The Girl Who Kicked the Hornets’ Nests

ในที่สุด ก็อ่านจบ เรื่องนี้ รอเป็น Audiobook ไม่ไหว เพราะกำหนดออก ยาวนานถึงพฤษภาคม ในขณะที่ Asia Book ลดราคา 20% ทำให้ไม่ถึงสามร้อยบาทด้วยซ้ำ ก็เลยขออ่านดีกว่า นานมากแล้วที่ไม่ได้อ่านนิยายเป็นเล่ม แล้ววางไม่ลงขนาดนี้

เรื่องนี้้เป็นตอนคลี่คลายของปมทั้งหลายที่ทิ้งไว้ในเล่มสอง (The Girl Who Played with Fire) ซึ่งจะว่าไปแล้ว เล่มสองและเล่มสามเป็นเรื่องเดียวกันที่ต่อกันสนิท เล่มที่สามนี่ดำเนินเรื่องต่อจากเล่มที่สองทันที ดังนั้นคนที่อ่านเล่มสองแล้ว ต้องแนะนำให้อ่านต่อ ก่อนจะลืมตัวละครไปเสียหมด

ต้องปูพื้นเล็กน้อย แต่ก็ต้องเตือนคนที่อยากอ่าน หรืออยากดูว่า เป็น spoiler alert นะครับ เพราะเล่าแทบไม่ออก ถ้าไม่บอกบางส่วนไปบ้าง เล่มที่สองเป็นปัญหาที่ทางตัวเอกชาย Blomkvist ไปจับมือกับนักเขียนข่าวไฟแรง กำลังจะตีพิมพ์เปิดโปงเรื่องราวในวงการค้าโสเภณีในสวีเดน แต่ให้เกิดเหตุว่า นักเขียนคนดังกล่าวดันโดนฆ่าตาย พร้อมกับแฟน(ที่กำลังตั้งท้อง และกำลังจะจบปริญญาเอก ในวิทยานิพนธ์ที่เขียนบนพื้นฐานเดียวกับที่แฟนเขียน แต่จะกล่าวถึงในอีกแง่มุมหนึ่ง) และหลักฐานที่เกิดเหตุดันมีลายนิ้วมือของตัวเอกหญิง (Lisbeth) อยู่ โดยที่ Lisbeth ก็หายตัวไปด้วย ไม่มีใครติดต่อได้ โดยหลังจากนั้นไม่นาน ก็พบว่า มีฆาตกรรมเกิดขึ้นอีกที่หนึ่ง โดยผู้ตายมีส่วนเกี่ยวข้องกับ Lisbeth ด้วย เรื่องที่ว่าวุ่นนี่ ก็วุ่นมากขึ้นไปอีก เนื่องจากตัวเอกเป็นคนมีปมในตัวเองสูงมาก ไม่สุงสิงกับใคร ก็เลยกลายเป็นผู้ต้องสงสัยไปโดยปริยาย มิหนำซ้ำยังมีการซ้ำเติมจากทางด้านของตำรวจด้วย ทำให้ทุกอย่างดูเลวร้ายลงไปทุกที ที่น่าทึ่งคือ ทั้งเรื่อง Lisbeth ก็ไม่ได้คุยกับตัวเอกชาย (Blomkvist) เลย จนหน้่าสุดท้าย ซึ่งจบลงตรงที่ Lisbeth บาดเจ็บสาหัส ปางตาย แต่ประเด็นการสืบสวนก็สิ้นสุดลง หลังจากที่ตัว Lisbeth เองก็คลายปมที่ตัวเองก็สงสัยมานานได้ และ Blomkvist และทางตำรวจ ก็ต่างคลำๆทางตามหลัง Lisbeth มาได้เหมือนกัน

เล่มที่สาม มาต่อจากที่ตัวเอกชาย Blomkvist มาเจอ Lisbeth นำส่งโรงพยาบาล และเริ่มเข้าสู่กระบวนการสืบสวนว่า แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ทำไมถึงมีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการในภาครัฐได้ขนาดนี้ และทำไม Lisbeth ถึงมีปัญหาทางจิตจนโดนส่งเข้าสถานบำบัดตั้งแต่อายุ ๑๒ ขวบ แน่นอนว่า เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการสืบสวนอย่างใหญ่โตขนาดนี้ ทุกฝ่ายก็เริ่มดำเนินการพยายามลบรอยอดีต ก่อนที่โดนสาวมาถึงให้ได้ ถ้าจะมีความเหมือนระหว่างเล่มสองและเล่มสามอยู่บ้าง ก็ตรงที่ทั้ง Lisbeth และ Blomkvist เพิ่งจะได้คุยกัน ก็หน้าสุดท้ายของเล่มสามเช่นกัน

ลงรายละเอียดมากไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะคนที่ไม่ได้อ่านจะหมดสนุก แต่บอกได้ว่า เรื่องนี้พัวพันไปถึง (เมื่อเทียบเท่ากับบ้านเรา) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายกฯสวีเดน กระทรวงยุติธรรม หน่วนสืบราชการลับ ไปจนถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ตัวเอกชาย Blomkvist สามารถดั้นด้นหาวิธีสื่อสารกับ Lisbeth ได้ ทั้งๆที่ Lisbeth อยู่โรงพยาบาล และจำกัดพื้นที่ไว้ ไม่มีเครื่องมือสื่อสาร มิหน้ำซ้ำยังสามารถหาทางออกอินเตอร์เน็ท เพื่อให้ข้อมูลบุคคลภายนอกได้

และก็คงเหมือนๆกับนิยายหลายๆเรื่อง จินตนาการและเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้ความ”พอเป็นไปได้”ในทางเทคนิค กลายเป็นข้ออ้างที่ทำให้คนเราสามารถทำหลายๆอย่างได้ เพื่อให้เรื่องสามารถดำเนินต่อไป โดยไม่น่าเบื่อหรือโดนข้อจำกัดมากเกินไปนัก อย่างหนึ่งที่คนคุ้นเคยกับ Mac น่าจะชอบ คงจะรู้สึกได้ตั้งแต่เล่มแรก เพราะคนเขียนลงรายละเอียดของเครื่อง Mac ที่ตัวละครแต่ละคนใช้เหลือเกิน ทั้งชื่อรุ่น CPU และ RAM spec. อ่านแล้วงงๆนิด แต่เดาๆว่า อยากจะบอกว่าเป็นสเปคขั้นเทพ แต่เนื่องจากผมเองก็ไม่รู้จักเครื่อง Mac หลายๆรุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว (ค.ศ. ๒๐๐๐ – ๒๐๐๔) ก็เลยไม่แน่ใจความหมายของคนเขียนนัก แต่ที่แน่ๆ คือเน้นว่าใช้เครื่อง Mac

จากเดิมที่ให้ความรู้สึกในตอนแรกว่า ในเล่มแรก อ่านแล้ว ทำให้นึกถึงงานเขียนของ Thomas Harris (Red Dragon, The Silence of the Lamb) แต่พอมาถึงเล่มสองและสาม โดยเฉพาะเล่มสาม ผมพบว่า งานออกไปในแนวใกล้ๆกับ Tom Clancy มากกว่าแล้ว กึ่ง Techno-thriller แต่ก็มีประเด็นการเมืองแฝงอยู่ ทั้งนี้ เนื่องจากว่า ผู้เขียนเป็นนักข่าวสายนี้อยู่แล้ว ทำให้พอจะเห็นแนวคิด วิจารณ์ระบบการเมืองของสวีเดนอยู่หน่อยๆ ถ้ารู้ประวัติศาสตร์การเมืองยุคทศวรรษที่ ๘๐ ถึง ๙๐ คงจะเห็นภาพที่ใหญ่กว่านี้ แต่เท่าที่อ่าน ถึงไม่ทราบ ก็ไม่ได้ถือว่าเสียอรรถรสแต่ประการใด

เชื่อว่า ผู้อ่านหลายๆคนคงรู้สึกเหมือนๆกันว่า พอจะเห็นแล้ว แนวทางจะออกไปในมุมไหน เมื่อผ่านครึ่งเรื่องไปแล้ว เพียงแต่ว่ารายละเอียดตอนจบเท่านั้นเองว่า จะลงอย่างไร เรื่องนี้ มีผู้ช่วยตัวเอกหน้าใหม่ เป็นสาวสวย หุ่นดี เล่นกล้าม มาช่วย Blomkvist ด้วย แต่คนเขียนคงเขียนเรื่องแบบอยากให้ตัวเองเป็นอย่างนี้บ้าง (เพราะทั้งคนเขียนและ Blomkvist ทำอาชีพเดียวกัน คือเป็นนักข่าว) ก็เลยเขียนรวบรัด ไม่ว่าจะเป็นสาวไหน ก็ให้ท่าอีตา Blomkvist ก่อนทุกที ไม่เห็นต้องออกแรงจีบอะไรมากมายเลย อิจฉานะ พูดตรงๆ

ตอนท้ายๆของเรื่องนั้น ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่า ๕๐ หน้าสุดท้าย จะกล่าวถึงอะไรอีก ในเมื่อทุกอย่างมันจบไปหมดแล้ว แต่พออ่านแล้ว ก็งงเหมือนกัน เพราะผมทึกทักว่า ปมสุดท้ายนั้น ตั้งใจจะเฉลยในเล่มหน้า แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเล่าหมดเลย

คุณ Stieg ตั้งใจจะเขียนนิยายในซีรียส์นี้ ถึง ๑๐ เล่ม โดยที่เขียนสามเล่มแรก เสร็จหมดแล้ว จากนั้น ก็ร่างโครงของเล่มสี่และห้าเอาไว้ แล้วก็เสียชีวิตกระทันหัน อย่างที่บอกครับ เมื่อสามเล่มแรกนั้น ฮิตระเบิดเถิดเทิงในยุโรป เมื่อแปลแล้ว ก็ขายดีในโลกวรรณกรรมสืบสวนอีก ก็เลยมีการสร้างหนังทั้งสามภาค และกลายเป็นหนังทำเงินขึ้นมา ตอนนี้ก็รอว่า  Hollywood จะมายำเละเอง หรือเปล่า แต่เห็นตัวอย่างหนังของฝั่งยุโรปแล้ว อยากให้ทำ sub-title แล้วฉายดีกว่า เร็วทันใจดี

แน่นอน หลายๆต้องถามต่อว่า แล้วเล่มสี่และห้าที่ว่า มีโครงเรื่องอยู่นี่ จะมีโอกาสได้เห็นไหม ผมลองไปตามอ่านจากในเว็บของคุณ Stieg Larsson ที่มีคนทำไว้ ปรากฏว่า คู่ชีวิตของแก ก็มีส่วนร่วมในการแต่งสามเล่มแรกอยู่พอสมควร ดังนั้น เธอพอจะทำให้เล่มสี่จบได้ เพราะ Stieg คุยกับเพื่อนไว้ก่อนเสียชีวิตว่า ตอนต้นและตอนจบของเล่มสี่นั้น เสร็จแล้ว เหลือแต่ว่าจะร้อยตอนกลางเรื่องออกมาเป็นอย่างไร น่าเสียดายที่เธอดันไปมีเรื่องกับทางครอบครัวพ่อแม่พี่น้องของคุณ Stieg ทำให้มีปัญหาลิขสิทธิ์ทางกฏหมาย เลยทำให้ไม่มีใครทราบอนาคตของเล่มสี่ได้ว่าจะออกมาให้เห็นหรือเปล่า

เล่มสี่ เล่มห้า ช่างมันเถอะ ว่าแต่ หนังสามภาคนี้มี sub-title ออกมาหรือยัง อยากดูแล้วนะ

The Girl Who Played with Fire โดย Stieg Larsson

เรื่องนี้เป็นตอนที่สอง เป็นภาคต่อจาก The Girl with the Dragon Tattoo ครับ ดำเนินเรื่องห่างจากเรื่องแรกประมาณ ๑ ปีให้หลัง โดยตัวละครหลักๆ ยังคงอยู่ครบ ความโหดโดยรวมไม่ด้อยไปกว่าเล่มแรก แต่ความโป๊ของเนื้อเรื่องมีมากกว่า แต่ก็มีเฉพาะครึ่งเรื่องแรก หลังจากจุดนั้น ก็เป็นการผูกปม และคลายปม ตามประสานิยายสืบสวน เชิง thriller ที่ดี เป็นผลงานของคุณ Stieg Larsson ในไตรภาค Millenium

เนื้อเรื่องคร่าวๆ จะเป็นว่า หลังจากเหตุการณ์เล่มแรกจบไปแล้ว ตัวเอกทั้งชายและหญิงก็แยกย้ายกันไป แต่มีเหตุให้ต้องมาโยงกัน เพราะคดีฆาตกรรมสยองขวัญที่เกิดขึ้นในคืนเดียวกัน ๒ คดี ๓ ศพ โดยทั้งหมดมีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเอกหญิง และเจ้าตัวก็ดันหายตัวไปด้วย เลยทำให้ฝ่ายชายต้องมาตามสืบสวนว่า เกิดอะไรขึ้น เพราะมั่นในในตัวเอกหญิง แล้วปมที่เคยผูกไว้ในภาคแรก ในส่วนของความหลังของตัวเอก ที่มาที่ไป ก็ค่อยๆคลายออกมา ทีละนิดจนจบ

ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้สนุกไปอีกแบบ มีตัวละครมากขึ้น มี subplot หลายๆตอน แต่ก็ไม่ได้คลี่คลายไปเสียทั้งหมด เหมือนจะจงใจให้ไปตามอ่านต่อในเล่มสาม (The Girl Who Kicked the Hornets’ Nest) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนจบ จบแบบตั้งใจให้ไปหาอ่านเล่มต่อไปเอามากๆ ไม่เฉลยนะครับ เพราะจะทำให้คนที่อยากอ่าน จะอ่านไม่สนุกไปเปล่าๆ

ตัวเอกหญิง ชื่อว่า Lisbeth Salander เป็นตัวละครที่ดูน่าสนใจที่สุดมาตั้งแต่เล่มแรกแล้ว เพราะคาแรคเตอร์เป็นพวก Outcast มากๆ และไม่แคร์ใครด้วย มาเล่มนี้ เพิ่มมิติเรื่องการเป็น Bisexual เข้ามาด้วย เล่มที่แล้ว (The Girl with the Dragon Tattoo) เป็นเรื่องของตัวเอกฝ่ายชาย (Mikael Blomkvist)เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เล่มนี้ เป็นเรื่องของ  Lisbeth เกือบทั้งหมด จะว่าไปก็น่าสนุกตรงที่คนเขียนผูกปมให้ทั้งสองคนนี้เพิ่งจะมาคุยกันหน้าสุดท้ายนี่แหละ ที่สำคัญคือ อาการของ Lisbeth ในตอนจบนั้นแทบจะบอกได้ว่า เป็นหรือตายเท่ากัน ดูไม่ออกว่า จะเป็นอย่างไร

ตัวเอกชาย Blomkvist ยังคงคาแรคเตอร์แบนๆไว้เหมือนเดิม จะดูโลดโผนอยู่บ้าง ก็ในส่วนของความเป็นคนมีเสน่ห์และเจ้าชู้ มาเล่มนี้ ก็มีโอกาสอย่างนี้อีก ทั้งๆที่บทบาทในตอนนี้มีไม่มากนัก นอกนั้นก็เหมือนตัวเอกในเรื่อง The Da Vinci Code มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและวิชาชีพ น่าเบื่อ

เล่มนี้มีผู้ช่วยพระเอกด้วย เป็นอดีตนักมวย ชื่อ Paolo Roberto อยู่ๆก็โดนจับยัดเข้ามาเลย มาเป็นตัวช่วยในส่วนบู๊ เพราะเล่มนี้บู๊กว่าเล่มแรกเยอะ แต่ที่ฮากว่าก็คือว่า ตัวละครนี้มีตัวตนอยู่จริง ใช้ชื่อนี้ และเป็นอดีตนักมวยจริงๆด้วย คุณ Steig คงติดใจตัวจริงมาก เลยนำลงมาใส่ในหนังสือเลย และจะบอกว่า ที่ฮาหนักเข้าไปอีกก็คือว่า เมื่อนำหนังสือเล่มนี้มาสร้างเป็นหนัง คุณ Paolo ก็มาแสดงเป็นตัวเองด้วยนะ เจ๋งมากๆๆๆๆ

อย่างที่บอก เล่มนี้ดันจบแบบน่าโมโหขนาดนี้ ขอไปโหลดเล่มที่สามมาฟังต่อก่อนก็แล้วกัน เพราะลองไปแง้มๆดูหนังสือแล้ว คุณ Stieg ก็เข้าใจแต่งจริงๆ เพราะเล่มสามต่อจากเล่มที่สองทันที ดังนั้นควรจะอ่านต่อกันไปเลยจะดีที่สุด

อยากดูหนังแล้วสิ

พลังของ New Media

หนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมทำพอดคาสท์ก็เกิดจากการที่ได้รับชมรายการต่างๆทางอินเตอร์เน็ทนี่แหละครับ ไม่ว่าจะเป็นทั้งแบบเสียงหรือวิดีโอ เนื่องจากว่าเนื้อหามากมายเหลือเกิน จนทำให้เราได้เจอรายการที่เราชอบมากๆจนได้ ที่ผมติดใจมากๆรายการหนึ่ง คือรายการ This Week in Tech (http://www.twit.tv) ซึ่งมีคุณ Leo Laporte เป็นทั้งผู้จัดรายการและเจ้าของเว็บไซด์ เว็บนี้เป็นต้นแบบของช่างคุยครับ แต่ทางโน้นเขามีความเป็นมืออาชีพ ทำเป็นธุรกิจ และอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว

รายการหลัก คือ This Week in Tech เป็นการเชิญบุคคลที่น่าสนใจสามสี่คนมาคุยกัน ตามเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ คุณ Leo อายุร่วม ๕๐ กว่าๆแล้ว ทำให้รู้จักผู้คนหลากหลายและมีเรื่องเล่าเยอะแยะเต็มไปหมด ผ่านการจัดรายการทางเคเบิลทีวี และรายการวิทยุมาก่อน โดยที่ปัจจุบัน แกทำสตูดิโอในบ้านของแกเองแล้ว ตัวรายการบันทึกกัน บ่ายๆเย็นๆวันอาทิตย์ (ตามเวลาใน California)

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๓ คุณ Leo แกจัดตอนที่ ๒๓๘ โดยเชิญเพื่อนๆในวงการอีก ๓ คนมาคุยกัน หนึ่งในหัวข้อสนทนาก็พูดถึงเรื่องที่พิธีกรรายการโทรทัศน์คนดังคนหนึ่งของสหรัฐฯ Conan O’Brien ที่สุ่้มเลือกคนที่ตามเขาใน Twitter และ follow คนคนนั้นกลับไป เพื่อลองดูว่า จะทำให้คนช่วยกัน follow คนคนนั้นมากขึ้นได้ขนาดไหน  ปรากฏว่า มีคนตามเพิ่มถึงกว่า ๑๕๐๐๐ คน

คุณ Leo ก็เลยลองบ้าง โดยให้ Kevin Rose ผู้ดำเนินรายการคนหนึ่ง (ผู้ก่อตั้ง http://www.Digg.com และเป็นผู้ำดำเนินรายการ DiggNation ด้วย) ช่วยเลือกคนขึ้นมาคนหนึ่งบ้าง คุณ Kevin ก็เลยสุ่้มเลือกคน โดยสุ่มจากการ search ประโยค I Hate Technology ปรากฏว่า ได้คุณ  http://www.Twitter.com/LisaTickledPink ขึ้นมา โดยที่เธอเอง มีคนตามแบบนับนิ้วครบ และเพิ่งจะ tweet ไปเพียง ๒ ครั้ง โดยคุณ Leo บอกไปว่า ให้ผู้ฟังช่วยกันตามหน่อย เพื่อทดสอบว่า จะได้รับความนิยมเท่า Conan (ซึ่งเป็นสื่อระดับโทรทัศน์)หรือไม่ ลองฟังรายการตอนนี้ ดูก็ได้ครับ (เขาตัดมาเฉพาะตอนที่พูดกันเรื่องนี้)

คุณ Leo เองทำรายการนี้แบบออกอากาศสดทางอินเตอร์เน็ท ซึ่งมีคนดูอยู่หลายพันคน และมียอดคนดาวน์โหลดพอดคาสท์อยู่้ประมาณ ๑๗๐,๐๐๐ ครั้ง ก็รู้สึกประหลาดใจเหมือนกัน เพราะจนดำเนินรายการจบ มียอดคนตามเพิ่มมาถึง ๒ พันคน โดยที่ไม่มีใครรู้จักคุณ @LisaTickledPink มาก่อน รู้กันแค่ว่า เธออยู่ที่นิวซีแลนด์ (จากที่เธอลงไว้ใน Twitter)

ผมมาฟังรายการนี้ทางพอดคาสท์ (ไม่ได้ฟังรายการสด) วันพฤหัสบดี ซึ่งหมายความว่า เหตุการณ์นี้ผ่านมา ๔ วันเต็มๆแ้ล้ว พอลองเช็คเข้าไปดู ก็ทึ่งเหมือนกัน เพราะมีคน follow คุณ @LisaTickledPink ไปทั้งหมดกว่า ๑๖,๐๐๐ คนแล้วครับ ขณะที่คุณอ่านกันนี้ คงเลย ๒๐,๐๐๐ คนไปเยอะแล้ว

จากนั้น คุณ Leo ก็เลยลองตามหาเธอมาคุยกันจนได้ครับ โดยร่วมมือกับทางสถานีวิทยุแห่งหนึ่งในนิวซีแลนด์ พบว่า เธอเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยครับ เรียนเรื่องการออกแบบอุตสาหกรรม และที่ต้องมาใช้ Twitter เพราะอาจารย์บอกให้มาลองใช้ (เหมือนเป็นส่วนหนึ่งในวิชา) เธอเองก็งงกึ่งตกใจเหมือนกัน เมื่อตื่นมาพบกับอีเมล์เป็นพันฉบับ จาก Twitter ที่แจ้งเข้ามาทุกครั้งที่มีคน follow เข้ามา แต่เธอก็รับมือได้ดีนะครับ ให้สัมภาษณ์ได้ดีทีเดียว เป็นที่ประทับใจ พร้อมกันนั้น ก็เปลี่ยนเรื่องนี้ให้เป็นโอกาส เพราะไหนก็มีคนตามเป็นหมื่นแล้ว เธอก็เลยจะถือโอกาสนี้ทำเว็บไซด์ เพื่อรองรับโปรเจคของเธอเลย ลองดูวิดีโอนี้นะครับ เป็นวิดีโอที่คุณ Leo กับคุณ Lisa ให้สัมภาษณ์ข้ามทวีปกัน

ผมรู้สึกทึ่งกับปรากฏการณ์นี้มากๆ เพราะมันแสดงถึงอิทธิพลของสื่อเฉพาะกลุ่มได้อย่างดีเยี่ยม จะมีสื่อไหนอีกที่ทำให้คนๆหนึ่งที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักเลย สามารถมีคนเข้ามาติดตามได้ในเวลาอันสั้น ทั้งโลก และที่สำคัญที่สุด คือสิ่งที่ดีเจของทางสถานีตั้งข้อสังเกตุไว้ คือคนที่ตามคุณ Lisa ก็คือคนที่ตามคุณ Leo มานั่นเอง นั่นคือกลุ่ม Geek ที่เป็นผู้ใหญ่หน่อย และค่อนข้าง Nice โดยรวม

เสียดายว่า ช่างคุยยังไปไม่ถึงขั้นนั้น อยากเล่นบ้าง น่าสนุก

เห็นเรื่องนี้แล้วอยากเล่าครับ หวังว่า คงชอบกัน

ผีตึก ๖

สำหรับคนที่เรียนคณะวิศวะ ลาดกระบังมา รุ่นใกล้่ๆผม (ปี ๒๕๓๒ – ๒๕๓๕) คงรู้จักตึก ๖ เป็นอย่างดี เพราะเป็นตึกธุรการของคณะในเวลานั้น และมีการเรียนการสอนที่นั่นด้วยในบางครั้ง ตึกนี้สังเกตุง่าย เพราะถ้าเดินมาจากจากสถานีรถไฟพระจอมเกล้าเข้ามาที่คณะวิศวะ คุณก็จะเดินมุ่งหน้าเข้ามายังตึกนี้พอดี

ที่เรียกว่ากันว่า ตึก ๖ น่าจะเป็นเพราะว่า เป็นตึก ๖ ชั้นครับ เมื่อสมัยเราเรียนปี ๑ ทุกคนในรุ่นผมจะได้ยินเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งเสมอเกี่ยวกับตึกนี้ คือเรื่องผีดุครับ ว่ากันว่าห้องน้ำผู้หญิง ชั้น ๕ ของตึกนี้ มีคนงานก่อสร้างสมัยสร้างตึกใหม่ๆ ผูกคอตายที่นั่น หลังจากผิดหวังเรื่องความรัก เล่ากันมาเท่านี้จริงๆ แต่ไม่มีรายละเอียดว่า เป็นใครที่ไหน ผิดหวังขนาดไหน ท้องหรือเปล่า หน้าตาเป็นอย่างไร ฯลฯ แต่ที่ลือต่อๆกันมา มักจะเป็นเรื่องที่นักศึกษาหญิงบางคนแอบเผลอเข้าไปใช้ห้องน้ำนี้ แล้วเจอว่ามีคนกำลังใช้งานอยู่บ้าง ทั้งๆที่เพื่อนๆยืนยันว่า ไม่มีคนเข้า หรือออกมา หรือแต่งหน้าในห้องน้ำนานไปหน่อย เพื่อที่จะมาโดนรุ่นพี่ทักหลังจากเดินออกมาว่า ห้องนั้นไม่มีกระจกนะ

ที่ทำให้เรื่องนี้ มีเค้าจริงๆน่าจะเป็นเพราะว่า มีคนยืนยันกันว่า มีรูปไม้แกะสลักเป็นหน้าคนงานดังกล่าว แขวนไว้ที่เสานั้น ซึ่งก็มีรุ่นพี่ที่ผมรู้่จักเป็นคนมาเล่าด้วยตัวเอง คนเล่านี่เป็นผู้ชายนะครับ แกสงสัยมาก เพราะเล่ากันมานักต่อนัก แต่ไม่มีคนไหนที่บอกว่า มีรูปที่ว่าอยู่จริง แกเลยเข้าไปห้องน้ำหญิงที่ว่า (ซึ่งก็ไม่มีใครว่าอะไรหรอกครับ เพราะสาวๆกลัว ไม่เข้าห้องนั้นอยู่แล้ว) แกยืนยันว่า มีรูปนั้นอยู่จริง และมีพวงมาลัยแขวนอยู่ด้วย ผมเองก็จำไม่้ไม่ได้แล้วว่า ไ้ด้ถามต่อหรือเปล่้าว่า เป็นพวงมาลัยใหม่ หรือเก่า พลาสติกหรือดอกไม้สด

ผมเรียนอยู่ลา่ดกระบังอยู่ ๔ ปีตามหลักสูตร นอนค้างคณะจนนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งห้องชมรมบาสฯ หรือที่ภาคโทรคมนาคม ตอนทำโปรเจ็คปี ๔ แต่ก็ไม่เคยเจอผีที่คณะสักที เดินไปเดินมาดึกๆ ก็หลายครั้ง ยิ่งตอนใกล้สอบ ยิ่งไม่น่ากลัว รุ่นพี่รุ่นน้องเดินกันให้เกลื่อน แหงล่ะ ข้อสอบ ๕ ข้อ ตัดได้ตั้งแต่ A ถึง F วัดดวงกันปลายเทอมครั้งเดียว จังหวะสุดท้าย แทบไม่ได้นอน แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ไม่เคยเจอผี หรือแม้แต่เหตุการณ์แปลกๆที่คณะ แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่เคยเดินไปห้องน้ำหญิงที่ว่าเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกลางวัน หรือกลางคืน นึกในใจว่า ถ้าอยากจะหลอกนัก ก็มาหาแล้วกัน อย่าให้เราต้องลำบากเดินไปหาเลย จะทำให้เราตกใจแล้ว ก็ลงทุนหน่อยนะ จริงๆแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า ไม่กล้าไปดูเหมือนกัน

ที่ผมมาเขียนเรื่องนี้ ก็เพราะว่าหลังจากที่ผมจบจากคณะไปสองสามปี น่าจะประมาณปี ๒๕๔๐ ผมได้มีโอกาสกลับไปที่คณะอีกครั้ง และได้เจอรุ่นพี่เก่าๆ ที่เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่นั่น ในระหว่างที่คุยกันอยู่นั่น ผมนึกเรื่องนี้ขึ้นมาได้ ก็เลยอดถามไม่ได้ เพราะีพี่ท่านนี้เป็นอาจารย์ตั้งแต่จบ และเป็นผู้หญิงด้วย ถามทำนองว่า พี่อยู่มานานขนาดนี้ พี่เคยเข้าห้องน้ำห้องนี้หรือเปล่า มีอะไรน่ากลัวจริงหรือเปล่า

คำตอบของพี่ทำเอาผมขำกลิ้ง เธอบอกว่า เธอก็ไม่เข้าใจว่าไปเอาเรื่องนี้มาจากไหน เธอทราบเรื่องนี้ดี เพราะเธอเป็นรุ่นแรกที่ได้เข้ามาเรียนที่ตึก ๖ แห่งนี้ ห้องน้ำห้องที่ว่านี้ ไม่ได้มีคนงานที่ไหนไปผูกคอตายเลย เพียงแต่ว่า ในช่วงแรกที่เปิดตึก ยังมีเสาที่ตกน้ำมันอยู่ในห้องน้ำนั้น ก็เลยมีคนงานไปขอหวย แล้วก็ให้ถูกขึ้นมา ก็เลยนำพวงมาลัยมาคล้องขอบคุณแล้วก็ทำรูปแกะสลักมาวาง เสมือนว่าเป็นนางไม้ของเสาต้นนี้ ไม่เคยมีเรื่องคนโดนผีหลอกสมัยเธอเรียนอยู่แม้แต่น้อย แต่ทำไมรุ่นหลังๆถึงเล่ากันเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนั้น เห็นไหม ใครว่าวิศวกรคิดอะไรเป็นตรรก จินตนาการไม่เก่ง เรื่องนี้เป็นบทพิสูจน์ว่า เราทำได้

ผ่านมาเป็นสิบปี ผมก็ยังจำเรื่องนี้ได้ดี เล่าให้ใครฟังก็ขำ เพราะทุกคนก็จำเรื่องผีห้องน้ำหญิงตึก ๖ ได้ด้วยกันทั้งนั้น ในรุ่นใกล้ๆผม แต่ไม่มีใครเคยได้ยินบทเฉลยนี้สักที ได้มีโอกาสพูดคุยกับรุ่นพี่รุ่นน้องไม่นานมานี้ ก็เลยมาบันทึกเล่นๆไว้น่ะครับ

แนะนำหนังสือ ๒

เขียนให้นิตยสาร Go Training ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๕๓

หมวดถ้ดมานี่ ผมเหมารวมๆกันว่า Behavioral Economics ซึ่งที่จริงแล้ว เป็นคำศัพย์ที่มีความนิยามในระดับหนึ่งเลยนะครับ หนังสือดังๆหลายๆเล่มในตลาดหนังสือภาษาอังกฤษในกลุ่ม Non-fiction (กลุ่มที่ติด Best-seller ในตลาดใหญ่) ตกอยู่ในกลุ่มนี้หลายเล่ม จะว่าไปแล้ว หนังสือกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ผมใช้เวลาอ่านแต่ละเล่มนานกว่าปกติ เพราะทุกบทมักจะทิ้งข้อคิดบางอย่าง อ่านจบหนึ่งบท มักจะนั่งคิดอะไรต่อบางอย่าง แล้วค่อยอ่านต่อ

เรื่องราวของ Behavioral Economics ตามที่ผมเข้าใจ เป็นศาสตร์ที่พยายามอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ว่า ทำไมถึงมีพฤติกรรมต่างๆกันไป ถ้าย้อนกลับไปที่บทความของผม เมื่อหลายๆเดือนก่อน ตอน Predictably Irrational ก็น่าจะพอนึกออก หนังสือเล่มนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของศาสตร์นี้ สนุกครับ อ่านแล้ว นำไปประยุกต์ใช้ได้ง่าย นำไปเล่าก็สนุก จะว่าไปแล้ว หนังสือในกลุ่มนี้ เป็นหนังสือดังที่เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนอ่านหนังสือในบ้านเราอยู่แล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ารู้จักอยู่แล้ว ก็อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ

เล่มแรกๆที่ผมได้สัมผัส คือ The Tipping Point ของคุณ Malcolm Gladwell ผมน่าจะเคยแนะนำไปบ้างแล้วในตอนก่อนๆ แต่ก็ยังอยากแนะนำไว้นิดหน่อยเพราะหนังสือเล่มนี้ดังจริงๆ และทำให้คุณ Malcolm ดังทะลุขึ้นไปอีกในระดับโลก ผมเข้าใจว่า คุณ Malcolm เป็นคนดังอยู่แล้วแหละในแวดวงนักเขียนบทความในสังคมอเมริกัน แต่เล่มนี้ทำให้ชื่อของเขาขึ้นมาอยู่ในระดับโลก เขาพยายามอธิบายปรากฏการณ์หลายๆอย่าง เช่น การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ การกลับมาของ Hush Puppies การปราบปรามอาชญากรรมในเมืองนิวยอร์ค ทั้งหมดนี้ เริ่มจากปรากฏการณ์เล็กๆ และค่อยๆขยายผลออกไปสู่ในวงการได้ไม่น่าเชื่อ ทั้งนี้เกิดจากองค์ประกอบอะไรบ้าง ส่วนที่สำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ดัง น่าจะเป็นเรื่องของตัวอย่างต่างๆที่ยกมาประกอบนะครับ คนเขียนแกไปนำทฤษฎีโน้น มาอธิบายปรากฏการณ์นี้ และนำอีกทฤษฎีหนึ่งมาอธิบายอีกปรากฏการณ์หนึ่ง อาจจะดูเหมือนจับแพะผสมแกะ แต่แกร้อยเรื่องเก่งครับ อ่านแล้วสนุก แม้หลายๆคนจะออกมาค่อนแคะในแง่ว่า แกเป็นนักเขียน ไม่ใช่นักวิชาการ หนังสือที่แกเขียนยังไม่สามารถนับเป็นตำราอ้างอิงได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ก็เป็นที่ยอมรับแหละครับว่า หนังสือเล่มนี้สร้างปรากฏการณ์ที่ดังสนั่นไปทั้งโลกได้ดี หนังสืออีก ๒ เล่มถัดมาของคุณ Malcolm ก็ยังสนุกอยู่ แต่ไม่ได้แรงเท่ากับ The Tipping Point แต่ก็อยากแนะนำในที่นี้ เพราะเป็นหนังสือที่อยู่ในหมวดนี้เหมือนกัน เล่มที่สองคือ Blink เล่มนี้ คุณ Malcolm พยายามอธิบายว่า ทำไมคนบางคนถึงมีความสามารถในการอ่านพฤติกรรม หรือทำนายเหตุการณ์หลายๆอย่างได้ โดยใช้เวลาแค่พริบตา (Blink)แค่นั้นเอง หลักๆก็เป็นเรื่องของการฝึกความชำนาญนั่นเอง ไม่ได้เป็นพรสวรรค์ แต่เป็นพรแสวงจริงๆ มีทั้งความสามารถในการดูของเก่า ชิมอาหาร ทำนายนิสัย หรือพฤติกรรม แม้จะไม่ถึงขนาดเป็นปรากฏการณ์เท่าเล่มแรก แต่เล่มที่สองก็ยังอ่านสนุก และชวนให้คิดเหมือนเดิม และเล่มที่สามคือ Outliers ซึ่งผมเคยแนะนำไปแล้ว ก็เป็นการวิเคราะห์ว่า ทำไมคนบางถึงประสบความสำเร็จ หรือมีความเก่งกาจ ปานอัจฉริยะ เหมือนฝึกมากจากท้องพ่อท้องแม่เลยทีเดียว ซึ่งหนังสือเล่มนี้ ก็พยายามทำนายที่มาที่ไปว่า เป็นพรแสวงอีกนั่นแหละ และเป็นเรื่องที่พอจะอธิบายได้ และสามารถที่จะนำมาประยุกต์เพื่อฝึกใช้กับเราๆท่านๆได้ แม้เล่มนี้จะไม่ดังเท่าเล่มแรก ในเมืองไทย ผมกลับรู้สึกว่าเล่มนี้ค่อนข้างดัง เป็นที่รู้จักมากกว่า The Tipping Point ด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่ารู้สึกไปเองหรือเปล่า ล่าสุด คุณ Malcolm ก็นำบทความที่เคยเขียนประจำให้กับนิตยสาร The New Yorker มารวมเล่มขาย ชื่อว่า What the Dog Saw เล่มนี้ผมยังไม่ได้อ่านนะครับ เลยให้ความเห็นไม่ได้ ถ้าสนใจก็ลองไปดูที่ http://www.Gladwell.com ดูได้ครับ เว็บของเขาเลย ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ คุณ Malcolm เป็นอีกนักเขียนอีกท่านหนึ่งที่อ่าน Audiobook ของตัวเองด้วยตัวเขาเอง ถ้าสนใจก็ลองไปหาฟังกันดู เข้าท่าดี โดยเฉพาะคนติด audiobook อย่างผม

เมื่อ The Tipping Point ดังขึ้นมา ก็มีอีกหลายๆเล่มที่ตามหลังมา ดังตามๆกันมา เช่น Freakonomics ของ Steven Levitt และ Stephen J. Dubner ซึ่งเล่มนี้เป็นการตั้งข้อสังเกตุเหตุการณ์รอบๆตัวที่เราเจอกันในชีวิตประจำวัน เช่น การตั้งราคากาแฟสด และนำทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายถึงที่มาที่ไป เล่มนี้ อ่านง่ายเช่นกัน เป็นตอนสั้นๆ หลายๆบท แยกอ่านได้ ไม่ต้องอ่านรวดเดียวจบ อีกเล่มที่น่าสนใจ และกล่าวถึงไปแล้วก็คือ Predictably Irrational ของ Dan Ariely เล่มนี้ดังมากๆในปี ๒๕๕๑ (2008) เป็นการนำตั้งข้อสังเกตุจากสิ่งต่างๆรอบๆตัวว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น จากนั้นก็ออกแบบการทดลองง่ายๆเพื่อพิสูจน์สมมติฐานนั้น โดยทดลองในกลุ่มนักเรียน MBA ที่คุณ Dan สอนอยู่เป็นหลัก สำหรับคนที่ชอบ Predictably Irrational ก็จะรู้สึกทันทีว่า Nudge โดย Richard Thaler และ Cass R. Sunstein มีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกัน บางตัวอย่างก็เป็นอันเดียวกัน โดย Nudge จะพุ่งประเด็นไปในเรื่องเดียวว่า การตัดสินใจของคนเรามักจะได้รับอิทธิพลจากสิ่งรอบข้างโดยไม่รู้ตัว และเราเองก็สามารถนำความรู้นี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การออกแบบฟอร์ม เพื่อให้ตัดสินบริจาคร่างกาย การตั้งค่า default เพื่อให้คนเลือกโดยอัตโนมัติ ทั้งสามเล่มนี้ เป็นหนังสือที่อ่านง่าย อ่านสนุกนะครับ แต่ถ้าคิดว่า ยังง่ายเกินไป ก็จะมีอีกเล่มหนึ่ง คือ Drunkard’s Walk โดย Leonard Mlodinow ซึ่งอธิบายปรากฏการณ์หลายๆอย่างที่เราเห็นว่าเป็นเรื่อง Random จริงๆแล้ว สามารถอธิบายได้ในทางคณิตศาสตร์ เล่มนี้ ต้องบอกก่อนว่า เทคนิคพอสมควร และขอออกตัวว่า อ่านไม่จบ เพราะผมฟังจาก Audiobook และพบว่า ฟังยากไปนิด เพราะต้องดูตาราง หรือภาพประกอบด้วย ถึงจะเข้าใจ

อีก ๒ เล่มที่จะพูดถึงต่อไป ไม่น่าจะนับว่าเป็น Behavioral Economics แต่พอจะกล้อมแกล้่มได้ว่า อ่านแล้ว ให้อารมณ์สนุกในความคิดคล้ายๆกัน เล่มแรก ผมก็เคยกล่าวถึงไปแล้ว คือ The Long Tail ของ Chris Anderson ซึ่งอธิบายผลกระทบของอินเตอร์เน็ท ที่ทำให้เราได้เห็นตลาดของ Demand จริงๆนั้น ใหญ่มหาศาล ถ้าเราสามารถ Supply ได้มากพอ เพียงแต่ว่า ก่อนที่จะมีอินเตอร์เน็ทเข้ามานั้น ต้นทุนของการ supply สูงเกินไป เช่น พื้นที่ในการเก็บหนังสือ หรือซีดี เพื่อขายในร้าน รายการโทรทัศน์ที่โดนจำกัดด้วยคลื่นความถี่ ช่องสัญญาณ และพื้นที่ออกอากาศ แต่เมื่อมีอินเตอร์เน็ทเข้า เพียงแค่มีเว็บไซด์ ทุกคนก็สามารถเปิดช่องทางการขายได้ใหม่โดยทันที ขอเพียงแต่หาผู้ซื้อให้เจอเท่านั้นเอง ซึ่งการตลาดในการหาให้เจอนี้ ก็อาจจะพอใช้ The Tipping Point หรือ Predictably Irrational อธิบายได้ The Long Tail เป็นหนังสือที่สร้างปรากฏการณ์ในระดับโลกจริงๆ ถ้ดมาจาก The Tipping Point ทำให้คุณ Chris Anderson ซึ่งเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Wired ขวัญใจชาว Geek ของอเมริกันชน ขึ้นมาอยู่ในแถวหน้า ต่อหลังคุณ Malcolm Gladwell เลยทีเดียว จากนั้น คุณ Chris ก็ออกหนังสือมาอีีกเล่มชื่อว่า Free โดยอธิบายสิ่งที่เราเห็นในอินเตอร์เน็ทที่ปล่อยให้ใช้กันฟรีๆ หรือโหลดไปอ่าน ไปใช้กัน โดยขอเงินบริจาคอย่างเดียวนี่ เราจะสามารถสร้างธุรกิจจากมันได้อย่างไร Free ได้รับการตอบรับจากผู้ที่ชื่นชอบ The Long Tail เป็นอย่างดี แม้จะเทียบไม่ได้กับ The Long Tail แต่ยังสามารถบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ เช่น Freemium ให้เป็นที่ยอมรับกันได้ เสียงวิจารณ์โดยทั่วไป ก็ออกมาในแนวกลางๆ โดยมีคุณ Malcolm Gladwell ประชดประชันค่อนข้างแรงใน Blog ของเขา โดยไม่เชื่อว่า การแจกฟรีจะอยู่รอดได้ในทางธุรกิจ แต่ทางคุณ Chris ก็ออกมาตอบรับทันควัน แต่ในรูปแบบยิ้มๆว่า โถ เฮีย เป็นอะไรไป ไม่ต้องรุนแรงขนาดนั้นก็ได้ จะว่าไปแม้ Free จะไม่แรงเท่า The Long Tail  แต่หนังสือเล่มนี้ ก็สร้างปรากฏการณ์เท่หลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการให้โหลด audiobook ไปฟังกันฟรีๆ ทั้งเล่ม โดยที่คุณ Chris เป็นคนอ่านเองด้วย หรือแจกหนังสือเล่มนี้กันฟรีๆ ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง (ต้องขอโทษด้วย ผมจำไม่ได้จริงๆครับ) แต่โดยรวมๆ ทั้ง The Long Tail และ Free เป็นหนังสือที่สนุก และเหมาะสำหรับคนที่ต้องการอัพเดทข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางการตลาด ในโลกอินเตอร์เน็ทได้เป็นอย่างดี

อีกเล่มหนึ่งที่จะข้ามไปไม่ได้ คือ The World is Flat ของ Thomas Friedman พอเขียนมาถึงตรงนี้ ผมถึงนึกได้ว่า หนังสือเล่มที่ดังต่อจาก The Tipping Point น่าจะเป็นเล่มนี้ แล้วถัดไปที The Long Tail คุณ Thomas เป็นคนที่เขียนหนังสือสนุกมากครับ อธิบายผลกระทบของอินเตอร์เน็ทเช่นกัน แต่ออกไปในมหภาคว่า ส่งผลให้โลกทั้งใบแบนราบ เอื้อให้ทุกประเทศและทุกคนสามารถแข่งขันกันได้หมด หนังสือเล่มนี้ ขายดีมากๆในระดับโลก และน่าจะด้วยเหตุนี้มั้ง คุณ Thomas ถึงได้แก้ไขและเพิ่มเติมอีกหลังจากที่ติพิมพ์ไปแล้ว อีก ๒ ครั้ง ถ้าไปสังเกตุดู จะเห็นเขียน The World is Flat 2.0 และ The World is Flat 3.0 เพื่อล่อให้ผู้อ่านซื้อใหม่อีก ผมได้อ่านเล่ม 2.0 เท่านั้น และที่น่าทึ่งกว่าการอ่านคือการได้ดูวิดีโอการพูดของคุณ Thomas ครับ แกเดี่ยวไมโครโฟนได้ ๑ ชั่วโมงเต็มแบบเฮฮา และเป็นธรรมชาติมากๆ ผลงานการเขียนของคุณ Thomas มีหลายเล่มนะครับ ดังๆทั้งนั้น เล่มล่าสุด Hot, Flat and Crowded ก็เป็นหนังสือดังเช่นกัน โดยอธิบายเรื่องของวิกฤติพลังงาน

ยังมีหนังสือดังๆอีกมากมายที่ผมไม่ได้อ่าน หรือที่อ่านแล้ว ก็หมดแรงที่จะเล่าในที่นี้ มีหลายๆเล่มที่ผมยังมีเก็บไว้ เพราะเป็นหนังสือที่ยังมีการพูดถึงในแง่ว่าสร้างปรากฏการณ์ได้แรงมาก เมื่อตอนที่ออกมาใหม่ๆ เช่น No Logo ของ Naomi Klein แต่ก็ยังไม่ได้อ่าน ก็เลยไม่สามารถบอกได้ว่าเนื้อหายังทันสมัยอยู่หรือเปล่า หลักๆของการเขียนบทความแนะนำหนังสือ ก็เพื่อการจุดประกายสำหรับคนที่อยากอ่าน แต่ไม่ทราบว่าจะอ่านเล่มไหนดี หวังว่า คงจะได้ไปหาอ่านกันบ้างนะครับ เจอกันตอนหน้า สวัสดีครับ

Backstage Team for the #GoTrainingLive

I would like to take this opportunity to record and thank all involved, on my parts, in helping the Go Training team for the Go Training Talk Live event on March 6, 2010.

Although the editor in chief of the Go Training magazine was my wife, Kanjana Hongsyok, but I was only responsibly for two tasks; firstly, acquiring the sponsorship from UIH, where I worked, and, secondly, making sure that the Live part work. The first task was relatively easy to handle, since I did get the OK sign from the president in 2009, so it was a matter of asking the corporate to extend their help for this year. That was not too hard.

The second task was the one that I was technically in charge. The whole event was live broadcasted  over the Internet at http://www.Beenets.com/live. In brief, we fed the on-site video and audio production onto an encoder, sent its output via the Kasetsart university Internet to Beenets.com server and streamed it from the server to anyone who would like to view it.

It went well with some hiccup along the way, which was somewhat expected since we were using the University Internet connection, which was shared across the campus. One of the presenter, Patchara (http://www.iPattt.com) even used his own blog to present his story, not relying on any prepared slides. Well, he got a glimpse of what it was like when shit did happen. For some unknown reason, the network internet dropped its signal while he was presenting the blog and that delayed the talk for some minutes. Fortunately, the awkward moment lasted temporarily and the Internet came back to normal. That affected the live broadcast as well. Well, it worked both way. Since people were watching over the Net, if a video feed suddenly froze, they would simply refresh their browser, oblivious to whatever went wrong.

I probably should describe a little bit of what the event was all about. Go Training was a monthly magazine, published by Training InfoMedia (http://www.TrainingInfoMedia.com). The magazine was about human development, targeting Human Resource professionals. The event was an annual event (this was the second time), having 6-to-7 interesting individuals to share their stories. Each speaker would have a one-word theme and expanding a story out of it. More information of the event could be found on the TrainingInfoMedia web site.

I would like to personally thank my backstage team,

  1. Aum (Twitter.com/Mr_Aum). The producer. He called me up just a day before the event and asked if I needed any help. He was well experienced in various events and concerts so his help was more than I could ask for. As it turned out, I could not thank him enough. He was making sure that all connections to the Live encoding computer worked as planned. His details to attention on video quality and sound check was meticulous.
  2. Wit (Twitter.com/SimplyWit). The Sound Engineer. I have lost counts how many times Wit has helped me out at Wawee coffee for the recording and live broadcast and on Changkhui recording and post-productions. He was really a “SOUND” man. For all the people I know, his attention to details on SOUND was second-to-none. This was a guy who paid a lot of attention to sound design, going over which equipment would be brought for an event and which gear should connect to which equipment. Most people would pay attention to what they saw or would see, rather what we heard or, even more important, what we would hear later on a recorded media. I have lost count on how many recordings that I wished I could go back in time and spend more time designing it. Wit unconsciously taught me that, but I would see how it should be done but, regrettably, never learn. You could see more of him at www.SimplyWit.net where he blogged regularly.
  3. Ford (Twitter.com/FordAntitrust). The IT/Network guy. A long-time listener of Changkhui, one of the earliest listeners and, really, a brother I never had. We were born on the same day but 14  years apart. I would always rely on him when I needed help on web/IT development. And on this occasion, though, I was pretty confident that everything that should have been prepared had been prepared, I still called him on the last minute notice and asked if he could come over as a backup and he did. Though nothing serious happened, but it was a good feeling just to see him there in the control room.

That was it for what I would like to say about the event, I simply wanted to thank the three men. We had been together on numerous occasions that we felt like a team now. This was one of the event that I would like to record it here. Once again, thank you very much.

I think the Go Training team would make a scoop out of the event and should do some justice for it than having me writing it here.

The Girl with the Dragon Tattoo โดย Stieg Larsson

หลังจากที่ไม่ได้อ่าน(หรือฟัง)นิยายมาหลายเดือน ผมก็เลือกเล่มหนึ่งมาอ่านจาก Audible.com ใช้เวลาเลือกอยู่นาน เพราะอยากจะฉีกไปจากนักเขียนเดิมๆที่ตัวเองชอบ เช่น ใน Series “Alex Delaware” ของ Jonathan Kellerman เพราะเริ่มจะเหลือให้อ่านไม่มากแล้ว จะกลับไปอ่าน Series “Alex Cross” ของ James Patterson ก็น่าจะต้องฟื้นเรื่องกันอีกนาน เพราะเล่มล่าสุดของ Alex Cross ที่ได้อ่าน ก็เกิน ๑๐ ปีไปแล้ว ก็เลยลองๆหาแถว Recommended Read หรือ Top 10 ของ 2009 มาอ่านดู เลือกๆที่น่าจะเป็น series ใหม่ๆบ้าง เสียดาย Harlan Coben เหลือเกิน เล่มที่สามในตระกูลของ Mylon Bolitar นั้น ผมพบว่า ตัวเอกมีตัวช่วยที่เก่งเกินเหตุ นางเอกก็สวยเกินบรรยาย จนผมเริ่มเดาๆทางได้ เลยไม่ได้อ่านอีก แต่ต้องบอกว่าหนังสือสืบสวนของ Coben ที่ไม่ได้ เป็น series นั้น ทำได้ดีทีเดียว เดายากมาก

เลือกไปเลือกมา ผมก็ตัดสินใจเลือก The Girl with the Dragon Tattoo ครับ ดูๆจากเรื่องย่อแล้ว น่าจะสนุก พอเริ่มอ่านคำวิจารณ์จาก Amazon.com และจาก Audible.com เอง ก็ดูท่าทางน่าสนใจ น่าจะใช้ได้ สรุปว่า สนุกครับ

เรื่องนี้เขียนโดยชาวสวีเดน และปูเรื่องให้เกิดขึ้นในสวีเดนเกือบทั้งหมด ทั้งชื่อคนและชื่อเมืองก็เลยจำยากพอสมควรในตอนต้น (โดนเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องฟัง แทนที่จะอ่าน) ตัวเอกของเรื่องไม่ได้มีแค่คนเดียว มากันเป็นคู่ แต่มาทีละคน เรื่องนี้ดีหน่อยที่ตัวเอกไม่ได้เป็นหนุ่มหล่อ สาวสวย ฉลาดหลักแหลม ทำอะไรเก่งไปหมด ตัวเอกฝ่ายชายเป็นนักหนังสือพิมพ์ (Journalist นะครับ ไม่ใช่ reporter) อายุก็เกิน ๔๐ ไปหลายปีอยู่ ไม่ได้บอกว่าเท่าไร พ่อม่ายลูกหนึ่ง ส่วนตัวเอกฝ่ายหญิง ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อเรื่องนี่แหละ เป็นพวกนอกคอก มีปัญหาทางบ้าน อยู่โรงเรียนก็ไม่มีใครเอาด้วย เรียนก็ไม่จบ รูปร่างก็ออกไปในแนวแกรน (ผอมบาง เหมือนโตไม่เต็มที่) หน้าตาก็ดูมีแนวโน้มว่าจะดี แต่ดันชอบแต่งตัวและมีบุคคลิกไปในแนวพังค์ ไม่สุงสิงกับใคร ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งทางกฏหมายให้มาดูอยู่เป็นระยะๆ

ในส่วนของเนื้อหานั้น เล่ามากไป ก็จะไม่สนุก แต่บอกคร่าวได้ว่า ตัวเอกได้รับการว่าจ้างให้มาสืบคดีหนึ่งซึ่งเป็นปริศนามากว่า ๔๐ ปี มีสาววัยรุ่นหายตัวไปจากตระกูลคหบดีในวันหนึ่งโดยที่ไม่มีใครทราบเลยว่า เธอหายไปไหน แต่ทุกๆปี เมื่อครบวันที่เธอหายตัวไป จะมีดอกไม้ลึกลับส่งมาหาคุณปู่ของเธอ โดยที่ไม่มีใครสามารถสืบหาได้ว่ามาจากที่ไหน ตัวเอกของเราต้องเข้ามาสืบเรื่องนี้ โดยที่ไม่ได้เต็มใจนัก แต่ก็ต้องรับเพราะมีข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธ (ต้องไปอ่่านเองครับ) เพื่อที่ว่า เมื่อเขาสิ้นสุดภาระกิจนี้ลง เขาก็สามารถนำสิ่งตอบแทนที่ว่านี้ไปดำเนินเรื่องส่วนตัวของเขาต่อไป

เมื่อเริ่มๆสืบไป เขาก็ต้องเดินทางไปรู้จักตัวละครในครอบครัวนี้ทีละคน แต่ละคนดูไม่น่าต้องสงสัยเท่าไรนัก แถมเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อน ทำให้สิ่งที่เขาพยายามถาม กลายเป็นเพียงความทรงจำเก่าๆ ภาพเก่าๆ ข้อมูลเก่าๆ ที่ไม่ไปไหน จนกระทั่งเขาต้องพยายามนำแต่ละ”ภาพ”มาต่อเป็น Jigsaw จริงๆ จึงจะทำให้เขาเริ่มเห็นเงื่อนงำบางอย่าง จนนำไปสู่บทคลี่คลายในที่สุด และเขาก็รู้ตัวว่ามาถูกทางแน่ๆ เมื่อเริ่มโดนปองร้าย และในท้ายที่สุด เมื่อเขาสามารถคลี่คลายปริศนาได้ ด้วยความช่วยเหลือของตัวเอกฝ่ายหญิง เขาก็ต้องทำหน้าที่คลายปมของตัวเองต่อจนจบ

ผมอ่านเล่มนี้จบด้วยความรู้สึกเดียวกับสมัยที่อ่าน Red Dragon ของ Thomas Harris แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่มีความโหดร้ายในระดับนั้นอยู่ แต่สิ่งที่ตัวละครในเรื่องประสบและนำมาเล่าให้ตัวเอกฟัง หรือจากที่เขาค่อยๆเดาได้เองนั้น ทำให้ผมนึกถึงเรื่องนั้นอย่างช่วยไม่ได้ เนื้อเรื่องใช้เวลาเดินทางตั้งแต่ต้นจนจบในส่วนของเนื้อหาหลักอยู่ที่ประมาณครึ่งปี และในหนึ่งในห้าของเรื่อง(ในช่วงสุดท้าย)นั้น กินเวลาอีกประมาณสามเดือน เพื่อคลาย sub-plot แต่เชื่อเหลือเกินว่า ทุกๆคนรู้สึกว่าเรื่องนี้มันจบไปตั้งแต่ Plot หลักจบไปแล้ว และส่วนของ Plot รองนั้น เนื้อเรื่องพอจะคาดเดาได้ ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก

ตัวเอกของเรื่องก็จะคล้ายๆนิยายสืบสวนทั่วไป มีคุณธรรม มีหลักการ คาดเดาได้ว่าจะเป็นอย่างไรจนน่าเบื่อ ดีอยู่หน่อยตรงที่ในหนังสือไม่ได้บอกว่าหน้าตาดีเท่าไรนัก น่าจะธรรมดาๆพอสมควร แถมยังได้นอนกับสาว (ทั้งใหญ่และสาวๆ)อยู่เป็นระยะ โดยที่เจ้าตัวไม่ต้องทำพยายามอะไรมากนัก (ทำไมเราไม่เจออย่างนี้บ้าง (วะ))

ส่วนตัวเอกฝ่ายหญิงสิที่ดูน่าสนใจ แน่ล่ะ ก็ขนาดว่าคนแต่งยังนำมาเป็นชื่อเรื่องนี่นา หน้าตาออกไปในแนวดูดี รูปร่างไม่ได้เรื่อง หลับนอนกับผู้ชายมาพอสมควร ไม่สุงสิงกับใคร ดูออกจะมีปัญหาด้าน EQ พอสมควร เก่งเรื่องคอมพิวเตอร์ในระดับเซียน IT คนหนึ่ง

จะว่าไปแล้วเรื่องนี้พลอตหลักสนุกนะครับ ผมเองคาดเดาอยู่ว่าตัวร้ายน่าจะเป็นใครได้ โดยไม่มีอาศัยข้อมูลอะไรเลย นอกไปจากว่า นิยายแนวนี้มักจะปล่อยผู้ร้ายเร็ว และปะปนกับตัวละครอื่นๆจนดูไม่น่าสงสัย ก็เลยเดาๆไว้ แต่เนื้อเรื่องก็ยังสนุกอยู่ดี ถ้าจะให้ดี ตัดพลอตหลังตอนท้ายๆออกไปก็ได้ ไม่เห็นจะจำเป็นเท่าไรเลย

พออ่านเรื่องนี้จบ ผมก็เลยลองทำความรู้จักกับ series นี้มากขึ้น ถึงพบว่า เรื่องนี้ดังขึ้นมาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ประพันธ์เสียชีวิตในวัย ๕๐ ต้นๆ ก่อนที่เรื่องนี้จะได้รับการตีพิมพ์ด้วยซ้ำ ทำนองว่า สำนักพิมพ์รับเรื่องแล้ว รอพิมพ์ออกมาขาย แต่เขาก็ตายเสียก่อน โดยที่เจ้าตัวตั้งใจไว้ว่าจะเขียน ๑๐ เล่ม โดยก่อนตาย เขาเขียนตอนที่หนึ่งถึงสามจบแล้ว และเขียนโครงย่อๆของสี่กับห้าไว้

คุณ Stieg Larsson (ผู้เขียน)เป็นนักหนังสือพิมพ์ครับ ทำนองว่าออกไปในแนวสวนกระแสหรือถ้าเป็นบ้านเราก็น่าจะแนว “ประชาไท” พอว่างจากงาน ก็เลยมาเขียนหนังสือ แต่เสียดายไม่ได้มาเห็นความสำเร็จของตัวเอง หนังสือเล่มแรกดังมาก (ปี 2005) และเมื่อเล่มสองออกมา (The Girl Who Played with Fire) ก็ดังขึ้นไปอีก จนถึงเล่มสามก็ยังดังไม่เลิก จนในที่สุด ก็มีคนทำเรื่องแรกออกมาเป็นหนัง(ในสวีเดน) เมื่อปี 2008 ก็ปรากฏว่า ทำเงินถล่มทลาย จนต้องทำภาคสองและสาม ออกมาไล่ๆกัน (คล้ายๆกับเรื่อง Lord of the Ring) เมื่อปลายปีที่แล้ว (2009) และต้นปีนี้เอง ไม่ใช่แค่ดังในสวีเดนนะครับ เข้าใจว่าทำเงินทั้งยุโรป จนมีข่าวว่าทาง Hollywood กำลังจะซื้อลิขสิทธิ์ไปทำบ้างแล้ว ผมลองไปหา Movie Trailer ของฉบับสวีเดนดูแล้ว ชอบ casting จังเลย หน้าตาตัวละครแต่ละคนที่เลือกมา ช่างไปกันได้ดีกับตัวหนังสือจัง ผู้ชายก็หน้าตาจืด ประเภทว่า กินข้าวเที่ยงด้วยกันแล้ว เจอกันอีกทีวันรุ่งขึ้น ยังอาจจะจำหน้าไม่ได้เลย ส่วนตัวนำฝ่ายหญิงนั้น ก็ดูเฉี่ยวดี แต่ยังไม่เห็นรูปร่างน่ะ

วันนี้ได้มีโอกาสไปเดินดูหนังสือที่ Kinokuniya และ Asia Book ถึงได้เห็นว่า เล่มที่สาม The Girl Who Kicked the Hornets’ Nest
ติดอันดับหนังสือขายดีในบ้านเราด้วย และพอมองลงมาล่างๆ ถึงได้เห็นว่า เล่มหนึ่งและสองก็ติดอันดับขายดีด้วยเช่นกัน

เสียดายที่คุณ Stieg Larsson ไม่ได้มีโอกาสได้เห็นความสำเร็จนี้ มิหนำซ้ำ จาก Wikipedia ยังมีคนเขียนว่า เนื่องจากคุณ Stieg แกไม่ได้จดทะเบียนกับภรรยา และกฏหมายของสวีเดนเอง ระบุว่า ถ้าไม่ได้จดทะเบียน ก็ให้หาหลักฐานว่า เคยอยู่ด้วยกันมาก็ได้ แต่เนื่องจากแกเป็นสื่อในแนวที่ไม่เป็นมิตรกับสื่อหลักเท่าไรนัก ทำให้แกปกปิดที่อยู่ของแกไว้ ก็เลยไม่มีหลักฐาน เลยทำให้ผลแห่งลิขสิทธิ์การเขียนตกลงไปอยู่กับพ่อแม่พี่น้องของแกเอง ไม่ทราบเหมือนกันว่า เรื่องนี้ลงเอยอย่างไร

ว่าแต่ว่า ตอนนี้ ผมเลือกเล่มสอง The Girl Who Played with Fire มาฟังต่อแล้วล่ะ อยู่ใน iPod ผมแล้ว ตั้ง ๑๘ ชั่วโมงแน่ะ แซงหนังสือและ  Audio book เล่มอื่นๆไปหมดเลย ไว้ฟังจบแล้ว ถ้าสนุกจะกลับมาเล่าใหม่นะครับ