ประสบการณ์การสอน

บันทึกเก็บไว้ เพราะมานึกๆดู ผมเองก็มีโอกาสได้เล่นอะไรสนุกๆอยู่บ้างเหมือนกัน หมายถึงการสอนหนังสือน่ะครับ บางครั้งก็เป็นการไปพูด ตามที่ได้รับเชิญมา

ครั้งแรกๆที่ได้รับเชิญให้ไปพูด น่าจะเป็นสมัยเรียนหนังสือมหาวิทยาลัย โดยที่ทางโรงเรียนเก่าเชิญให้กลับไปเล่าประสบการณ์การเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในโครงการ AFS เป็นการไปเล่าเรื่องการเตรียมตัวทั้งการสอบ การเดินทาง และประสบการณ์ที่ได้เจอ ถ้าจำไม่ผิด ผมน่าจะได้รับเชิญอยู่สองสามปี จากนั้นทางโรงเรียนคงเชิญคนที่ใหม่กว่ามาแทน

พอจบจากมหาวิทยาลัย ด้วยความที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษดี ทำให้ผมแม่นในการอ่านคู่มือของผลิตภัณท์ที่บริษัทนำมาจำหน่ายได้ดีกว่าเพื่อนๆรุ่นเดียวกัน ประกอบกับเป็นสินค้ารุ่นใหม่ ไม่มีรุ่นพี่ในที่ทำงานรู้มากไปกว่าเราเท่าไรนัก ทำให้ผมมีข้อมูลในเรื่องสินค้ามากกว่าคนอื่น และเมื่อมีปัญหา ก็สามารถสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมันได้ ทำให้ผมต้องทำหน้าที่ในถ่ายทอดความรู้ของสินค้าไปโดยปริยาย จนกระทั่งเมื่อลาออกไปศึกษาต่อ ก็ถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้ไว้ โดยเขียนคู่มือเป็นภาษาไทยทิ้งไว้ ประสบการณ์ในการสอนช่วงนี้ ไม่ยากมากนัก ทำงานไปด้วย สอนไปด้วย จากที่เราเป็น  field engineer อยู่เแล้ว เรื่องแค่นี้สบายมาก

ต่อมาเมื่อต้องไปทำงานในต่างประเทศ ผมต้องทำหน้าที่ support ให้กับหลายประเทศ และเมื่อมีสินค้ารุ่นใหม่ๆมา ผมก็มีหน้าที่ไปฝึกอบรมที่สำนักงานใหญ่ เพื่อกลับมาถ่ายทอดให้กับวิศวกร และช่างเทคนิคในประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ เรื่องภาษาไม่ใช่ปัญหา เอกสารก็ไม่ต้องเตรียม สำนักงานใหญ่ทำให้หมด ที่เป็นปัญหาคือ ความเชี่ยวชาญในทางเทคนิค ในด้านลึกๆของสินค้าเหล่านี้ ทั้งนี้เพราะ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น 1st-level  support จากประเทศต่างๆเหล่านี้ มักจะเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ที่เขาต้องการรู้คือเรื่องใหม่ๆ และการแก้ปัญหายากๆมากกว่า งานนี้ Hard Skill ในแง่ Product Knowledge ก็ว่ายากแล้ว ยังต้องมี Soft Skill ในเชิงการเตรียมรับการลองของไว้ด้วย ผมเริ่มเรียนรู้ว่า การใช้ไม้นวมมีข้อดีอย่างไร

ระหว่างนั้น ผมก็มีโอกาสรับงานสอนภายนอก ในหัวข้อเรื่องความรู้พื้นฐานทางโทรคมนาคม ซึ่งก็ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงมากนัก โดยรวมๆแล้ว เป็นเรื่องทางเทคนิค เป็นการหารายได้พิเศษที่สนุกดี แต่เหนื่อยจัง เพราะต้องเตรียมสไลด์และข้อมูลเยอะมาก

ต่อมาเมื่อกลับมาอยู่เมืองไทย ผมย้ายสายงานจากวิศวกรรม มาเป็นการพัฒนาผลิตภัณท์ ซึ่งออกมาเป็นงานเชิง commercial  มากขึ้น ผมต้องรับหน้าที่ในการถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดและทำขึ้นมา ให้ทางเซลส์เข้าใจ เพื่อที่จะได้นำไปถ่ายทอดให้ลูกค้า อีกทีหนึ่ง งานนี้ ผมเรียนรู้่ถึงความสำคัญในวิธีการเล่าเรื่อง การลำดับเรื่องในการเล่า หลายๆครั้ง เมื่อเป็นเรื่องใหม่ เราก็ต้องออกไปอธิบายให้ลูกค้าฟังเอง เพราะทางเซลส์ยังไม่แม่นในตัวสินค้าพอ ผมเริ่มเห็นความสำคัญของการลำดับเรื่องให้คนอยากฟังต่อไป ตั้งแต่สไลด์แรกๆ พอๆกับการเล่าเรื่องด้วยภาพ ทำอย่างไรให้คนเข้าใจและคล้อยตามในเวลาอันสั้น และที่สำคัญ การเขียนสไลด์อย่างไร ให้คนที่ไม่ได้ฟังเราพูด ก็ยังพอจะเข้าใจได้ ทั้งนี้เพราะผมพบว่า สไลด์และเอกสารที่เราจัดเตรียมให้เซลส์และฝึกอบรมให้เป็นอย่างดี จะเป็นสิ่งเดียวที่ลูกค้าได้รับ เพราะเมื่อเราเทรนเสร็จ เซลส์ก็จะทำการแฟกซ์(ในยุคนั้น)เอกสารให้ลูกค้า แล้วก็บอกให้ลูกค้าไปอ่านเอง

จากนั้นผมก็ว่างเว้นเรื่องฝึกอบรมไปหลายปี เพราะหน้าที่การงานเปลี่ยนไป ต้องไปเป็นคนติดตามงานให้ผู้ใหญ่ ต้องไปเป็นหัวหน้าทีมขาย และต่อมาก็ลาออกไปทำงานกับเพื่อนในบริษัทเล็กๆแห่งหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เชิงภาพรวมมากกว่าที่จะลงรายละเอียด

แต่อยู่ๆที่ทำงานเดิม ก็มาติดต่อให้ช่วยกลับมาเป็นมวยแทนหน่อย เพราะต้องการคนมาถ่ายทอดประสบการณ์การประกอบธุรกิจในโลกเทคโนโลยีให้กับกลุ่มนักศึกษาฝึกงาน ที่ทางบริษัทคัดขึ้นมา เพื่อรับเข้าทำงานในอนาคต

บอกตามตรง ผมนึกไม่ออกว่า ผมจะไปเล่าอะไร ผมไม่ได้ไปยืนหน้าห้อง พูดต่อหน้าคนมาสักพักแล้ว แต่ก็รับปากไปให้ เพราะทางคนจัดงาน ไม่มีตัวเลือกแล้ว อยากให้มาช่วยจริงๆ จนถึงคืนก่อนที่จะไปสอน ผมก็ยังนึกไม่ออก เปิด PowerPoint ขึ้นมา ก็ลองเขียนเป็น Bullet ร่างหัวข้อของการทำธุรกิจขึ้นมา ตามที่ได้ร่ำเรียนมาใน MBA แต่ทำไปได้ ๑ แผ่น ผมก็รู้สึกว่า มันไม่น่าจะใช่ แล้วอยู่ๆ ผมก็นึกออก

วันนั้น ผมเข้าห้องเรียน พบน้องๆนักศึกษาปี ๓ และปี ๔ หลังจากที่ผมทำความรู้จักเบื้องต้น ซักถามพื้นฐานกันแล้ว ผมก็ชวนน้องเหล่านี้ให้มาช่วยกันสร้างเรื่องขึ้นมา

“วันนี้ เราจะมาขายของกัน” หลายๆคนทำหน้างงๆ (“เอ เรามาฟังนี่หว่า แล้วพี่คนนี้จะทำอะไรเนี่ย”)

“เอ้า เร็ว ลองคิดดูสิว่า เราอยากขายอะไร แล้วดูว่า ไอัที่เราคิดมันจะเป็นไปได้ไหม เอ้า เสนอมา เอาอะไรดี”

“ขายเสื้อค่ะ”

“กูรอดแล้ว” ในใจผมคิด มีคนเล่นด้วยแล้ว

จากนั้น ผมก็ใช้วิธี จดทุกอย่างบน spreadsheet บนหน้าจอ และให้ทุกๆคนพูดขึ้นมา ไล่มาตั้งแต่ขายอะไร ขายให้ใคร ราคาเท่าไร ขนาดตลาดใหญ่แค่ไหน เราจะวางตัวเป็นของถูกหรือของแพง ค่อยๆยิงคำถาม เพื่อให้ทุกคนคิด และจดสิ่งที่เราตกลงกันไว้ บนหน้าจอใหญ่

ในเมื่อโจทย์เป็นสิ่งที่ทุกคนตั้ง การแก้โจทย์ก็เป็นเรื่องสนุก เพราะทุกคนก็ต้องมานั่ง defend สิ่งที่ตัวเองคิด

“เสื้อที่เราจะขาย ราคาเท่าไร” “๒๐๐ บาทครับ/ค่ะ” หลายๆคนช่วยกันตอบ

“เราจะโฆษณาที่ไหน” “ติดป้ายทางด่วน”

“เสื้อ ๒๐๐ บาท เธอต้องขายกี่ตัวถึงจะคุ้่มค่าโฆษณาจ๊ะ แล้วคนที่ขับรถบนทางด่วน เป็นกลุ่มเป้าหมายของเธอใช่ไหมเนี่ย หรือเธอควรจะขายคนที่ยังนั่งรถเมล์อยู่” ทุกคนฮาลั่น เมื่อนึกได้

พอมาถึงต้นทุนการผลิด กระแสเงินสด หลายๆคนเริ่มรู้สึกสนุกมากขึ้น พอๆกับเครียดขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงการลงตาราง Profit/Loss หลายๆคนเริ่มสั่นหัว

“หนูว่า เราขายถูกไป” “ผมว่า ต้นทุนเราสูงไป” “หนูว่า เราต้องเปลี่ยนวิธีการประชาสัมพันธ์” ฯลฯ

เมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรมในวันนั้น หลายๆคนมาขอเซฟไฟล์กลับไป พร้อมๆกับเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม ตลอด ๒ ชั่วโมงครึ่ง ผมไม่ได้พักเบรกและก็ไม่มีใครเดินออกก่อนเวลา

เหตุการณ์นี้ ผ่านมา ๓ ปีแล้ว ผมยังจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้อย่างแม่นยำ น้องๆหลายคนมายกมือไหว้ขอบคุณ มองผมด้วยสายตาที่ผมรู้สึกได้ว่า เขาอยากขอบคุณผม มากกว่าทีี่เขาแสดงออกอีก แต่ในทางกลับกัน คงไม่มีใครรู้หรอกว่า วันนั้น เป้นครั้งแรกในชีวิตที่ผมรู้สึกว่า ผมถ่ายทอดได้

ผมอยากขอบคุณน้องๆในห้องในวันนั้น มากกว่าที่พวกเขามาขอบคุณผมอีก

จากนั้น ผมก็ว่างเว้นเรื่องการฝึกอบรมไปนาน จนเมื่อต้นปีนี้เอง ก็มีทางโตโยต้ามาติดต่อให้ผมช่วยมาสอนเรื่องการทำพอดคาสท์ แค่พูดว่า พอดคาสท์ ผมก็ตอบตกลงในใจแล้ว โดยไม่ต้องถามด้วยซ้ำว่า เมื่อไร

แต่เมื่อมองย้อนกลับไป การสอนพอดคาสท์ในวันนั้น เป็นความสนุกของผมมากกว่าที่จะเป็นความสนุกของทุกคนโดยรวม ผมใช้เวลาในการเล่าเรื่องมากเกินไป โดยไม่ได้เตรียมและเผื่อเวลาในส่วนของการปฏิบัติให้ผู้เข้าร่วม ทั้งหมดนี้ ผมมารู้สึกเมื่อมองย้อนกลับไป ถ้ามีโอกาส อยากลับไปแก้ตัวจัง แม้จะรู้สึกได้ว่า หลายๆคนคงสนุกที่ได้ยินเรื่องที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่เชื่อว่าหลายๆคนอยากได้ลองทำมากกว่านี้

ล่าสุด ผมได้รับการติดต่อให้ไปถ่ายทอดประสบการณ์และแนะแนวการทำ presentation ให้กับนักศึกษาปีสี่ นับว่าเป็นหัวข้อที่ใหม่และท้าทายมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สนุก เป็นเรื่องที่ผมชอบ พอจะนึกวิธีเล่าได้หลายรูปแบบ มีหนังสือหลายๆเล่มที่ผมอยากจะยกมาเป็นตัวอย่าง การใช้กราฟ ภาพ การลำดับเรื่องฯลฯ

โดยสุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์คือการทำให้น้องๆเหล่านี้สามารถนำไปปรับปรุงวิธีการเล่าเรื่องของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการไปนำเสนองานวิจัย การเล่าเรื่องของตัวเองในการสัมภาษณ์งาน จนถึงการทำงาน

ขณะที่เขียนบทความนี้ ผมยังทำสไลด์ไม่เสร็จเลยครับ เอาใจช่วยด้วยนะ

ไม่รู้ตัว

เขียนให้นิตยสาร Go Training ฉบับเดือนกรกฏาคม ๒๕๕๒

ครั้งหนึ่ง บนหน้ารับสมัครสมาชิกของนิตยสาร The Economist ลงอัตราค่าสมาชิกนิตยสาร ดังนี้

  1. สมาชิกแบบอ่านแบบ online อย่างเดียว ปีละ ๕๙ เหรียญ
  2. สมาชิกแบบรับเป็นนิตยสารอย่างเดียว ปีละ ๑๒๕ เหรียญ
  3. สมาชิกที่รับทั้งนิตยสารและอ่านแบบ online ปีละ ๑๒๕ เหรียญ

อ่านดูเผินๆ เราก็รู้ว่า ไม่มีใครเลือกแบบรับนิตยสารอย่างเดียวแน่ๆ เพราะราคามันเท่ากับแบบที่ให้ทั้งนิตยสารและแบบ online นั่นสินะ ดูๆแล้ว อดคิดไม่ได้ว่า คนออกแบบอัตรานี้ ออกแบบได้สิ้นคิดมาก แน่นอน คงมีบ้างที่อยากจะรับแบบ online อย่างเดียว ซึ่งอันนี้ ก็แล้วแต่ใครอยากได้รูปแบบไหนและมีเงินเท่าไร แต่ไม่มีใครเลือกแบบที่ ๒ แน่ๆ

แต่ทราบไหมครับว่า มีคนที่เขานำใบสมัครอันนี้ ไปทดลองอะไรบางอย่างเล่นๆ โดยแบ่งไปทดลองกับคน ๒ กลุ่ม กลุ่มแรก ใช้ใบสมัครแบบเดียวกับข้างต้น และกลุ่มที่สอง เขาตัดตัวเลือกที่ ๒ ทิ้งไป (ที่เลือกรับเป็นนิตยสารอย่างเดียว) เหลือไว้แต่ตัวเลือกที่ ๑ และตัวเลือกที่ ๓

น่าสนใจครับ ผลปรากฏว่า จากเดิมที ในแบบแรก (มีสามตัวเลือก) คนที่รับทั้งแบบ online และรับเป็นนิตยสารมีถึง ๘๔ % แต่ในกลุ่มตัวอย่างที่สอง (มีเพียงสองตัวเลือก) ปรากฏว่า มีคนรับทั้งแบบ online และรับเป็นนิตยสาร เหลือเพียง ๓๒%

เห็นอะไรบางอย่างไหมครับ การใส่ตัวเลือกแบบนิตยสารอย่างเดียวเข้าไปเนี่ย เป็นการใส่เพื่อเป็นตัวหลอกเท่านั้นเอง เพราะเขารู้ว่า เมื่อใส่เข้าไปแล้ว จะส่วนผลักให้มีคนเลือกแบบที่มีราคาสูงกว่าได้มากขึ้น และเป็นการพิสูจน์ว่า มนุษย์เราจะโดนชักจูงได้ง่ายขึ้น เมื่อมีการตัดสินใจในเชิงสัมพััทธ์(relative) ทั้งๆที่ทั้งสองตัวเลือก มีราคาเท่ากัน ถ้าถามตรงๆ โดยไม่มีตัวเลือกใดๆ เรามักจะตัดสินใจไม่ได้ง่ายๆ แต่เมื่อมีตัวเลือกมาช่วย เราจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเยอะ และจากผลการทดลองดังกล่าว เจ้าของนิตยสารจะมีรายได้มากขึ้นกว่า ๒ เท่าทีเดียว เพราะจำนวนคนที่เลือกเพิ่มขึ้นจาก ๓๒ % เป็นถึง ๘๔ % เพียงเมื่อใส่ตัวเลือกหลอกมากขึ้น

คนๆเดียวกันนี้เอง ลองทดลองใหม่ เพื่อทดสอบสมมติฐานที่สรุปได้จากการทดลองข้างต้น โดยคัดเลือกรูปคนหน้าตาดีสองคนมาเป็นแบบ คนหนึ่งหล่อในแนว George Clooney และอีกคนหนึ่งหล่อในแนว Brad Pitt ว่าง่ายๆว่า หล่อกันคนละแบบ สาวๆแต่ละคนก็คงจะชอบไม่เหมือนกัน  กินกันไม่ลง แต่จะมาทำการวัดความนิยมดูว่า คนส่วนใหญ่จะว่าใครหล่อกว่าใคร โดยคนออกแบบการทดลองนี้ อยากจะทดลองดูว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะสามารถกำหนดผลสำรวจให้ออกมาเป็นอย่างที่เราต้องการได้ คนที่ออกแบบการทดลองนี้ แกเก่งครับ แกออกแบบการทดลองออกมาเป็น ๒ กลุ่ม

แบบแรก แกนำคนที่หล่อแบบ George Clooney มาแปลงโฉมเล็กน้อย (โดยใช้โปรแกรมในแนว Photoshop มาช่วย) โดยแกล้งทำให้หน้าตาดูผิดปกตินิดหน่อย ตาโตข้างหนึ่งบ้าง หรือแกล้งทำมุมปากเบี้ยวๆ ดังนั้น ในแบบแรกนี้ จะมีสามตัวเลือกให้นำมาเลือกกัน คือ George Clooney แบบหล่อ, George Clooney แบบอัปลักษณ์ และ Brad Pitt แบบเดิมๆ แล้วก็ให้กลุ่มตัวอย่างเลือกดูว่า ใครหน้าตาดีที่สุด

ส่วนกลุ่มที่สอง แกก็นำหน้าหล่อแบบ Brad นี่แหละมาแปลงแทน ให้ดูอัปลักษณ์ในแนวเดียวกับที่เขาทำกับหน้าของ George Clooney ในแบบแรก ดังนั้น ในกลุ่มที่สองนี้ ก็จะมีตัวเลือก ๓ แบบ คือ Brad Pitt แบบหล่อ, Brad Pitt แบบอัปลักษณ์ และ George Clooney แบบเดิมๆ แล้วก็เช่นเดิม ให้กลุ่มตัวอย่างเลือกว่า ใครหน้าตาดีที่สุด

ผลการทดลองก็ออกมาได้เฮฮาตามคาด ในกลุ่มแรกที่มีรูป George Clooney ทั้งสองแบบ คนส่วนใหญ่จะเลือก George Clooney แบบหล่อ โดยคนเลือก Brad Pitt มีจำนวนน้อยมาก และในกลุ่มทีสอง คนส่วนใหญ่ก็จะเลือก Brad Pitt แบบหล่อ เช่นกัน โดยมีคนเลือก George Clooney น้อยมากเช่นกัน

ทั้ง George Clooney และ Brad Pitt เป็นคนหน้าตาดีทั้งคู่ ถ้าให้สาวๆเลือก คงตัดสินใจยาก แต่เมื่อมีตัวหลอกมาเป็นตัวเปรียบเทียบ สัญชาติญาณมนุษย์ก็จะเลือกตัวเปรียบเทียบที่ดีกว่า โดยตัดอีกตัวเลือกหนึ่งซึ่งไม่ได้รับการเปรียบเทียบ ออกไป เพราะตัดใจลำบาก สู้เลือกตัวเลือกที่มีตัวเปรียบเทียบไม่ได้

น่าคิดนะครับ ไม่ว่าจะเป็นทั้งผลการทดลอง วิธิการสังเกตุ และการออกแบบการทดลอง ทำกันง่ายๆ แต่ต้องคิดนานๆหน่อย คุณคนที่ทำการทดลองที่ว่านี้เนี่ย ชื่อว่าคุณ Dan Ariely แกเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ Duke University และเป็น Visiting Professor ที่ Sloan School of Management ที่ MIT ด้วย กลุ่มทดลองที่แกไปลองๆสุ่มทำเนี่ย ก็เป็นนักเรียน MBA ของทั้งสองสถาบัน

Dan เป็นคนช่างคิดและช่างสังเกตุมากๆ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะวัยเด็ก แกเคยประสบอุบัติเหตุ ทำให้ผิวไหม้ไปเกือบทั้งตัว ต้องอยู่โรงพยาบาลนานมาก และเข้าๆ ออกๆอยู่เสมอ เลยมีเวลาว่างมาก ก็เลยตั้งข้อสังเกตุต่างๆนานา และติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าลองไปดูใน TED Talk ของปีนี้ (๒๕๕๒) ซึ่ง Dan ได้รับเชิญให้ไปพูดด้วย ก็จะเห็นเลยว่า ริ้วรอยหรือแผลเป็นที่เกิดจากอุบัติเหตุดังกล่าว ยังมีให้เห็นอยู่ทั้งที่หน้าและแขน

คุณ Dan แกไม่ได้แค่สังเกตุครับ แกเขียนหนังสือบันทึกข้อสังเกตุดังกล่าว โดยทำการทดลองกับกลุ่มนักเรียนของแกเองหลายๆที่ บางครั้งก็เป็นการร่วมมือกันกับอาจารย์ท่านอื่นๆ จากสถาบันการศึกษาอื่น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แล้วแกก็นำการทดลองต่างๆ มาสรุปเป็นเรื่องๆไป บทละหนึ่งหัวข้อใหญ่ โดยมีการทดลองประกอบ และคลายปมในตอนท้ายว่า แต่ละการทดลอง เราสามารถสรุปพฤติกรรมมนุษย์ได้อย่างไรบ้าง หนังสือเล่มดังกล่าวชื่อว่า Predictably Irrational  เป็นหนังสือที่ดังมากในปี ๒๕๕๑ ก็ดังจนทำให้แกได้รับเชิญให้ไปพูดที่ TED Talk นั่นแหละครับ

มีอีกหลายๆการทดลองที่อ่านแล้วอึ้งๆ เช่น แกลองไปวางโค้กกระป๋องตามตู้เย็นในหอพักในมหาวิทยาลัย โดยตู้เย็นดังกล่าวเป็นตู้เย็นสาธารณะ ใช้งานร่วมกันทั้งหอ แล้ว Dan ก็ลองไปเปิดตู้เย็นเป็นระยะๆ เพื่อดูว่า มีคนแอบกินไปแล้วหรือยัง แล้วเมื่อไร ถึงจะมีคนแอบกินจนหมด แล้วมันก็หมดน่ะนะครับ ตามคาด ถ้าการทดลองนี้ เป็นการวัดว่า หอไหนหมดก่อน มีปัจจัยอะไร ทำให้หมด ก็ดูจะง่ายไป แกทำการทดลองซ้ำอีกครั้ง เพื่อเปรียบเทียบผล แต่คราวนี้ แกใส่ธนบัตรแทนครับ แล้วดูซิว่า เมื่อไร เงินจะหมด จะไปทีละใบ (โจรมีคุณธรรม) หรือ ไปทั้งหมด แกไม่ได้ใส่เยอะหรอกครับ ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นธนบัตร ๑ เหรียญ จำนวน ๕ ใบเท่านั้นเอง

ผลเป็นอย่างไรหรือครับ คราวนี้ เงินไม่หายครับ เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงไม่หาย แกไม่ได้อธิบายตรงๆซะทีเดียว แต่เปรียบเทียบเหมือนเวลาเรานำของจากที่ทำงานกลับบ้านนี่แหละ ถ้านำเงินบริษัทกลับบ้านนี่ เป็นขโมยแน่ๆ แต่ถ้าเป็นการนำปากกา ดินสอ กระดาษล่ะ ทำไมหลายๆคนทำกัน โดยไม่ได้รู้สึกว่า ขโมย ช่างสังเกตุและเปรียบเทียบจริงๆ

อีกการทดลองหนึ่ง ซึ่งน่าทึ่งมาก  Dan ให้นักเรียนแต่ละคนประมูลราคาสินค้าหลายๆชิ้น โดยคนที่ประมูลได้ ก็จะต้องซื้อของไปจริงๆ ทั้งนี้ สินค้าที่ว่า ก็ไม่ได้มีราคาค่างวดมากนัก ดูๆแล้ว ก็ไม่น่าจะมีอะไรมากนัก ถ้า Dan ไม่ตั้งข้อแม้ว่า ก่อนจะเริ่มประมูล ให้ทุกคนนำบัตรประจำตัวของแต่ละคนออกมา แล้วดูเลข ๒ หลักสุดท้าย แล้วก็เก็บไป จากนั้น ก็ให้เริ่มประมูลสินค้าทีละชิ้น เมื่อสิ้นสุดการประมูลทุกชิ้น  Dan ก็ลองนำผลทั้งหมดมาประมวลดู พบว่า คนที่มีเลขประจำตัวลงท้ายด้วยเลขสูงๆ เช่น ๙๓ มักจะประมูลที่ราคาสูงกว่าคนที่มีเลขประจำตัวลงท้ายต่ำๆ เช่น ๑๗ ทั้งๆที่เป็นการประมูลสินค้าชิ้นเดียวกัน และเลขประจำตัวดังกล่าวก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประมูลเลย

ดังนั้น Dan จึงให้ความเห็นว่า มนุษย์เรามักจะโดนสภาพแวดล้อมชักจูงโดยไม่รู้ตัวจริงๆ อย่างเช่น เมื่อเราดูเลขประจำตัวแล้ว เราก็จำค่านั้นไว้ในใจ และนำมันมาเป็นเกณฑ์ตัดสินโดยไม่รู้ตัว

รายละเอียดอาจจะมีตกหล่นบ้าง แต่เนื้อหาหลักๆที่ผมจับได้จากในหนังสือ ผมเชื่อว่า ยังอยู่ครบ ยังมีการทดลองสนุกๆ และบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจอีกหลายอย่างที่เชื่อได้ว่า หลายๆคนน่าจะนำมาใช้ในชีวิตจริงได้ อยากแนะนำให้ไปหาอ่านดูครับ โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมชอบวิธีการทดลองของเขามาก มันพื้นๆ ง่ายๆ แต่มันตีความได้เยอะมากจริงๆ ส่วนใหญ่แล้ว Dan พยายามจะอธิบายว่า ทำไมวิชาที่เป้นพื้นฐานทางสังคมอย่างเศรษฐศาสตร์ ถึงไม่สามารถนำมาประยุกต์เพื่ออธิบายเหตุการณ์หลายๆอย่างได้ตรง ทั้งนี้เป้นเพราะมนุษย์มักจะตัดสินใจเหมือนไร้เหตุผล ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ก็เพราะเราได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวโดย”ไม่รู้ตัว”นั่นเอง