๕ ชอบ ๕ ไม่ชอบ ปี ๒๕๕๓

๕ ชอบ
๑) iPad
ชอบ โดยเฉพาะเวลาเดินทาง จะดูหนัง หรือโชว์สไลด์ให้ลูกค้าดู ลูกๆก็ชอบมากเหมือนกัน (ในตระกูล Gadget ของปีนี้ ชอบหลายชิ้น แต่ชิ้นนี้ ใช้งานมากที่สุด)

๒) การทำรายการวิดีโอ
ทำลายกำแพงในใจที่มีมาตั้งนาน จับๆลูบๆคลำๆกล้องวิดีโอแบบกล้าๆกลัวๆมาสัก ๖ เดือน แล้วก็ตัดใจ ลองดู แน่นอนว่า เสียเวลาทำ post-production มากกว่าเดิมมากๆ แต่ก็เป็นการเรียนรู้อะไรใหม่ๆที่สนุกและนำมาประยุกต์กับงานประจำได้ด้วย คิดว่า คนฟังก็น่าจะชอบเหมือนกันนะ แม้จะโหลดนานขึ้นก็เหอะ (เข้าข้างตัวเอง)

๓) ฟังเพลงมากขึ้น รู้จักวงใหม่ๆมากขึ้น
ตั้งแต่รู้จัก #iHear ก็ทำให้รู้จักเพลงใหม่ๆมากขึ้น แม้บางวงจะดังมาหลายปีแล้ว อย่าง Body Slam, Scrubb หรือ Mild แต่ก็ไม่เคยฟังเพลงใหม่ๆสักที ปีนี้เริ่มรู้จัก Calorie Blah Blah, ลุลา, Body Slam, Ganesha, Groove Rider, Stamp และ Mellow Motif (ทำไมไม่ใช้ชื่อไทยกันบ้างหว่า) รวมทั้งวงเก่าๆที่รู้จัก (ด้วยอารมณ์คิดถึงความหลัง) อย่าง Crowded House ก็มีชุดใหม่ออกมา เพื่อนๆก็หา Naoya Matsuoka มาให้ด้วย

๔) พาลูกไปภูเก็ต
คิดถูกที่ตัดสินใจลางาน ๑ สัปดาห์ ช่วงวันแรงงาน ขับรถพาลูกไปเที่ยวทะเล ก่อนที่จะเปิดเทอม สงสารลูก ที่มีเราเป็นพ่อ โกงเวลาเสาร์อาทิตย์ มาจัดงานอดิเรก แทนที่จะเล่นกับพวกเขา แถมยังเอาเงินที่พวกเขาน่าจะได้ใช้ มาซื้อของเล่นพ่อซะนี่ พอเห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแล้วก็ชื่นใจ เด็กๆมีความสุข ตัดต่อวิดีโอเก็บไว้ดูเล่นๆ อยู่กัน ๓ คนพ่อลูก ต่อไป พวกเขาคงจำไม่ได้แล้ว เพราะยังเด็กเกินไป แต่เชื่อว่า ความทรงจำนี้ยังอยู่กับพ่อไปตลอดชีวิต

๕) งานเลี้ยง ๔ ปี ช่างคุย
เป็นความสุขที่ทำพอดคาสท์ และอบอุ่นกับมิตรภาพที่ได้รับทั้งจากทุกๆคน ยังชอบคิดว่า “เดี๋ยวเราก็ตายแล้ว อยากจะทำอะไร ก็ทำๆไปเถอะ” อยู่เลย คืนนั้น เมามาก ชอบไวน์และเบียร์ แม้จะตั้งใจไม่ซื้อมา แต่ก็มีคนนำเบียร์มาให้จนได้ ไม่ทราบว่า คนอื่นรู้สึกอย่างไร แต่คนจัดสนุกมาก ก็ถ้าทำรายการ เพราะอยากทำ จะจัดงานเลี้ยง เพราะกูอยากสนุก คงไม่มีใครว่าอะไรมั้ง แต่ปีหน้า (ถ้าจัดอีก) เก็บเงินแล้วนะ 😛

๕ ไม่ชอบ

๑) การจัดการปัญหาวิกฤติโดยภาครัฐ
วิกฤติการเมือง ก็แก้ไม่ได้ วิกฤติภัยธรรมชาติ ก็พึ่งไม่ได้อีก ดูๆแล้ว อดีตนายกฯหลายๆท่าน ที่มีที่มาอย่างผิดคาดหรือไม่หวังอะไรเลย ยังดูจะให้ความหวังในการแก้ปัญหาได้มากกว่านายกที่มาจากการคาดหวังของคนทั้งชาติคนนี้เสียอีก เสียดาย แม้จะคิดว่า คุณอภิสิทธิ์ก็คงทำเต็มที่แล้วในข้อจำกัดที่มีอยู่ คนในประเทศทะเลาะกัน ที่ไหนก็มี ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ไหนก็มีเหมือนกัน วัดฝีมือคนจัดการจริงๆ

๒) 8520
แค่เขียน ก็หงุดหงิดแล้ว ไม่พูดถึงมากดีกว่า เซ็ง อยากได้เครื่องอื่นหรือรุ่นอื่นมาแทน แต่ก็ไม่เคยเจอเครื่องถูกใจ iPhone4 ก็แพงเกินไป

๓) ที่นอน
ลูกคนโตแย่งที่นอนพ่อ ลูกคนเล็ก ขึ้นไปนอนบนเตียงกับแม่ พ่อเลยโดนถีบกระเด็นไปนอกห้อง จนป่านนี้ แต่ละคืน ยังไม่รู้เลยว่า จะนอนตรงไหนของบ้านดี 😛

๔) สื่อโทรทัศน์ในเมืองไทย
ถึงขนาดว่า มีคนเสียชีวิต โทรทัศน์ทั่วไป ก็ยังมีละครและเกมส์ตามปกติ ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ข่าวคลิปตุลาการ ก็แทบไม่เห็นในสื่อ ข่าวอ่องซานซูจีและเลือกตั้งในพม่า ก็คงมองหน้ากัน แล้วหาไม่เจอว่า จะมีใครเล่าเรื่องข่าวต่างประเทศแบบไม่ต้องดูโพย และน่าเชื่อถือ ไม่น่าหมั่นไส้บ้าง ข่าวน้ำท่วม ก็ดูจะเกาะข่าว Twitter อยู่ในที แต่พอดูว่า โทรทัศน์แต่ละช่อง อยู่ในการอำนาจของใคร ก็พูดไม่ออกเหมือนกัน

๕) เวลาที่ให้กับลูก ต่อเนื่องจากที่ชอบหัวข้อที่สี่ อีกไม่นาน ลูกๆก็จะโตเกินเราอุ้ม เข้าสู่วัยรุ่น และมีโลกส่วนตัวของตัวเองมากขึ้น แค่คิด ก็ใจหายแล้ว อยากให้เวลามากกว่านี้ แต่พอสอนการบ้านทีไร อารมณ์เสียทุกที ไม่ได้อย่างใจ เรื่องนี้ ต้องปรับปรุงตัวเอง

เรื่อง 3G ไม่นับ เพราะคิดว่าอยู่ใกล้ๆกับ ข้อ ๔ ของไม่ชอบไปแล้ว

ไม่มีทางลัด

๑) “พอเว็บสนุก (Sanook.com) ขายให้กับกลุ่ม MWeb ได้ (เมื่อปี ๒๕๔๒) กลายเป็นกรณีตัวอย่างแรกของเมืองไทย ก็มีคนเชิญผมไปคุยเยอะเลย เพราะดูแล้ว เว็บผม (Tarad.com, Thaisecondhand.com) น่าจะเป็นรายต่อไป บางที่ ผมเข้าไปแล้วตกใจ มีผู้บริหารกว่า ๓๐ คน นั่งรอผมอยู่ พอผมพูดจบ ถามผมกันใหญ่เลย business model เป็นอย่างไร ต้องใช้ CapEx เท่าไร ต้องมี OpEx เท่าไร Break-even เท่าไร ผมไม่รู้เรื่องเลย บางคำถาม ผมยังนึกในใจเลยว่า กูจะไปรู้ได้ยังไงวะ พอประชุมเสร็จ ยังมีพี่ท่านหนึ่งเดินตามออกมา แล้วก็อธิบายให้ฟังว่า แต่ละเทอมคืออะไร สำคัญอย่างไร นอกจากนี้แล้ว ยังมีเจ้าของกิจการใหญ่ของประเทศรายหนึ่ง เรียกผมไปคุย พอพรีเซ็นท์งานเสร็จแล้ว ท่านก็เรียกมานั่งข้างๆ สาธยายใหญ่เลยว่า บริษัทในเครือของท่าน มีอะไรบ้าง ใหญ่โตขนาดไหน เสร็จแล้ว ก็ขมวดปมตอนท้ายว่า ท่านสนใจจะซื้อบริษัทผม แต่ขอแลกเป็นหุ้น ผมนึกในใจว่า งั้นผมก็กินแกลบน่ะสิ ว่าแล้ว ก็ยกมือไหว้ลาไป ที่แปลกที่ีสุด คือมีคนญี่ปุ่น ๒ คนมาเคาะประตูบริษัท มาแบบไม่รู้จักกันมาก่อน หลังจากที่พูดคุยกันแล้ว ก็สรุปได้ว่า เขาสนใจจะนำเงินมาลุงทุนให้ผม ๑ ล้าน จะเอาไปทำอะไรก็ได้ ซึ่งตอนนั้น ผมก็ปฏิเสธไป เพราะนึกไม่ออกว่า จะนำเงินก้อนนั้นไปทำอะไร อ้อ ลืมบอกไป ๑ล้านนั้น คือ ๑ ล้านเหรียญสหรัฐนะครับ ซึ่งค่าเงินตอนนั้น ก็อยู่ที่ ๔๐ ล้านบาท”

“จากนั้น ผมก็มาลองเปิดร้านขายของจริงๆ เช่าพื้นที่ในตึกฟอร์จูน เปิดร้านขายของมือสอง คิดว่า มันก็เข้าท่าดี สอดรับกับธุรกิจหลักของเว็บเรา (ThaiSecondHand.com) แล้วก็มีนิตยสาร นำสินค้ามาลง ทำหมดทั้งสามอย่าง น่าจะไปได้ดี แต่ก็พบว่า เจ๊งครับ สุดท้ายเหลือแต่เว็บที่เรามาตั้งแต่ต้น แต่ก็ไม่เคยนึกเสียใจ เพราะอย่างน้อย เราก็ได้ลองแล้ว”
จากบทสัมภาษณ์ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ในรายการ ช่างคุย ตอน ๑๘๗ – ๑๘๘ เว็บช่างคุย.คอม ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๓

๒) “ผมก็ยังสงสัยนะ เพราะว่า พอถามว่า เขาจะไปขยายการลงทุนที่ไหน เขาก็ยังไม่อยากตอบ หรือว่า ยังไม่มีคำตอบ ก็ไม่รู้”
“แล้วคาดว่า เขาจะมีรายได้ประมาณเท่าไรล่ะครับ”
“น่าจะประมาณ xxx ล้านบาทต่อปีนะ แต่เงินที่ได้จากการระดมทุน ก็น่าจะประมาณ xxxx ล้านบาทแล้ว”
“แล้วมันจะพอเหรอ”
“นั่นสิ ถ้ามองว่า ต้องเอาเงินไปทำอะไร ก็ต้องบอกว่า พอ แต่ถ้ามองคู่แข่งรอบๆ ก็ต้องบอกว่า ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบนัก”
“ค่า P/E เท่าไร EBITDA ล่ะ แล้ว จะมีโอกาสที่สินค้าที่เขาผลิตอยู่นี่ จะมีอะไร หรือเทคโนโลยีใหม่ มาแทนที่ไหม”
….
จากบทสนทนาที่ผมอยู่ในวงสนทนาด้วยระหว่างผู้สนใจลงทุนในบริษัทใหม่ กับ ผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน

สองบทสนทนาข้างต้น เป็นบทสนทนาที่ผมอยู่ในวงสนทนาทั้งคู่ บทสนทนาแรกเป็นการพูดคุยกันในรายการพอดคาสท์ช่างคุย (Changkhui.com) ที่ผมจัดเอง คุณภาวุธ ตอบคำถามแบบตรงไปตรงมามาก และหลายๆคำตอบ ก็ตรงใจผมพอสมควร คงต้องเล่าให้ฟังก่อนมั้งว่า คุณภาวุธ คือผู้ก่อตั้งเว็บไซด์ซื้อขายของออนไลน์ Tarad.com (ตลาด.คอม) ที่ติดอันดับต้นๆของประเทศนี้ สำหรับคนที่ท่องเที่ยวตามเว็บ social network ต้องได้เคยผ่านตาเขามาบ้าง

ทั้งสองบทสนทนานั้น เกิดขึ้นห่างกันไม่เกิน ๑ สัปดาห์ ผมฟังแล้ว ก็ยังรู้สึกว่า มองกันคนละมุมจริงๆ อดนึกถึงเมื่อตอนที่เราต้องกู้เงินธนาคาร เพื่อทำโรงแรม คำถามของเจ้าหน้าที่การเงิน แทบจะไม่ต่างจากบทสนทนาที่สอง เพียงแต่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวคุยกับผม (ซึ่งเป็นผู้ลงทุน)โดยตรง ในฐานะของคนที่เริ่มประกอบการแล้ว (ทำธุรกิจหอพักเล็กๆ และดูแลบริษัทให้เพื่อนของผมเอง ในขณะนั้น) ทำให้ผมอดรู้สึกแปลกๆต่อคำถามเหล่านี้ไม่ได้ พนักงานธนาคารที่ได้รับเงินเดือนประจำ ทำไมถึงเก่งกล้าขนาดว่าจะประเมินธุรกิจของผู้ประกอบการอิสระ(ที่มีประสบการณ์แล้ว)ได้เชียวหรือ พอมาคุยกับคุณภาวุธ ผมก็อดยิ้มไม่ได้ เจ้าตัวก็โดนเหมือนกัน ผมเองก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า ผู้บริหารกว่า ๓๐ คนนั้น ปัจจุบันอยู่ที่ไหนกัน ในขณะที่ Tarad.com กลายเป็นธุรกิจข้ามชาติไปแล้ว

มีหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า Reality Check เขียนโดยคุณ Guy Kawasaki แนะนำการเริ่มต้นธุรกิจที่เข้ากับสถานะการณ์เหล่านี้ได้ดี คุณ Guy เป็นคนอเมริกัน เชื้อสายญี่ปุ่น มีชื่อเสียงเมื่อสมัยทำงานอยู่ Apple ในแง่คนที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี ปัจจุบัน เขาเป็น Venture Capitalist นั่นคือ ลงทุนบริษัทต่างๆที่ดูมีอนาคต โดยแลกเป็นหุ้น และเมื่อบริษัทเหล่านี้ประสบความสำเร็จ เขาก็จะสามารถทำกำไรได้จากหุ้นที่ตัวเองถืออยู่

ก็แน่นอนว่า เมื่อเป็นคนมีเงิน และบ่งบอกตัวเองชัดเจนว่า มีอาชีพลงทุน ดังนั้นในแต่ละวัน เขาจะได้ฟังเรื่องราวของผู้ประกอบการหลายคน และเกือบทุกคนมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือมาขอเงินนั่นเอง เมื่อฟังไปหลายๆครั้ง เป็นปีๆ จากเดิมที่เขียนแนะนำใน Blog ของเขา (http://www.GuyKawasaki.com) เขาก็เลยนำมารวบรวม พิมพ์ออกมาเป็นเล่ม ด้วยเหตุที่ว่า พอเป็น Blog แล้ว บทความเก่าๆ มักจะตกหล่น หาลำบาก สู้พิมพ์ออกมาเป็นเล่มไม่ได้

ผมอ่านผ่านๆตา แม้จะซื้อมาแล้วสองสามปี แต่ก็ไม่มีสมาธิที่จะอ่านให้จบ ทั้งๆที่พบว่า เขาเขียนหนังสือได้อ่านง่ายมาก และหลายๆคนที่เขาเชิญมาคุย เพื่อนำมาเป็นบทสัมภาษณ์ในหนังสือนั้น ผมเองก็พอรู้จักหรือเคยอ่านหนังสือของคนเหล่านั้นบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น คำแนะนำอย่างหนึ่งของเขาที่ผมชอบมากคือ คุณไม่ควรใช้สไลด์เกิน ๑๐ แผ่นในการคุย ทั้งนี้ เพราะ venture capitalist นั้น ผ่านการคุยมาหลายต่อหลายคนแล้ว แต่ละวัน ก็ต้องฟังคนใหม่ๆตลอด สิ่งที่น่ารำคาญคือ อารัมภบทและสไลด์ห่วยๆที่ไม่ควรเสียเวลาทำ หรือนำมาแสดงให้ดู ว่าแล้วคุณ Guy ก็เชิญคุณ Garr Reynolds ผู้เขียน Presentation Zen และ Presentation Zen Design มาคุย แล้วก็ลงบทสนทนา หรือ เมื่อในการเล่าเรื่องราวแผนธุรกิจที่คุณจะนำเสนอ ก็ควรมีเรื่องหรือประเด็นที่แตกต่างออกไปในการเล่า โดยเชิญผู้เขียนหนังสือ Made to Stick คือ พี่น้อง Chip and Dan Heath มาคุย

ประเด็นที่ผมติดใจจากการบทสนทนาข้างต้นทั้งสอง และจากหนังสือ reality check นั้น คือ การที่เราเดินไปข้างหน้า โดยไม่โกหกตัวเอง และผู้ลงทุน คุณ Guy ชี้หลายๆจุดที่ผู้ประกอบการมือใหม่ มักพยายามลืมๆมันซะ หรือเลี่ยงที่ไม่พูดถึง และคิดว่า ไม่น่าจะมีใครรู้ เขาไล่ตั้งแต่การหาเงินทุน การทำตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจ้างงาน การขาย การสื่อสาร จนกระทั่งถึงการทำงาน หลายๆหัวข้อเรียกรอยยิ้มได้ ตั้งแต่ยังไม่ได้อ่านเรื่อง เช่น Top10 สิ่งที่นักลงทุน(ตัวเขาเอง)มักจะโกหก Top10 สิ่งที่ CEO มักจะโกหก หรือสิ่งที่วิศวกรมักจะโกหก

บทสนทนาของคุณภาวุธ นอกจากจะทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มนี้แล้ว ยังอดนึกไปถึงบทสัมภาษณ์”เถ้าแก่น้อย” อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ ในงานสัมมนาของประชาชาติธุรกิจไม่ได้ (ลองดูที่เว็บช่างคุย.คอม รายการ ช่างคุยกับหนุ่มเมืองจันท์ ตอนที่ ๑๕ – ๑๗) ทั้งสองคนนี้ เป็นเรื่องราวของผู้ลงทุนรายใหม่ ที่จริงๆแล้ว แนวทางแทบจะไม่แตกต่างกัน แม้จะคนละธุรกิจ แต่เส้้นทางในตอนต้น ก็ต้องลำบากมาด้วยกันทั้งนั้น

บทความบทนี้ เป็นบทความสุดท้ายแล้วที่ผมจะเขียนให้นิตยสาร Go Training ก็เลยอยากจะยกตัวอย่างของคนที่เริ่มต้นทำธุรกิจว่า ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และต้องรับฟังความเห็นของคนอื่นๆที่อยู่รอบๆข้าง สิ่งที่เขาคุยกันเมื่ออยู่ลับหลัง (บทสนทนาที่สอง) และหลุมพราง อุปสรรค์ที่ทุกคนต้องเจอ โดยใช้ Reality Check เป็นคู่มือ ตามเท่าที่ผมจะพอแนะนำได้

ใครจะไปนึกครับว่า แค่ปี ๒๕๕๓ ปีเดียว คนไทยเราจะได้เจอเหตุการณ์คนในชาติ รบกันเอง เมื่อเดือนพฤษภาคม เจอปัญหาเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทแข็งตัว และขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ เราก็เจอเหตุการอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบสิบปีเลยทีเดียว ลองศึกษาจากบทเรียนคนอื่น หาทางประยุกต์ และอย่าประมาทเด็ดขาด เส้นทางสู่ความสำเร็จ ไม่มีทางลัดครับ สวัสดีครับ