เมื่อต้องรับคนเข้าทำงาน

ส่วนหนึ่งของการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำให้ผมต้องมีเหตุให้ต้องสัมภาษณ์งาน เพื่อหาพนักงานใหม่อยู่เป็นระยะๆ จากเดิมที่สัมภาษณ์เพียงเพื่อหาคนที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานที่ผมดูแลอยู่ กลายเป็นว่า ไปๆมาๆ ผมเริ่มใช้คำถามที่ผมมักจะใช้ในการจัดรายการพอดคาสท์ มาใช้ในการสอบถามโดยไม่รู้ตัว หลายๆครั้ง มันทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งของคนโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากว่า เนื้อหาบางเรื่องมีความสนุกโดยตัวเองอยู่แล้ว ก็เลยอยากบันทึกไว้ที่นี้ เผื่อหลายๆท่านในแวดวง HR จะพอเห็นประโยชน์บ้าง

ประเด็นแรกๆที่นิยมถามกัน มักเป็นเรื่องของที่มาที่ไปของบุคคลนั้นว่า มีความเป็นมาอย่างไร ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน และสาเหตุในการลาออก มีอยู่ครั้งหนึ่ง ให้ผมได้เจอสาวที่มีประวัติการทำงานประมาณสามถึงสี่ปี แต่เมื่ออ่านจากประวัติการศึกษาและประวัติการทำงานแล้ว ดูเหมือนว่า จะมีช่วงเวลาที่หายไปอยู่ ๑ ปี และดูจากปริญญาตรีที่จบมา ก็เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับที่เธอทำอยู่ในปัจจุบัน หลังจากที่กรรมการท่านอื่นถามไปจนหมดแล้ว ผมก็เลยถามช่วงเวลาที่หายไปตรงนี้ว่า เธอทำอะไร ถามด้วยความระมัดระวัง เพราะไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เธอจะรู้สึกว่าเป็นการละลาบละล้วงไปไหม แต่เธอก็ตอบดีครับ เธอบอกว่า หลังจากที่จบปริญญาตรีแล้ว เธอก็ลองทำงานในสายงานที่ใกล้เคียงกับที่เธอจบมา แต่เนื่องจากว่า เธอจบในสายงานที่ออกจะกลางๆพอสมควร ทำให้เธอต้องไปทำงานที่ออกไปในทางธุรการ เมื่อทำไปนานๆ ก็เห็นว่า น่าเบื่อ และไม่น่าจะมีโอกาสได้ไต่ไปสูงกว่านี้มากนัก เธอก็เลยลงทุน ลาออกจากงาน และไปเรียนรู้เพิ่มเติม ในคอร์สสั้นๆทางด้านสารสนเทศ (IT) เนื่องจากเห็นว่า สายงานนี้น่าจะโต และทุกอย่างก็ดูจะเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ทไปเสียหมด ณ เวลานี้ และเมื่อจบออกมา ก็สามารถหางานทำในสายนี้ได้ ประเด็นที่ผมติดใจ หลังจากที่รับฟังเธอเล่ามา อยู่ตรงที่ว่า คอร์สที่เธอไปเรียนมานั้น นับได้ว่าสั้นมาก (ไม่เกิน ๓ เดือน) ถ้าจะมีใครรับคนเข้าทำงาน ก็ต้องเสี่ยงพอสมควร เพราะจะว่าไปแล้ว ในตลาด ก็พอจะหาคนที่ความสามารถในระดับนี้ ที่จบการศึกษาสายตรงมา (ที่เรียนเป็นปีๆ) ได้พอสมควร เธอทำอย่างไร ถึงสามารถเข้าไปทำงานที่แรกได้  ปรากฏว่า จากที่เธอตอบได้ดี คุมอารมณ์ได้มาตลอด ก็ให้ต่อมน้ำตาแตกในคำถามนี้ เธอเล่าว่า ไม่ใช้เรื่องง่ายเลย ที่จะก้าวข้ามอุปสรรคที่ว่านี้ได้ แต่เนื่องจากที่แรกที่รับเธอนั้น ให้โอกาส เมื่อเห็นความตั้งใจ ประจวบกับผู้ตัดสินใจรับเธอเป็นชาวต่างชาติ ทำให้ไม่ติดในเรื่องวุฒิการศึกษาและสถาบัน ก็เลยให้โอกาสเธอได้ลอง เธอเล่าว่า ยังจำความรู้สึกที่ร้องไห้บนรถเมล์ ตอนกลับบ้าน หลังจากที่ไม่สามารถแก้ปัญหาของที่ทำงาน เมื่อเริ่มเข้าไปทำงานใหม่ๆในสายงานนี้ได้ดี เธอก็ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้อย่างสาหัสสากรรฉ์ ผมฟังแล้วก็อดประทับใจไม่ได้ แม้ว่า จริงๆแล้ว เราก็พบว่า เธอไม่ได้ถึงขั้น”เชี่ยวชาญ”ในตำแหน่งที่เธอทำอยู่ จะว่าก็อยู่ในขั้น”ทำได้”เท่านั้นเอง แต่ก็พอจะมองเห็นความพยายามอยู่

ประเด็นของ”ช่วงเวลา” ในประวัติ(Resume)ของแต่ละคนนี่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจในแง่การทำความรู้จักคนพอสมควร ผมเองก็เคยเจอคนที่ผ่านการทำงานมาแล้ว มาสมัครงาน แต่ก็รู้สึกสะดุดตา หลังจากที่อ่านเจอว่า เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ก็กลับไปประกอบกิจการเองที่จังหวัดเดิมที่เติบโตมาถึง ๔ ปี ก่อนที่จะกลับมาเรียนต่อและหางานประจำทำที่กรุงเทพฯ ผมนึกไม่ออกจริงๆว่า คนที่เป็นเจ้าของกิจการถึง ๔ ปี จะสามารถกลับมาเรียนต่อได้อย่างไร เจ้าตัวก็เลยเล่าว่า ในปีที่สี่ เจอคู่แข่งที่มีทุนหนากว่า สามารถตัดราคาได้ในแบบที่เขาไม่สามารถทำได้เลย หลังจากที่ทนติดตัวแดงอยู่สามสี่เดือน ก็ต้องจำใจ ปิดกิจการ หาลู่ทางไปทำอย่างอื่น และเจ้าตัวก็ตัดสินใจเรียนต่อ และสามารถเรียนจบปริญญาโททางวิศวกรรม(ในประเทศ)ได้ภายในเวลา ๓ ปี  ซึ่งถือว่าไม่เลวเลย เพราะต้องทำงานไปด้วย และเจ้าตัวก็เล่าด้วยว่า ในช่วงสุดท้ายของการเรียนนั้น เจ้าตัวถึงขั้นว่า ต้องลาออกจากงานที่ตัวเองทำ เพื่อมาเรียนอย่างเดียว เพราะเห็นตัวอย่างจากหลายๆคนแล้ว ส่วนใหญ่มักจะนิ่งนอนใจ จนในที่สุด ก็เรียนไม่จบ แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะให้เวลาถึง ๕ ปี โดยเนื้อเรื่องแล้ว ผมไม่ได้ประทับใจมากนัก แต่วิธีการเล่าเรื่อง ลำดับการตอบคำถาม พอจะมองเห็นว่าเป็นคนที่มีท่าทีซื่อตรง รอบคอบ และตั้งใจอยู่ทีเดียว

คำถามที่มักจะติดปากกรรมการ เรียกได้ว่า จะต้องมีสักคนถามแน่ๆ คือ ชอบงานประเภทไหน หรือไม่ชอบงานประเภทไหน และคำตอบเกือบทุกคนจะเหมือนกันหมด คือไม่ชอบงานที่เป็นรูปแบบเดิมๆ (routine) ซึ่งผมพอจะเข้าใจได้ว่า ถึงความเบื่อในการทำอะไรบางอย่างซ้ำไปซ้ำมา แต่เราก็ต้องยอมรับว่า คนที่เก่งจริงๆ มักจะผ่านการทำอะไรที่มันเป็นแบบนั้นจริงๆนะครับ ลองไปรับชมการพูดของคุณสมศักดิ์ ชลาชล ที่พูดในงาน Go Training Talk เมื่อปี ๒๕๕๒ ในหัวข้อ “ทำซ้ำ”ได้ เขาพูดได้ดี ครบถ้วน ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ นักกีฬาอาชีพทุกคน ไม่เคยได้ยินคนที่ประสบความสำเร็จในกีฬาระดับอาชีพคนไหน พูดว่า ได้มาแบบง่ายๆ ทุกคนต้องผ่านการเคี่ยวบดมาอย่างหนัก ฝึกซ้อม ซ้ำไปซ้ำมา จนเชี่ยวชาญ ยิ่งในสายงานวิศวกรรม คนที่เก่งจริงๆมักจะเกิดจากการฝึกฝนจนชำนาญจริงๆ สัมภาษณ์มาก็หลายคน ผมก็ยังไม่เจอคนที่ตอบคำถามนี้ที่น่าประทับใจนัก

อย่างหนึ่งที่ผมมักจะถาม หรือมองหาเสมอๆในการสัมภาษณ์งาน คือความรอบด้านหรือสีสันของคนๆนั้นที่นอกเหนือจากการทำงาน แล้วก็แปลกมากๆ ส่วนใหญ่จะดูเหมือนจะไม่ได้เตรียมใจ หรือเตรียมตัวมาตอบเรื่องนี้เลย คำถามง่ายๆอย่างว่า กิจกรรมยามว่างทำอะไรบ้าง มักจะใช้เวลานานผิดสังเกตุในการตอบ แน่นอนว่า ดูหนัง ฟังเพลง น่าจะเป็นคำตอบที่สามัญ แต่ผมพบว่า ไม่ใช่เสียทีเดียว เหมือนกับจะอายๆที่จะบอกตรงว่า ทำอะไร ฟังแล้วก็งง ในขณะเดียวกัน หลายๆคนก็ตอบว่า อ่านหนังสือ แต่พอถามว่า หนังสืออะไร ก็ใช้เวลานานผิดสังเกตุเหมือนกันในการตอบ หรือกลัวจะดูไม่ดีที่จะตอบว่า หนังสือบันเทิง ซึ่งผมก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องเสียหายอะไร หลายๆคน พอโดนถามว่า เวลาเข้าไปร้านหนังสือ มักจะไปหยิบหนังสือหรือนิตยสารไหนก่อน ก็มักจะตอบไม่ได้ เท่าที่จำได้ มีอยู่คนหนึ่งบอกว่า ยามว่าง หรือเสาร์อาทิตย์ เขาจะเลี้ยงสุนัข ตอบแบบอายๆ ทั้งๆที่ผมก็คิดว่า ออกจะเข้าท่า และพอซักเข้าไปเรื่อยๆ ยิ่งเข้าท่าใหญ่ เพราะน้องเขาชอบถึงขั้นว่า เพาะลูกสุนัขขายด้วย ชอบจัง

มีอยู่รายหนึ่ง เป็นสาวทีี่จบมาทางสายงานไอที ระหว่างที่เรียน ก็ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย จนจบการศึกษา และผ่านการทำงานมาแล้วสองปี แต่พอเหลือบเห็นชื่อบริษัทที่เธอทำงานด้วย ระหว่างเรียน ก็อดถามไม่ได้ เพราะคุ้นชื่อบริษัทพอสมควร แต่นึกไม่ออกว่าเป็นธุรกิจอะไร เจ้าตัวก็บอกอายๆว่า เธอทำงานเป็นสาวเชียร์เบียร์ตามร้านอาหาร ได้ส่วนแบ่งรายได้เป็นบาทต่อขวดไป ฟังแล้วก็เท่ดี นานๆจะเจอโปรแกรมเมอร์มาหารายได้จากการเชียร์เบียร์ด้วย อดนึกไมได้ว่า ถ้าได้ลองผ่านประสบการณ์ลูกค้าแบบนี้มาแล้ว เมื่อมาเจอคนใช้งานโปรแกรมบ่นแรงในบริษัท น่าจะรับมืออยู่พอสมควร

แม้ว่าการเตรียมตัวจะเป็นเรื่องดี แต่ผมก็ยอมรับว่า หลายๆครั้ง ผมก็เข้าห้องสัมภาษณ์โดยไม่ได้อ่านประวัติของผู้เข้าสัมภาษณ์มาก่อนเหมือนกัน อาศัยว่า ทั้งฝ่ายบุคคลและน้องๆในทีมคัดเลือกคนเข้ามาแล้ว ก็ถือว่า น่าจะรับได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้ามีโอกาส ผมจะหาทางอ่านประวัติมาก่อนบ้าง และพบว่า Google ก็ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นไม่น้อย การได้ลองค้นหาประวัติผู้เข้าสัมภาษณ์ทางอินเตอร์เน็ท จะทำให้เราได้มีโอกาสทำความรู้จักผู้เข้าสัมภาษณ์ได้รอบด้านขึ้นมาก บ่อยไป ที่ผมได้อ่านงานเขียนของผู้เข้าสัมภาษณ์ ที่เขียนไว้ ขณะศึกษาต่อ พอจะปะติดปะต่อ เห็นภาพโดยรวมอยู่บ้าง แต่โดยรวมๆแล้ว ข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในอินเตอร์เน็ท ก็ยังเป็นส่วนน้อยมากๆ และที่ได้เห็นแล้ว ส่วนใหญ่มักจะเป็นข้อมูลสมัยศึกษาต่อในต่างประเทศ

หนึ่งในคำตอบที่มักจะได้ยิน แล้วเกิดอาการงงๆ คือ “ประกอบธุรกิจส่วนตัว” เช่น

“ช่วงเวลา ๓ เดือนที่หายไป ระหว่างที่ลาออกจากที่เก่า ก่อนจะมาที่ใหม่ พอจะเล่าได้ไหมครับว่า ได้ทำอะไรบ้าง” “ประกอบธุรกิจส่วนตัวครับ”

“พอจะเล่าเรื่องราวของทางบ้านให้ฟังได้ไหมครับ” “ประกอบธุรกิจส่วนตัวค่ะ”

ฟังแล้วก็งง เพราะทำให้เกิดคำถามต่อว่า ธุรกิจอะไร ทำไมไม่เล่าไปเลยให้จบ จะเป็นการตั้งตู้หยอดเหรียญซักผ้า ขายน้ำ ซื้อมา/ขายไปบนอินเตอร์เน็ท ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และแม้จะทำไปแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร หรือเป็นการตกงาน ก็เป็นเรื่องจริง ที่ไม่ได้น่าอับอายแต่ประการใด หรือถ้ามีเหตุผลกลใด ที่ไม่อยากเล่า เช่น รักษาตัว เพราะเป็นโรคบางอย่าง จัดการปัญหาหนี้สินทางบ้าน ก็น่าจะมีทางเล่าเรื่อง ที่ฟังแล้ว พอจะเข้าใจได้ว่า ไม่อยากเล่าให้บุคคลแปลกหน้า(ที่อาจจะได้หรือไม่ได้ทำงานร่วมกัน)ฟังก็ได้ ควรจะมีคำตอบที่ไม่นำไปสู่คำถามเพิ่มเติมอีก ในกรณีที่เรามีเหตุผลส่วนตัวจริงๆที่เราไม่อยากเล่า

ในการถามคำถามในการสัมภาษณ์ ผมเองก็พอจะนึกออกว่า ผู้ถูกสัมภาษณ์อาจจะเริ่มรู้สึกว่า บางคำถามอาจจะถามลึก หรือส่วนตัวเกินไป เรื่องนี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของผู้ตอบที่จะต้องอ่านเกมให้ออกว่า ผู้ถาม ถามเพื่อยั่ว ทดสอบ มีความสนใจส่วนตัว หรือล้ำเส้นจริงๆ ทางออกหนึ่งที่ผมคิดว่า ผู้ตอบมีสิทธิ์ทำได้ คือถามกลับไปตรงๆว่า ประเด็นของคำถามนี้คือะไร เพื่ออะไร จะใส่รอยยิ้มเข้าไปด้วยก็ได้ เพื่อให้ผู้ถามต้องเดาทางไม่ถูก ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร

เรื่องการถามกลับนี่ เป็นเรื่องที่ผมค่อนข้างสนใจ เพราะมันเปิดโอกาสให้เราได้เห็นมุมมอง แนวคิด หรือนำ้หนักในทิศทางของผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ดี คำถามง่ายๆ ที่ผู้เข้าส้มภาษณ์สามารถถามกลับได้ อาจจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกรรมการสัมภาษณ์ ผมเชื่อว่า ไม่น้อยเลยที่กรรมการมัวแต่พุ่งเป้าไปที่การทำความรู้จักผู้เข้าสัมภาษณ์ โดยไม่ได้แนะนำตัวเอง เรียงลำดับความสัมพันธ์กรรมการทั้งหมดในห้องว่า แต่ละคนทำหน้าที่อะไร และทำไมถึงมาสัมภาษณ์ในนี้ ซึ่งมักจะหนีไม่พ้นฝ่ายบุคคล และสายงานที่ต้องการรับคน

คำถามที่ผู้สัมภาษณ์น่าจะถาม (มากไปกว่าแค่สวัสดิการ ที่จอดรถ ประกันสุขภาพ เวลาเข้า-ออก) ก็อาจจะเป็นจำนวนคนในแผนก อัตราการลาออกของแผนก ตำแหน่งที่รับเข้ามาเป็นตำแหน่งใหม่หรือแทนที่คนเก่า คนเก่าไปไหน การเติบโตของจำนวนพนักงานในแผนก อายุเฉลี่ยของคนในแผนก จากนั้นถึงค่อยลากไปสู่ลักษณะของการ สไตล์การทำงาน แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้เป็นประสบการณ์ สำหรับคนที่เพิ่งจบใหม่ๆ อาจจะตื่นเต้นเกินกว่าจะถามกลับ แต่ถ้ามีโอกาส ก็น่าจะตระหนักว่า เหล่านี้เป็นสิทธิของผู้สัมภาษณ์ที่สามารถถามได้นะครับ เชื่อว่าหัวหน้างานหลายๆคนอยากบอกให้รู้ก่อนอยู่แล้วล่ะ ถ้าไม่ลืมบอกไปก่อน ยิ่งถ้ามีโอกาสได้เจอเจ้าของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นองค์กร ๑๐ คน หรือ ๕๐๐ คน ก็ไม่เป็นไร นั่นเป็นโอกาสดีที่จะได้ถามทิศทางขององค์กรที่ผู้นำอยากจะไป คำถามง่ายๆว่า คิดว่าจะนำองค์กรไปสู่ระดับใหญ่กว่านี้อีก ๑๐ เท่า หรือ เจ้าของไม่คิดว่าจะไม่โตไปกว่านี้มากนัก ก็น่าจะเป็นคำถามเปิดที่จะเห็นทิศทางได้ดี

อย่าไปคิดว่า “เรามาของานเขาทำ”แต่อย่างเดียว ที่จริงแล้ว มันก็มีส่วนของ”เรามีฝีมือมาขาย ไม่ได้มาขอเงินฟรี”อยู่ด้วย แต่ก็ต้องระมัดระวังมารยาทในการถามนะครับ อย่าให้ดูก้าวร้าว คนไทยเรามักจะรับไม่ได้น่ะ

โดยรวมๆแล้ว เมื่อผู้สัมภาษณ์มักจะมองหาตัวตนของผู้เข้าสัมภาษณ์ทั้งในแง่ Hard Skill และ Soft Skill (หรือจะบอกว่าเป็น Quality และ Quantity ก็พอไหว) เท่าที่พอจะทำได้ในเวลาอันจำกัด ผมเองยังก็เคยเจอมารายหนึ่ง เป็นคนที่มีประสบการณ์การทำงานมาระดับหนึ่ง มีใบ certificate มากมาย ดูแล้วน่าจะไปได้ไกล แต่ปรากฏว่า ไม่ว่าหัวหน้าจะส่งไปไหน มีแต่เสียงโทรศัพท์กลับมาต่อว่า ว่าอย่าส่งคนๆนี้มาอีก ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานภายใน หรือไปติดต่องานกับลูกค้าภายนอก ผมเองไม่ได้มีโอกาสทำงานกับคนๆนี้โดยตรง แต่กิตติศัพท์ร่ำลือตรงกันทุกหน่วยงานจริงๆ แม้กระทั่งน้องๆในแผนก ก็เจอกับตัวเอง เมื่อต้องออกไปหาลูกค้าด้วยกัน จนในที่สุด พนักงานคนดังกล่าวก็ลาออกไป เนื่องจากไม่สามารถทำงานเข้ากับใครได้เลย แม้ว่าฝ่ายบุคคลจะย้ายงานให้ไปอยู่หน่วยงานอื่นๆแล้ว ผมก็ยังได้ยินเสียงให้หลังว่า ตอนสัมภาษณ์ก็ไม่ได้นึกเลยว่า จะออกมาเป็นแบบนี้ เสียดาย มีใบ certificate ต่างๆเต็มไปหมด น่าจะเก่ง ในกรณีนี้ ผมเองก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าย้อนอดีตกลับไปได้ใหม่ ด้วยกลไกการสัมภาษณ์งานเดิมๆ ทั้งหัวหน้าแผนกและฝ่ายบุคคลก็คงรับคนคนนี้เข้ามาเหมือนเดิม เพราะจะว่าไปแล้ว ในเวลาสัมภาษณ์งาน ๑ ชั่วโมง เรามักจะมอง Soft Skill ของคนได้ยากจริงๆ ส่วนที่เป็น Hard Skill นั้น สอบถามสักสองสามคำถาม ก็พอจะมองเห็นทางอยู่ หรือดูจากใบประกาศฯต่างๆ ผมอดนึกถึงกรณีไม่ได้ ขณะที่เขียนบทความนี้ เพราะกรณีนี้ เป็นกรณีศึกษาของบริษัท เป็นสิ่งเตือนใจว่า รับคนผิด ปวดหัวกันไปหมดทั้งบริษัท

ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เชื่อว่าหลายๆท่านคงจะมีความเห็นที่ต่างไปจากผมบ้าง เรื่องแบบนี้ไม่มีผิดไม่มีถูก แต่ละคนก็มีรูปแบบของตัวเอง ตามถนัด ขอเขียนเรื่องนี้ สลับกับการเขียนเรื่องพอดคาสท์บ้างนะครับ กลัวจะเบื่อกันไปก่อน เจอกันฉบับหน้าครับ สวัสดีครับ