อายุก็ไม่ใช่เป็นเพียงตัวเลข

เขียนให้ Go Training ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๕๑

เคยเขียนไปครั้งหนึ่งแล้วว่า Peter Drucker ปรมาจารย์ทางด้านการจัดการ (management) เคยเขียนไว้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจ คือ “เวลา” หรือ “Time” มันมาแล้ว มันก็ไป เก็บไม่ได้ แบ่งปันไม่ได้ ขอกลับมาก็ไม่ได้ ถ้านำเรื่องนี้มาประยุกต์ใช้กับชีวิตการทำงาน ผมคิดว่า มันน่าจะนำหมายถึงโอกาส หลายๆคนยอมทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสนั้นๆ ตำแหน่ง หน้าที่การงานยังไม่สำคัญเท่ากับโอกาส แต่จะมีอยู่สักกี่คนที่เห็นโอกาสที่ว่า และสามารถพลิกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

ตัวอย่างมีเยอะแยะมากครับ ที่หาอ่านได้ทั่วๆไป ก็อย่างตอนที่เศรษฐกิจตกสะเก็ด จะมีใครเห็นโอกาสในการเปิดบุฟเฟอาหารญี่ปุ่น คนละ ๕๐๐ บาทบ้าง นอกจากคุณตัน ภาสกรนที หรือ จะมีสักกี่คนที่เห็นโอกาสทางธุรกิจ เมื่อได้เจอร้านกาแฟเล็กๆในเมือง Seattle และสามารถแปลงมันมาเป็น Starbucks ได้จนถึงทุกวันนี้ นอกจากคุณ Howard Schultz (แม้ว่า จะประสบปัญหาในปัจจุบัน แต่ก็เป็นคนละประเด็นกัน)

ที่จริงแล้ว พวกเราทุกคนก็ทำหน้าที่สร้างโอกาสให้กับตัวเองตั้งแต่เด็กๆแล้วล่ะครับ เราทำกันโดยไม่รู้ตัว นั่นคือการเรียนหนังสือไงครับ การศึกษาไม่ได้รับประกันอนาคตข้างหน้าว่า จะประสบความสำเร็จ แต่การศึกษาคือการเพิ่มโอกาสให้กับชีวิต เปลี่ยนอัตราต่อรอง หรือเพิ่มความน่าจะเป็นขึ้นมาว่า ถ้าเรามีการศึกษาดี เราน่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น การได้เข้าสู่สถานศึกษาที่ดีมีชื่อเสียง ก็เป็นการเพิ่มโอกาสเหล่านี้ไปในตัว เพราะเรามีโอกาสได้พบปะสังสรรค์ผู้คนมากขึ้น เพิ่มโอกาสให้กับตนเองในวันข้างหน้า  แต่ก็นั่นแหละครับ มันเป็นเพียงเพิ่มโอกาสเท่านั้น ไม่ได้เป็นการรับประกันความสำเร็จ ทุกคนคงต้องหาเอาเองว่า โอกาสนั้นมาแล้วหรือยัง บ่อยไปที่มารู้สึกในภายหลังว่า โอกาสที่ดีที่สุดได้ผ่านไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน หลายๆคนก็มองเห็นโอกาสนั้น ตั้งแต่ก่อนที่จะจบการศึกษาด้วยซ้ำ ในโลกยุคดิจิตอล ไม่มีตัวอย่างไหนดีเท่า Bill Gates แห่ง Microsoft และ Steve Jobs แห่ง Apple ไม่จบปริญญาตรีทั้งคู่ แต่ก็ยอมกระโดดหาโอกาสนั้น เมื่อเห็นว่า มันมาถึงแล้ว และไม่มีความจำเป็นต้องรออีกต่อไป

แต่โอกาสเหล่านั้น ดูจะจำกัดเหลือเกินในหลายๆอาชีพ เช่น กีฬาอาชีพในหลายๆสาขา เพราะโอกาสเหล่านี้มันดันไปผูกพันกับอายุ นักฟุตบอลอาชีพมีโอกาสหรืออายุในการใช้งานไม่น่าเกิน ๒๐ ปี (๑๗ ถึง ๓๗ ปี) จากนั้น ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว ที่จะมีโอกาสได้เล่นอย่างเต็มที่อีก นอกจากกอล์ฟแล้ว กีฬาอาชีพในโลกนี้ แทบจะไม่เหลือที่ให้ผู้สูงอายุได้เล่นเลย แต่ก็นั่นแหละ เมื่อเวลามีให้น้อย ธุรกิจก็ตอบแทนด้วยค่าตอบแทนที่สูงลิบ ถ้าทำได้ดีจริงๆ David Beckham, Michael Jordan, Tiger Woods และ Roger Federer เป็นตัวอย่างของคนที่ไปได้ถึงจุดที่สูงที่สุดจุดนั้นจริงๆ แต่ในวงการนักกีฬาอาชีพ ในช่วงอายุการใช้งานที่ค่อนข้างสั้น เมื่อเทียบกับอาชีพอื่น จะมีอยู่สักกี่คนที่ทำได้ขนาดนั้น เชื่อเหลือเกินว่า คงมีนักกีฬาอาชีพหลายๆท่านที่เลิกเล่นไปแล้ว มีความรู้สึกว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะวางแผนการดำเนินชีวิตใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเล่น การดูแลสุขภาพ และการใช้เงิน แต่ก็นั่นแหละครับ หลายๆคนมารู้สึกตัวเมื่อโอกาสนั้นได้ผ่านไปแล้ว

แล้วพวกเราที่เป็นมนุษย์เงินเดือนอาชีพล่ะ จะว่าไปแล้ว วงจรชีวิตการทำงานก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ช่วงเวลาใช้งานจะยาวกว่า แต่คงต้องยอมรับกระมังครับว่า โอกาสที่เราได้รับกับอายุ มักจะผกผันกัน เมื่อเราอายุมากขึ้น เราจะมีโอกาสในการพิสูจน์ฝีมือน้อยลง ผมขอตั้งข้อสังเกตุของตัวเองเกี่ยวกับอายุไว้ว่า ดังนี้ครับ

  • ช่วงอายุ ๒๐ ปีถึง ๓๐ ปีเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ สร้างความชำนาญเฉพาะทาง มองหาทิศทางของตัวเอง
  • ช่วงอายุ ๓๐ ปีถึง ๔๐ ปีเป็นช่วงสั่งสมประสบการณ์ บารมี และสร้างเนื้อสร้างตัว
  • ช่วงอายุ ๔๐ ปีถึง ๕๐ ปีเป็นช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด
  • ช่วงอายุ ๕๐ ปีถึง ๖๐ ปีเป็นช่วงที่อยู่บนฐานที่ได้สร้างไว้ในช่วงที่แล้ว

เวลาไปที่ทำงาน ไปหาสถานที่ประกอบการอื่นๆ ไปหาลูกค้า ผมมักจะพบคนอายุ ๒๐ กว่าปี จนถึง ๓๐ กว่าปีเป็นส่วนใหญ่ คนที่มีอายุมากกว่านี้ ก็พอเห็นอยู่บ้าง แต่เป็นจำนวนที่น้อยจริงๆ ลองหางานตอนอายุ ๔๐ สิครับ คุณจะพบว่า คุณได้รับโอกาสน้อยกว่าตอนอายุ ๓๐ หลายเท่านัก

แต่เรามีทางเลือกนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโอกาส หาโอกาส หรือ รอโอกาส ทางเลือกเหล่านี้มักจะเปิดเสมอ ขึ้นอยู่กับว่า เราเป็นคนประเภทไหน คนที่เป็นนักประกอบการ ไม่อยู่เฉย มักจะ สร้างโอกาส คนที่มีความสามารถมักจะหาโอกาส และคนส่วนใหญ่มักจะรอโอกาส ผมไม่อยากจะใช้คำที่แรงนักสำหรับนักรอโอกาส เพราะมีหลายๆคนที่ต้องบอกว่า ต้องรอโอกาส หรือต้องให้เวลากับพวกเขาจริงๆ แต่หลายๆคนที่เหลือในกลุ่มนี้น่าจะไม่ใช่

ประเด็นที่เขียนนี่ ก็เพียงอยากบอกว่า โอกาสเนี่ยสร้างได้นะครับ ยิ่งเมื่อมีอายุมากขึ้น ทางเลือกในการเดินของเราอาจจะลดลง แต่ถ้าเราเป็นคนสร้างโอกาสเองเนี่ย อายุอาจจะไม่ใช่อุปสรรค หลายๆคนบ่นเสียดายโอกาสในการเรียนเมื่อสมัยยังเด็ก แต่หลายๆคนก็ใช้ความเสียดายนี้ไปเรียนหนังสือแทนในตอนโต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนปริญญาตรีเพิ่มเติม เรียน MBA หรือเรียนเพิ่มเติมความรู้เฉพาะทางอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง ยิ่งหลายๆคนเห็นว่า ด้วยพื้นฐาน หรือความชำนาญที่มีอยู่ น่าจะเป็นอุปสรรคในความก้าวหน้าทางอาชีพ แทนที่จะรอโอกาสที่จะได้รับการหยิบยื่นจากองค์กร ก็ตัดสินใจออกไปดำเนินกิจการของตัวเองเลย เพื่อสร้างโอกาสใหม่ อันนี้สิครับ เก่งจริง ถ้าใครได้มีโอกาสอ่านประวัติของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี (เจ้าของเบียร์ช้าง แม่โขง แสงโสม  และอื่นๆอีกมาก) ก็จะเห็นได้ว่า ท่านเป็นคนที่มองเห็นโอกาสและกล้าที่ก้าวไปคว้ามันมาจริงๆ เชื่อว่า หาอ่านได้ไม่ยากครับ (ผมเอง อ่านจาก “ตำนานชีวิตเจ้าสัว” ๕๕ ตระกูลดัง ภาค ๒ สำนักพิมพ์เนชั่น)

เห็นการใช้ชีวิตของน้องๆหลายๆคน ทั้งที่เป็นรู้จักเป็นการส่วนตัว รู้จักผ่านทางรายการพอดคาสท์ที่ผมจัด หรือในที่ทำงานที่ผมทำประจำอยู่แล้ว ผมอดเป็นห่วงไม่ได้ หลายๆคนไม่ได้ใช้โอกาสที่ได้รับ ไม่ว่าจะมองไม่เห็น หรือเห็นแต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ เสียดายแทนครับ

อาจจะนอกเรื่องสักนิด แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด นักธุรกิจท่านหนึ่ง ประกอบกิจการอาบอบนวด เป็นธุรกิจด้านมืดของสังคม มีเหตุให้ต้องขึ้นข่าวหน้าหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่า มีส่วนในการส่งคนเข้ารื้อถอนสถานที่บนถนนสุขุมวิทอย่างอุกอาจ กลับสามารถพลิกวิกฤติให้กลายมาเป็นโอกาส จนทำให้นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ได้มีตำแหน่งในแวดวงการเมืองได้อย่างไม่น่าเชื่อ และมีทีท่าว่าจะสามารถสร้างสีสันไปอีกนาน แต่ในขณะที่บ้านเมืองเราผ่านวิกฤติการเมืองในรอบ ๓ ปีที่ผ่านมาหลายๆครั้ง ว่ากันว่า เป็นยุคที่การเมืองแย่ที่สุดตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา แต่พรรคการเมืองที่มีอายุมากที่สุด ก็ยังไม่สามารถพลิกสถานการณ์จากการโอกาสในการเลือกตั้งทั้งสองครั้งได้ ทั้งๆที่มีคนให้กำลังใจอยู่ไม่น้อย โอกาสเนี่ย ดูเหมือนว่ามันจะมาอยู่ตรงหน้า แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้มันไปจริงๆ

ลองวางแผนกันดีๆนะครับ โอกาสกับอายุมันมักจะมาผกผันกัน แต่สำหรับคนที่เลยวัยหนุ่มสาวแล้ว ผมเชื่อว่าโอกาสนั้นยังมีครับ แต่เราคงต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสนั้นครับ และเมื่อไรที่เรามาถึงจุดที่เราพอใจแล้ว เราก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้เต็มที่ โดยการให้โอกาสคนอื่นบ้างครับ เจอกันตอนหน้าครับ