ตำแหน่ง… ใครว่าไม่สำคัญ

เขียนให้นิตยสาร Go Training เดือนสิงหาคม ๒๕๕๑
๑) ได้ยินในลิฟท์
“พี่คะ คุณxxx เขาลาออกไปแล้วนะ”
“อ้าว เหรอ ไม่เห็นเขาบอกอะไรเลย เห็นท่าทางก็มีความสุขดีนี่นา”
“ได้ยินว่า ที่ใหม่เขาให้เป็นผู้จัดการน่ะพี่ อยู่ที่นี่มาหลายปี ท่าทางแกคงไม่ได้ขึ้นง่ายๆมั้ง หัวหน้าแกก็ยังอยู่”

๒) เจอด้วยตัวเอง
“เฮ้ย รู้เรื่องพี่—ลาออกไปอยู่กับบริษัทzzz หรือเปล่า งงกันไปหมดทั้งแผนกเลยนะ”
“นั่นสิ นึกว่า แกจะอยู่จนเกษียณเลยนะ อายุแกก็ไม่ใช่น้อยๆแล้ว”
“พอถามแก พี่แกก็บอกว่า อายุพี่ก็ไม่น้อยแล้ว ถ้ามีคนมาเสนอโอกาสกับตำแหน่งให้แบบนี้ พี่ก็ต้องคว้าก่อนนะ”

๓) เพื่อนมาบ่นให้ฟัง
“ไม่รู้จะจัดการกับน้องคนนี้อย่างไรดี ทำงานกับใคร ก็มีแต่คนบ่น เป็นคนที่เก่งเรื่องเนื้องานเทคนิคมากๆนะ ส่งไปงาน รับรองว่าปิดเรื่องได้ แต่ทำงานประสานหรือสอนคนไม่ได้เลย”
“ก็ไม่เป็นไรนี่ ให้ทำงานที่เป็นสาขาของผู้เชี่ยวชาญไปเลย ก็น่าจะได้ มีที่ทางให้อยู่ไม่ใช่เหรอ”
“ก็น่าจะเป็นอย่างนั้นอยู่หรอก แต่อีกแผนกเอาตำแหน่งมาล่อให้ย้ายไป ท่าทางเจ้าตัวก็คงอยากอยู่ แต่ที่โน่นจะรู้ไหมเนี่ยว่า จะเจออะไรบ้าง”

ทั้งสามเรื่องข้างต้นนี่ คงเคยได้ยินกันมาบ้างใช่ไหมครับ เป็นเรื่องธรรมดา ผมเองผ่านมาทั้งบทบาทของลูกน้อง ผู้จัดการ เจ้าของกิจการ และกลับมาเป็นผู้บริหารอีกครั้ง ต้องยอมรับครับว่า เรื่องพวกนี้มีผลทางจิตใจพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นองค์กรใหญ่ ที่นอกจากจะมีเรื่องของตำแหน่งแต่ละบุคคลแล้ว ยังมีเรื่องของคนของใครได้ขึ้นบ้างอีก ยิ่งเห็นยิ่งปวดหัว อาจจะมีบ้างที่พูดว่า ตำแหน่งไม่สำคัญ เงินสำคัญกว่า ก็ไม่ว่ากัน แต่นั่นไม่ใช่ทิศทางที่เราจะมาวันกันในหัวข้อนี้ อยากจะมาเล่าเฉยๆครับว่า เคยเห็นวิธีการแบบไหนบ้างในการจัดการเรื่องเหล่านี้

วิธีหนึ่งที่เห็นกันบ่อยๆหน่อยเลยก็คือ มีตำแหน่งกันหลากหลายไปเลยในองค์กร เพื่อที่ว่าเวลาแลกนามบัตรกันจะได้วัดกันได้ไม่ง่ายนัก ว่ากันตั้งแต่ Manager, Senior Manager, Assistant Vice President, Vice President, Senior Vice President, Executive Vice President, Senior Executive Vice President, Assistant Director, Deputy Director, Director, General Manager, Managing Director

ทั้งหมดนี้ ผมเคยอยู่ในองค์กรที่ใช้ตำแหน่งเหล่านี้มาแล้ว (แต่ไม่ได้เคยดำรงตำแหน่งเหล่านี้นะครับ โอ้ อย่าเข้าใจผิด) แต่พอมาดูบริษัทอื่น หลายๆครั้งก็งงๆเหมือนกัน เพราะบางตำแหน่งอย่าง GM (General Manager) เป็นตำแหน่งที่ใหญ่มาก แต่ก็อยู่ภายใต้ Vice President ก็มี หรือบางครั้ง ตำแหน่ง Vice President แต่ทำไมทำงานแบบนี้หว่า พอได้สอบถามผู้มีประสบการณ์หลายๆท่าน ก็ได้ความเห็นคล้ายๆกันว่า บางตำแหน่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้ดูดี เวลาแลกนามบัตร ดูแล้วมีความสำคัญ พอที่จะคุยงานด้วย ฟังแล้วก็ไม่น่าเชื่อนะครับ แต่ก็เป็นเรื่องจริง แล้วก็ไม่ใช่แค่ที่เมืองไทยหรอก ต่างประเทศก็มีเหมือนกัน เพราะมีชาวต่างชาติที่เคยทำงานด้วยกัน หรือรู้จักกัน ก็เคยเจอเรื่องพวกนี้  ที่เคยเจออีกแบบก็คือ ตำแหน่งต่างๆของบริษัทข้ามชาติทั้งหลายนี่แหละ บางคนดูตำแหน่งแล้ว ไม่ได้ใหญ่โตมากมาย เช่น เป็น  Vice President อยู่ที่สำนักงานสิงคโปร์ แต่มีคนมาอธิบายให้ฟังว่า ที่จริงแล้วตำแหน่งของคนนี้เป็น Vice President ในระดับของ corporate ไม่ใช่ระดับ Regional นั่นคือเป็นตำแหน่งที่ใหญ่มาก นั่นสิ ไม่บอกก็ไม่ทราบเหมือนกัน  ที่เคยเจออีกอย่างคือ ในบริษัทเดียวกัน มี Managing Director ในภูมิภาค แล้วยังมี Managing Director ประจำทวีปอีก ดูแล้วก็ยังนึกสงสัยว่า บริษัทนี้มีลูกทีมบ้างไหมนี่

บางครั้งก็ดูเหมือนว่า ปรับเปลี่ยนตำแหน่งกัน เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรดี กับคนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะองค์กรตั้งมากว่าสิบปี มีคนยุคบุกเบิกหลายคน มีเป็นร้อยคนที่ไต่เต้ามาเป็นใหญ่เป็นโต พอขึ้นตำแหน่งให้ ก็ต้องรักษาน้ำใจ ตามประสาคนไทย ตั้งให้ทัดเทียมกัน พอคนโน้นขึ้น คนนี้ก็ต้องขึ้นด้วย นึกว่า เรื่องจะจบแล้ว แต่ปรากฏว่า อีกทีมหนึ่งก็ไม่พอใจ เพราะกลายเป็นว่า คนของคนนี้ ได้ขึ้น แล้วทำไมคนของอีกคนหนึ่งไม่ได้ขึ้นด้วย ไปๆมาๆ ตำแหน่งเท่าเทียมกันหมดเป็นแผง ทำไป ทำมา ตำแหน่งหมด ไม่รู้จะใช้ระบบไหน แล้ว ซอยตำแหน่งให้มีทั้งคำนำหน้าตำแหน่งเพิ่ม เช่น assistant manager, acting manager, assistant vice president และอื่นๆอีก เท่าที่จะพอหาคำมาใส่ให้ แต่ก็หมดตำแหน่งที่จะให้แล้ว ก็ยกเลิกการใช้ระบบ manager / vice president มาเป็นระบบ director มีทั้ง Assistant Director, Deputy Director และ Director ดูแล้วก็สนุกดี พอๆกับต้องปลง เพราะที่จริงแล้ว ทุกคนอยู่ที่เดิม ทั้งเงินเดือน และหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่ก็น่าเห็นใจจริงๆ มองไปข้างบน ก็รุ่นพี่อยู่กันเต็ม ดูแล้วก็ไม่มีท่าทีจะไปไหน อายุยิ่งมาก ยิ่งไม่น่าจะขยับมาก มองดูคนรุ่นใหม่ที่เข้ามา ก็ดูมีศักยภาพดีเหลือเกิน ได้ตำแหน่งไปชดเชยบ้าง ก็พอจะมีความสุขดีอยู่

แต่เรื่องพวกนี้ก็มองข้ามไม่ได้ เพราะมีผลต่อการติดต่อภายนอกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเรียน MBA (“เราเน้นรับระดับผู้บริหารระดับกลางขึ้นไป มาเข้าเรียนของเรา”) การนัดหมายเข้าพบ การดูแลลูกค้า (ตัวอย่าง เช่น “พี่ๆ ทางโน้นเขาส่งระดับ vice president มา พี่น่าจะออกไปรับแขกหน่อยนะ”) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพื่อนๆ เวลาแจกนามบัตรกันน่ะครับ หลายๆคนก็สะกิดใจที่เห็นเพื่อนร่วมรุ่นไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว แล้วทำไมเรายังได้อย่างนั้นบ้างหว่า อย่ากระนั้นเลย ลองไปหาโอกาสในที่ใหม่ๆดีไหมเนี่ย

แน่นอนว่า ทุกที่จะมีหลักเกณท์เขียนไว้ชัดเจนว่า แต่ละตำแหน่งต้องมีความรับผิดชอบอะไรบ้าง หรือต้องมีคุณลักษณะอย่างไรบ้างสำหรับคนที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ ซึ่งถ้าจะว่าไป ก็จะได้เป็นหลักในการพิจารณา หรือเป็นเหตุผลในการปรับตำแหน่งกัน แต่ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ เราคงรู้กันอยู่แล้วมั้งว่า คนไหนเหมาะหรือไม่ อย่างไร

ได้มีโอกาสคุยกับฝ่ายบุคคล ได้ยินจากเพื่อนๆ ก็เลยนำมาเล่าน่ะครับ หลายๆครั้งเราอาจจะมองข้ามเรื่องเหล่านี้ไป โดยลืมความรู้สึกของคนทำงานที่อยากได้รับการยอมรับอย่างเป็นรูปธรรม ลองมองดูรอบๆบ้างนะครับ เผื่อว่า เราจะได้ไม่เสียบุคคลากรที่สำคัญไป ด้วยเรื่องนี้