงพวกเราจนคุ้นเคยกันไปเลย คนฟังหลายๆคนก็ส่งเสียงมาให้กำลังใจอยู่เป็นระยะๆ ทั้งทางอีเมล์ ทวิตเตอร์ สั่งเสื้อ หรือแม้่กระทั่งบริจาคเงิน น่ารักจัง

จนถึงวันนี้ ดูเหมือนว่า เราก็เริ่มจะมีทีมงานเล็กๆแล้ว และกลุ่มคนจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายการช่างคุยเอง ก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นเพื่อนๆในกลุ่มที่ผมสนิทกันมากว่า ๒๐ ปี มาในปีหลังๆ คนจัดกลายเป็นคนฟังหลายๆคน ที่เริ่มคุ้นเคยสนิทสนมกัน จนเชิญมาจัดได้เมื่อมีเรื่องเข้าทางคนนั้นๆ แต่อย่างหนึ่งที่มีคนถามผมอยู่บ่อยๆคือ ทำไมไม่เชิญคนดังๆมาสัมภาษณ์บ้าง ซึ่งก็ขอตอบตรงนี้ว่ามีอยู่ ๔ เหตุผลครับ คือ

  1. ช่างคุยมักจะเริ่มจะเรื่องที่เราอยากคุย แล้วค่อยหาคนที่เราคิดว่าน่าจะคุยได้มาคุย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนดัง แต่ก็มีคนดังๆบางคนที่เราก็อยากคุยด้วย เราก็ไปเชิญเขามา ซึ่งก็จะเข้าสู่เหตุผลที่ ๒ คือ
  2. คนที่ดังมักจะโดนสัมภาษณ์เรื่องนั้นๆ จนพรุนไปแล้ว ให้ไปถามแบบเดิมๆ ก็ออกจะน่าเบื่อ หรือไม่อย่างนั้น ก็ต้องใช้เวลานัดนานเกินเหตุ เราทำรายการกันแบบสมัครเล่น ว่างแค่เสาร์ อาทิตย์ เท่านี้ก็เบียดเวลาให้ลูกๆมากเกินไปแล้ว เอาเวลามาหาเรื่องทำดีกว่ามารอนัดคน ถ้าชวนง่าย เวลาลงตัว ก็ไม่มีปัญหา
  3. คนเป็นโปรดิวเซอร์มักจะสนุกจากการหาหัวข้อในการทำรายการ ทำเรื่องหรือหาคนที่ทั่วๆไปไม่รู้จัก มาทำให้เป็นเรื่องที่น่าสนใจได้ ดังนั้น จะเป็นคนดังหรือไม่ดัง ไม่สำคัญเท่าไร ขอให้เป็นตัวจริง เป็นใช้ได้ แต่จะท้าทายมาก ถ้าหาคนไม่ต้องดังมากนัก แต่ทำออกมาดูน่าสนใจได้
  4. เรื่องที่ดังหรือเป็นที่สนใจจริงๆ สื่อใหญ่มักจะทำไปแล้ว ถ้าเราหามุมมองในการเล่าเรื่องที่แปลกออกไปได้ ก็โอเค แต่ไม่อย่างนั้นแล้ว ก็ปล่อยให้สื่ออื่นๆเขาทำไปเถอะ

หนึ่งในรายการช่างคุยที่ผมชอบที่สุด คือ ตอน ๕ ชอบ ๕ ไม่ชอบ ที่ผมพยายามทำเป็นรายการประจำปี น่าจะเป็นตัวอย่างของสาเหตุข้างต้นได้เป็นอย่างดี หัวข้อนี้ ถา่มใครก็สนุก แต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป จะดัง/ไม่ดัง ชาย/หญิง เด็ก/ผู้ใหญ่ ก็สามารถเล่นได้ ชอบจริงๆ

อีกเรื่องหนึ่งที่หลายๆคนถาม และถามมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น นั่นคือ ช่างคุยน่าจะหาเงินได้แล้ว นั่นสิ ผมก็อยากได้เหมือนกันนะ 🙂

ความขึ้เกียจที่จะคุยกับสปอนเซอร์ ทำให้ผมไม่ได้ออกไปหาเงิน จะว่าไปแล้ว ในบรรดาสิบเรื่องแรกที่ผมควรทำ สำหรับเว็บช่างคุย การหาเงินน่าจะเป็นเรื่องที่ ๑ หรือ ๒ ที่ผมควรทำ แต่กลายเป็นเรื่องที่ ๑๑ ในสิ่งที่ผมอยากทำ เคยมีเพื่อนบอกว่า “นี่ถ้ามันมีหัวธุรกิจหน่อยนะ รวยไปแล้ว” คนที่พูดนี่ มาเล่าให้ผมฟังเองต่อหน้า ฟังแล้วอายจัง นี่กูจบ MBA แล้วนะ

ก็อยากขอบคุณพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ญาติๆ ตลอดจนผู้ฟังทุกท่านที่ให้การสนับสนุนกันมาตลอด เพื่อนๆบางคนก็ไม่เคยฟังช่างคุย ไม่เคยฟังรายการใดเลย แต่พอเชิญมาคุย ก็มา ให้ช่วยอะไร ก็ทำ ที่มาช่วย ก็เพราะเห็นว่าเป็นเพื่อน อย่างนี้ก็มี ดีจัง

แต่ก็มีไม่น้อยที่เห็นว่า เสียเวลา ทำอะไรอยู่ ไม่เวิร์คหรอก อันนี้ ก็เตือนแบบหวังดีจริงๆ แต่คงไม่รู้ว่า มันเป็นความสุขทางใจ ที่ได้ทำ และดีใจทุกครั้งที่ได้รับฟังความเห็นจากคนฟัง เรื่องแบบนี้ ไม่ได้รับเอง ก็ยากจะอธิบาย

สำหรับช่างคุยในรอบปีที่ผ่านมา ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ก็คือเราเริ่มทำรายการวิีดีโอมากขึ้น เพราะหลายๆรายการในต่างประเทศที่เราฟัง ก็หันมาทำรายการแบบนี้ ทั้งๆที่ยังเป็นการพูดคุยธรรมดา ผมเห็นแล้วอยากลองบ้าง สนุกดี พอๆกับมันกินเวลาชีวิตดีจัง ผู้ฟังหลายๆท่านก็ยังพอใจกับรายการเสียง แต่ไม่น้อยเลยที่สนุกไปอีกแบบที่ได้โหลดไฟล์ 500MB ขึ้นไปและได้ content เท่าเดิม (อันนี้ประชดนะ)

ในแง่คนทำ ผมก็พบว่า รายการวิดีโอเปิดช่องให้เล่นอีกเยอะเลย มีอีกตั้งหลายเรื่องที่น่าทำ ถ้าเรามีอุปกรณ์มากกว่านี้ เราน่าจะมีอะไรให้เล่นอีกเยอะเลย คนช่วยเรามีเยอะ แต่เป็นน้องๆ ที่ขาดอุปกรณ์ทั้งนั้น ถ้าเราสามารถ friend-sourcing ได้โดยมีอุปกรณ์ให้ คงน่าสนุกไม่น้อย

จะว่าไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป ผ่านการจัดรายการกันมาหลายตอน เราก็จะเจอคนจัดช่างคุยหลายๆคนก็มีบุคลิกที่แตกต่างกันออกไป มีเสน่ห์เฉพาะตัว และมีคนชอบไม่น้อย หลา่ยๆคนเลยทีเดียว ที่โดดเด่นจนมีคนถามถึงเมื่อหายไปนาน คือ อู๊ด กับ หมอรัฐ ผมเห็นเสียงตอบรับจากผู้ัฟังหลายๆท่านที่แสดงอาการดีใจ เมื่อมีตอนใหม่ๆของสองคนนี้ อยากให้พวกเขามาเห็นจัง เสียดายที่สองคนนี้มักจะอยู่ใน Facebook เลยไม่ได้เห็น real-time feedback ใน Twitter

แม้จะไม่ทราบว่า มีแฟนรายการ แต่ทั้งสองคนก็ยังตั้งหน้าตั้งตาจัด โดยไม่รู้ว่ามีคนฟังแค่ไหน ใครจะไปนึกว่า อู๊ดจะมีวันนี้ อัดเสียงตัวเองร้องเพลง Queen ปล่อยออกมาเป็น MP3 ให้คนโหลดฟัง ส่วนรัฐ ก็นำรายการที่ตัวเองพูด ไปเปิดให้คนไข้ฟัง ขณะที่ตัวเองรักษาฟันให้ลูกค้า นึกภาพแล้ว ก็ยังขำ ตัวเองมารักษาฟัน แล้วต้องมาฟังรายการที่หมอฟันคนนี้จัดอีก จะโต้ตอบก็ไม่ได้ เพราะหมองัดฟันอยู่ จะหัวเราะก็ลำบาก เพราะกำลังอ้าปาก อื้อ! รัฐ มึงทำได้ไงวะ

ผมเองก็ยังไม่ทราบว่า ช่างคุยจะมีกันต่อไปอีกกี่ปี แต่ตราบเท่าที่ยังติดตามกันอยู่ คงจัดได้เรื่อยๆ (ตอนนี้ ปุ่มบริจาคของ Paypal ก็กลับมาแล้วนะครับ) จะมีอะไรแปลกๆใหม่ อีกไหม ผมเองก็ยังตอบไม่ได้ แม้จะมีเป้าหมายในใจ เพราะกลัวจะไม่ได้ทำอย่างที่คิด แต่เท่านี้ ก็ต้องบอกว่า สนุกมากๆแล้วล่ะ หวังว่ายังติดตามกันต่อไปนะครับ

ไม่เกี่ยวกับการศึกษา

เขียนให้นิตยสาร Go Training ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓

เรื่องที่ ๑

“เสียค่าติดตั้งไปเท่าไรเนี่ย”

“อ๋อ จุดละ x,xxx บาท”

“ไม่แพงนะ ติดไปหลายจุดเลยสิ”

“ให้ติดไป ๔ จุดเลย จะได้ดูกันทุกห้อง”

“ขอเบอร์หน่อยสิ จะได้ให้ไปทำทีบ้านให้ด้วย”

บทสนทนาข้างต้น เป็นสิ่งที่ผมได้ยิน เมื่อได้ไปเจอะเจอกับเพื่อนเก่าๆ ที่ไม่ได้เจอกันมาหลายปี ก็เลยนัดมาเจอกันที่บ้านเพื่อนคนหนึ่ง ฟังเผินๆ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็นอะไรที่ไม่น่าสนใจเลย ถ้าไม่ใช่ว่า การติดตั้งที่เอ่ยไปนั้น เป็นการติดตั้งเครื่องรับชมเคเบิ้ลทีวี แบบผิดกฏหมาย เพื่อรับชมรายการของทรูวิชัน

ผมนึกสะดุดใจ ขึ้นมาทันที ทั้งสองคนนี้ เป็นเพื่อนที่ผมรู้จักมานาน หลายปี จบการศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จากสถาบันการศึกษาที่ดี มีชื่อเสียง มีรายได้ต่อเดือนในปัจจุบัน ไม่ต่ำกว่า ๖ หลักต่อเดือน แต่ทำไมถึงสนับสนุนกิจการเถื่อน ผิดกฏหมายแบบนี้ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน เมื่อเทียบกับรายได้ ก็ไม่น่าที่จะทำให้เดือดร้อน มิหนำซ้ำ เมื่อพูดในวงสนทนาทั่วๆไป ก็ดูจะเป็นที่ยอมรับได้ แม้จะไม่ทำให้คนที่บริโภคอย่างถูกต้อง (ชำระค่ารายเดือน ตามปกติ) กลายเป็นแกะดำ หรือโดนดูแคลน แต่ก็พอจะเห็นค่านิยมอะไรบางอย่าง ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอยู่ ไปๆมาๆ ผมก็พบว่า คนรู้จักหลายๆคนใช้บริการเถื่อนเหล่านี้  ทั้งๆที่จะว่าไปแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงินแต่อย่างใด เห็นแล้ว ก็ยังแปลกใจ เกิดอะไรขึ้น

เรื่องที่ ๒

“ซื้อดีวีดีเรื่อง —- มาแล้ว”

“ขอ copy หน่อยสิ”

“ได้เลย”

บทสนทนาข้างต้นนี้ น่าจะเจอะเจอในแวดวงคนทำงานบริษัทหลายๆที่ ผมเองก็เคยเจอ ทั้งๆที่เราไม่ได้ขอ แต่กลายเป็นว่า คนที่ซื้อมาก็คะยั้นคะยอให้นำไป copy เพื่อจะได้ไม่ต้องซื้ออีก ด้วยความที่เป็นคนที่ทำ content เอง ตัดต่อรายการเอง ทำให้ผมพอจะเข้าใจหัวอกคนทำงานด้านนี้ในระดับหนึ่ง เมื่อมาเจอแบบนี้เข้า ทำให้ผมรู้สึกกระอักกระอ่วนพอสมควร เช่นเดียวกับกรณีแรก หลายๆคนไม่ได้มีปัญหาด้านการเงิน (จนถึงขั้นต้อง copy เพราะไม่สามารถซื้อหาได้) แต่ดูจะเป็นค่านิยมมากกว่า หลายๆคนอาจจะแย้งว่า อย่างไรเสีย พวกเขาก็ไม่ได้คิดจะซื้อดีวีดีเหล่านี้มารับชมอยู่แล้ว เมื่อได้มาฟรี ก็แล้วไป ไม่ถือว่า เจ้าของสินค้าจะเสียหายตรงไหน ผมก็คิดว่า เหตุผลดังกล่าว มีส่วนถูก แต่ถ้าบอกว่า เป็นแบบนั้นทั้งหมด หรือถูกทั้งหมด ก็น่าจะโกหกตัวเองเกินไป

ผมอดนึกถึงวลีที่ว่า Implied Bargaining ไม่ได้ เคยมีเรื่องเล่าว่า เจ้าของบริษัทกับผู้จัดการ เดินคุยกันอยู่ในบริษัท แล้วทั้งคู่ก็เหลือบไปเห็นพนักงานสองคน เตะฟุตบอลพลาสติกในชั้นที่ทำงาน เจ้าของบริษัทก็หันไปถามผู้จัดการว่า ไม่พูดอะไรเลยเหรอ ผู้จัดการบอกว่า นี่ก็นอกเวลาทำการแล้ว เดี๋ยวก็เลิกแล้ว ไม่น่าจะเป็นไร เจ้าของก็บอกว่า คุณไม่รู้สึกเลยหรือว่า นี่คือ Implied Bargaining เมื่อพวกเขาเตะฟุตบอลในบริษัทต่อหน้าคุณ แล้วคุณยังไม่บอกห้าม เดี๋ยวก็จะกลายเป็นการให้ท้าย เพราะทำแบบนี้ ก็ยังไม่เห็นจะว่าอะไร ทั้งๆที่ เตะฟุตบอลในที่ทำงาน ไม่ว่าจะนอกหรือในเวลาทำการ ก็ไม่สมควรทั้งสิ้น

ผมฟังเรื่องนี้ครั้งแรก เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗ ในงานปฐมนิเทศน์ สมัยเรียน MBA คนเล่าเป็นวิทยากรจากต่างประเทศ เขาเล่าให้ฟังจากประสบกาณ์จริงที่เขาเจอเอง ฟังแล้ว ก็ประทับใจ จนป่านนี้ ก็ยังจำได้ เพราะมันช่างเข้ากันได้ดีเหลือเกินกับหลายๆเรื่องที่เราเห็นในเมืองไทย

คงไม่ต้องยกตัวอย่างอะไรมาก สำหรับบ้านเมืองเรา เรื่องราวทางการเมืองในระยะ ๔ ปีที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างที่เห็นกันได้ชัด ลองข้างหนึ่งถึงขั้น เข้ายึดสถานที่ราชการ เป็นเดือนๆ ยึดสนามบิน จนเจ้าหน้าที่ประกาศปิดสนามบิน เรื่องราวผ่านมาเป็นปี ยังไม่มีการจับกุม ลงโทษ แน่นอนว่า ไม่มาก ก็น้อย ก็เปิดช่องให้อีกฝ่ายเห็นพอสมควรว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง เริ่มจากเหตุการณ์ไม่สงบในการประชุมผู้นำอาเซียนที่พัทยา จนมาถึงเหตุการณ์ที่แยกราชประสงค์ แม้ว่าจะเกินเลยไปมาก สำหรับเหตุการณ์บานปลาย เมื่อเดือนพฤษภาคม ๕๓ แต่ผมอดนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นไม่ได้จริงๆ ทั้งสองฝ่ายดูจะสร้าง implied bargaining กับภาครัฐ จนเกินควบคุมในที่สุด

กลับมาเรื่องในแวดวงคนทำงานทั่วๆไปดีกว่า

ลองกลับมาที่เรื่องเล่าที่ผมยกขึ้นมาทั้ง ๒ เรื่องข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเคเบิ้ลทีวีเถื่อน หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ มองเผินๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ใครๆก็ทำกัน ผมอดคิดต่อไม่ได้ว่า เรื่องเล็กๆเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เราไม่มีคนทำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาดีๆกันหรือเปล่า

ภาพยนตร์ ๑ เรื่อง กว่าจะออกมาเป็นดีวีดี ต้องมีคนนับร้อยเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำอย่าง คนเขียนบท ผู้กำกับ ผู้ลงทุน จนถึงคณะทำงาน ทั้งนักแสดง กองถ่าย ตากล้อง ฯลฯ จนถึงกลุ่ม Post-production คนตัดต่อ คนทำดนตรีประกอบ คนดูแลเรื่องเสียง และมาถึงการประชาสัมพันธ์ จัดจำหน่าย เมื่อออกจากโรงฉายแล้ว ก็ยังมีเรื่องการทำดีวีดีอีก ไม่ต้องไปแตะต้องประเด็นเชิงควบคุม อย่างกฏหมาย หรือ เซ็นเซอร์ เอาเท่าที่ทำมาง่ายๆ ถูกต้องตามกระบวนการเชิงพาณิชย์ ธรรมดาๆ ก็น่าจะยากแล้ว ที่เราจะได้เห็นงานระดับดีๆสักชิ้น เมื่อมาเจอเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์แบบนี้ หลายๆคน คงถอดใจ

ผมก็เชื่อนะครับว่า ในต่างประเทศ พวกเขาก็ประสบปัญหาเหล่านี้ ไม่แพ้บ้านเรา ความง่ายและราคาของเทคโนโลยีที่ลดลง ทำให้ต่างประเทศ ก็โดนละเมิดลิขสิทธ์ไม่แพ้กัน เว็บไซด์อย่าง PirateBay ที่เก็บ index file เพื่อกระจาย bittorrent ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นๆอยู่ในต่างประเทศ

แต่ส่วนที่ทำให้เราต่างจากต่างประเทศ ก็คือตัวที่เป็นจุดเด่นของเรา นั่นก็คือภาษาไทยนั่นเอง

ทั้งนี้ เนื่องจากว่าขนาดของตลาดที่บริโภคภาษาอังกฤษนั้น ใหญ่เหลือเกิน เป็นตลาดโลก ที่ใหญ่มาก แม้จะมีการละเมิดลิขสิทธิ์กันอยู่ในระดับไม่น้อย แต่ส่วนที่เหลือ ก็ยังมากเกินพอ มากจนทำให้นักลงทุน หรือ ผู้ประกอบการยังสนใจอยู่ดี มองดูง่ายๆอย่างตลาดซอฟท์แวร์ ของเจ้าตลาดอย่างไมโครซอฟท์ แม้ Windows จะมีการลักลอบใช้กันมากมายขนาดไหน แต่เม็ดเงินที่เรียกเก็บได้จากการใช้งานอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ก็มากพอที่จะทำให้เจ้าของบริษัทติดอันดับมหาเศรษฐีโลก อยู่เป็นสิบๆปี

แต่ขนาดของตลาดที่บริโภคข้อมูลภาษาไทยนั้น เล็กกว่ามาก นอกจาก ๖๕ ล้านคนที่กระจุกอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้แล้ว ชะเง้อไปทางไหน ก็ไม่น่าเกินล้าน จะนับรวมเพื่อนบ้านด้วยก็ได้ ยังไงๆ ก็ไม่เยอะอยู่ดี

ผมเคยมีโอกาส ได้คุยกับเพื่อนที่ทำธุรกิจทางด้านการทำหนัง animation เพราะเคยเห็นว่า ธุรกิจนี้ เป็นหนึ่งในความหวังของภาครัฐ ที่น่าจะออกสู่ตลาดโลกได้ ไม่ต้องให้ยิ่งใหญ่ขนาด Pixar ที่ทำ Toy Story แค่เอาเท่าที่เราทำได้ เช่น ก้านกล้วย ปังปอนด์ ก็ไม่เลวแล้ว

เพื่อนผมอมยิ้ม แล้วก็แนะนำให้ผมลองคูณตัวเลขขึ้นมาดู ลองคิดตามง่ายๆนะครับ

หนัง Animation หรือการ์ตูนนี้แหละ ต้องการคนทำกี่คน ต้องใช้เวลานานเท่าไร ต้องมีอุปกรณ์ขนาดไหน และระดับบุคคลากรแบบไหน ที่ค่าจ้างเท่าไร ถึงจะผลิตออกมาได้ ๑ เรื่อง เราลองคำนวณกันคร่าวๆ ตกแล้ว ใช้เงินอย่างน้อยๆ ๘๐ ล้านบาท กินเวลา ๒ ปี เฉพาะในส่วน Production เมื่อรวมการทำตลาด ส่วนแบ่งของโรงหนัง และอื่นๆแล้ว ต้นทุนในการผลิต ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ล้านบาท จากนั้น เพื่อนผมก็หันมาถามต่อว่า แล้วเท่าที่เห็นเนี่ย หนังไทยที่ได้เงินเกิน ๑๐๐ ล้านบาท ในหนึ่งปี มีกี่เรื่อง และเขาต้องเป็น ๑ ในนั้นให้ได้ มิหนำซ้ำ ยังต้องทำให้ได้มากกว่านั้นด้วย เพื่อให้คุ้มกับเวลาที่เสียไป ๒ ปี หรือถ้าจะสู้ในตลาดโลก แน่นอน ต้องไม่ทำแข่งกับ Pixar เขาต้องไปทำในแนวของญี่ปุ่นถึงจะพอสู้ได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ การทำตลาดในระดับโลก ก็ต้องใช้เงินที่เยอะเกินกว่าเขาจะกล้าเข้าไปเสี่ยง แต่สำหรับตลาดในประเทศแล้ว เขาก็อดกลัวเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้ ดูแล้ว มองไม่เห็นอนาคตที่สดใสนัก สู้รับจ้างทำหนัง Animation ตามใบสั่งของต่างประเทศไม่ได้ รับงานเป็นชิ้นๆ ง่ายกว่า แต่ก็ต้องยอมรับเรื่องการไม่มียี่ห้อ (Brand) เป็นของตัวเอง

ผมคุยกับเพื่อนผมคนนี้ เมื่อสามปีที่แล้ว จนป่านนี้ ผมยังจำคืนนั้นได้อยู่ เพราะทุกอย่างพิสูจน์ด้วยตัวเลขง่ายๆได้จริงๆ ไม่ต้องอธิบายกันมากมาย ดูๆไปแล้ว แค่เรื่องพื้นๆอย่างการ copy หนังดูกันในบริษัท ไม่น่าเชื่อว่า จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราแข่งขันตลาดโลกได้ยากขึ้น หลายๆคนอาจจะนึกถึงตลาดหนัง/ละครเกาหลี เพราะพวกเขาก็น่าจะมีข้อจำกัดเหมือนของเรา แต่เท่าที่ผมเข้าใจ การที่พวกเขาโตได้ขนาดนั้น เกิดจากการผลักดันจากภาครัฐพอสมควร ส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรมอย่างเป็นกระบวนการ แต่บ้านเรานั้น คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ เพราะเราเองยังตกลงกันไม่ได้ในเรื่องการปกครองขั้นพื้นฐาน รอกันไปก่อน

แม้ว่าแรกเริ่มเดิมที ผมค่อนข้างปักใจและทำใจเรื่องของลิขสิทธิ์ทางปัญญา อย่าง หนัง หนังสือ หรือเพลง ว่าคนในวงการนี้คงต้องทำใจจริงๆ เป็นปัญหาของภาษาที่ทำให้เราโตยาก เพราะขนาดของเราเล็กเกินไป แต่เมื่อมาเจอเรื่องแรกที่ผมเล่าไป คือการใช้เคเบิ้ลทีวีเถื่อน ก็เลยทำให้ผมต้องคิดใหม่ เพราะเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องภาษาเสียแล้ว ทำท่าว่าจะเป็นเรื่องจิตสำนึกของคนเราเองกระมัง

ทำไปทำมา ดูเหมือนว่า แนวคิด “ฟรี” โดยไม่คำนึงถึงวิธิการ จะเป็นที่ยอมรับกันไปแล้ว

แต่ก็แปลกเหมือนกันนะครับ เรื่องนี้น่ะ ดูจะไม่เกี่ยวกับการศึกษา เพราะเท่าที่เคยอ่านเจอ กรณีศึกษาทางธุรกิจในบ้านเรา ในตลาดเงินผ่อนรายย่อย ผู้ประกอบการเคยให้สัมภาษณ์ว่า ผู้มีรายได้น้อยที่ต้องพึ่งพิงการกู้ยืมแบบนี้ มักจะไม่มีพฤติกรรมหนีหนี้ ส่วนใหญ่จะตรงไปตรงมา และเท่าที่ผมเคยสัมผัสเอง เมื่อต้องลงไปดูแลกิจการของตัวเองที่ต่างจังหวัด ผมก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยอยู่เหมือนกัน

บทความชิ้นนี้ึ คงดูจะเครียดๆไปบ้าง แต่ก็อดไม่ได้ที่อยากจะชวนมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย มาลองถกกันบ้าง เพราะผมก็คิดว่า มันไม่เกี่ยวกับการศึกษาจริงๆนะ