แนะนำ iTunes U

เขียนให้นิตยสาร Go Training ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

เคยได้ยินวลีที่ว่า Standing on the Shoulder of Giant ไหมครับ วลีนี้เป็นคำพังเพยโบราณที่กล่าวถึงการที่เราได้พัฒนาและเรียนรู้ โดยศึกษาจากองค์ความรู้ของคนรุ่นก่อนที่ได้ทิ้งไว้ให้ ครั้งแรกที่ได้อ่านเจอวลีนี้ ผมชอบมาก มันเป็นการเปรียบเปรยที่เห็นภาพมาก ถ้าได้ไปลองค้นดู จะเห็นว่าเป็นวลีโบราณที่เขียนไว้เป็นร้อยๆปีแล้ว และคนที่ทำให้วลีนี้ดัง ก็คือIsaac Newton ใช่ครับ เป็น Newtonเดียวกับที่เราเคยได้ยินมาเรื่องลูกแอปเปิลหล่นใส่หัวนั่นแหละครับ

วลีนี้เขาเปรียบเปรยการที่เราได้เรียนรู้จากคนรุ่นเก่าว่า เป็นเสมือนกับว่า เราได้ไปยืนเหยียบไหล่ยักษ์ตนหนึ่ง และทำให้เราได้เห็นได้ไกลกว่า และมากกว่าเดิม และมากกว่าที่ยักษ์เห็นอีก (ถ้าสนใจ ก็ลองไปหาอ่านดูได้ครับ เสิร์ชไม่นานก็เจอแล้ว) คมคายดีไหมครับ ที่อ้างถึงเรื่องนี้เพราะวันนี้จะมาเขียนถึงยักษ์นี่แหละครับ มากันเป็นทีมใหญ่ครับ ภายใต้ชื่อทีมว่า iTunes U ครับ iTunes U เป็นโครงการทางการศึกษาของ Apple ที่เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยที่สนใจ สามารถนำเทปบันทึกการสอน ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเสียงและวิดีโอ มาเผยแพร่ให้โหลดไปรับชมกันฟรีๆ ผ่านทางโปรแกรมที่แจกฟรีของ Apple ที่เรียกว่า iTunes (บอกก่อนเลยนะครับว่า คุณไม่ต้องมี iPod คุณก็สามารถใช้ iTunes ได้)

ที่ iTunes U นี้ คุณจะได้เจอแหล่งความรู้มากมายจากหลายๆมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา และหลายๆแห่ง เป็นมหาวิทยาลัยที่เราเคยได้ยินชื่อเสียงกันมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น MIT, Standford, Harvard, Yale, Oxford และอื่นๆอีกมาก หลายๆที่เป็นวิดีโอการสอนของอาจารย์ที่สอนในระดับปริญญาตรีทั้งคอร์ส ซึ่งทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และถ้าคุณเจ้าiPod ด้วยแล้ว คุณก็สามารถนำไปเปิดรับชมทุกที่ ที่เราต้องการ ผมเองยังลองโหลดบางคอร์สของ MIT มาดูเหมือนกัน เพื่อเปรียบเทียบว่า อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ของเขากับของสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของผม (สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง) จะต่างกันสักแค่ไหน สรุปได้ว่า ผมหลับทั้งคู่ ไม่ว่าจะเรียนที่ไหน

นอกจากจะเป็นแหล่งความรู้ในแง่วิทยาการชั้นดีแล้ว หลายๆที่ยังนำส่วนเสริมอื่นๆมาวางไว้ที่นี่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำทัศนศึกษา โปรแกรมแนะนำมหาวิทยาลัย หรือ วิดีโอสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสพิเศษ เช่นวันรับปริญญา ก็มีหลายๆแห่งนำมาไว้ในที่นี้ด้วย รวมทั้งสุนทรพจน์ของ Steve Jobs ในวันรับปริญญาของ Standford ซึ่งเป็นที่ประทับใจไปทั้งโลก คุณก็สามารถรับชมได้จากที่นี่ ส่วนใหญ่แล้ว ทาง iTunes U จะแบ่งเมนูหลักๆตามมหาวิทยาลัย และในหน้าเมนูของมหาวิทยาลัยนั้น ก็จะแบ่งเป็นคณะต่างให้เลือก และเมื่อเลือกเป็นคณะนั้นๆลงไปแล้ว คุณก็จะเห็นรายวิชาที่มีให้รับชม บางแห่งมีเป็นเสียง บ่งแห่งมีเป็นวิดีโอ และหลายๆแห่งก็ให้เลือกทั้งเสียงและวิดีโอ เลือกโหลดได้ตามความสามารถในการดาวน์โหลดของเรา หลายๆคอร์สดูแล้วน่าสนใจ โดยเฉพาะในสายของงานออกแบบหรือศิลป์ เพราะบางเรื่องเป็นการวิจารณ์ผลงานของศิลปินเป็นรายๆไป ดูตื่นตาตื่นใจดี

ถ้าท่านไม่สามารถเลือกได้ว่า จะลองอะไรดี ผมแนะนำให้ไปลองดู Business School ของทุกๆที่ครับ เพราะเชื่อว่า ผู้อ่านของ Go Training น่าจะเป็นวัยทำงาน ที่สนใจหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น hard skill หรือ soft skill เพราะในส่วนของ business school (ซึ่งเกือบทั้งหมด สอน MBA นี่แหละครับ) เขาจะมีคอร์สหนึ่งที่เชิญผู้นำหลายๆองค์กรมาพูด ขอยกตัวอย่างที่ผมติดตามเป็นประจำก็แล้วกัน คอร์สที่ชื่อว่า Stanford Tecnology Venture Program (หรือที่เขียนว่าเป็น Enterpreneurial Thought Leaders Series) ซึ่งเป็นการเชิญระดับเจ้าของกิจการที่กำลังมาแรง หรือ CEO มืออาชีพมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่ผ่านๆมา เช่น

Carly Fiorina ซึ่งเป็น CEO ของ HP ที่โดนปลดออกจากตำแหน่งกลางอากาศ ก็เล่าประสบการณ์ที่โดนมาอย่างนั้นว่า เป็นอย่างไรบ้าง หรือ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งเว็บที่กำลังดังมากๆอย่าง Facebook ก็มาเล่าที่มาที่ไป และทิศทางในอนาคต หรือ Shai Agassi ผู้ลาออกจากองค์กรใหญ่อย่าง SAP เพื่อมาทำธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า เขาคิดอะไรของเขาอยู่

ที่ได้ลองฟังมาจนจำไม่ได้ว่ามาจากมหาวิทยาลัยไหน ก็มีการพูดของ American Express CEO ที่บอกว่า พ่อสอนเขาว่า คนส่วนใหญ่พูดแต่ไม่ทำ ขอเพียงแค่เราทำอย่างที่เราพูด เราก็ประสบความสำเร็จแล้ว แล้วเขาก็บอกว่า ใช่ เขาก็ทำตามนั้น แค่นั้นเอง (โดนเนอะ)

หรือ อย่าง Daven Geffen เจ้าของค่ายเพลงใหญ่อย่าง Geffen Records และเป็นหนึ่งในสามผู้ก่อตั้งสตูดิโอหนัง Dreamworks ร่วมกับ Steven Speilberg ก็ออกมาเล่าอย่างเฮฮาอย่างไม่น่าเชื่อว่า จะเป็นเจ้าขององค์กรใหญ่ มิหนำซ้ำ ยังเล่าหน้าตาเฉยว่า เขาเป็นคนปลอมหลักฐานการศึกษาของตัวเองเพื่อให้ได้งาน เพราะเขาไม่ได้จบอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย อาศัยว่าเป็นคนที่เอาตัวรอดเก่งเท่านั้นเอง เป็นการพูดที่สนุกไปอีกแบบ และถ้าคุณได้ไปฟังพนักงานของ Google เล่าเรื่องการทำงานของเขาแล้ว คุณจะต้องทึ่ง หลายๆคนใน Google ได้รับเชิญให้ไปพูดในมหาวิทยาลัยหลายๆแห่ง และพวกเขาก็พร้อมที่แบ่งปันประสบการณ์ให้หลายๆคนได้รับรู้ ฟังแล้ว ก็จะรู้สึกว่า ที่จริงที่เขารู้และทำเนี่ย ก็ไม่ได้ต่างจากเราเท่าไรหรอก แต่โอกาสเขามีมากกว่าเท่านั้นเอง ฟังพวกนี้แล้ว มันโดนมากครับ

หลายๆเรื่องก็เป็นที่รู้ๆกันอยู่ แต่พอเบอร์หนึ่งขององค์กรออกมาเล่าเองแล้ว มันมีพลังในการเล่าของมันอยู่ สำหรับลูกจ้างอาชีพหลายๆคนที่คิดจะออกมาทำกิจการของตัวเอง การได้รับชมคอร์สเหล่านี้ เป็นการเรียน MBA ในทางอ้อมชั้นดีทีเดียว เพราะคุณได้ฟังจากผู้ที่ประสบเหตุการณ์ตรงจริงๆมาเล่า และเป็นบทเรียนชั้นดีให้เราได้เหยียบขึ้นไปเรียนรู้อีกขั้นหนึ่ง ที่เขียนมานี่ ก็เพราะอยากให้เราได้ไปดูกันนะครับ เพื่อที่เราจะได้วิ่งไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง โดยปล่อยวางเหตุการณ์บ้านเมืองที่วุ่นวายของเราลงบ้าง พอกับอยากเห็นบ้านเราทำอย่างนี้เหมือนกัน ก็เขียนขึ้นมาเผื่อจะมีใครอยากทำอย่างนี้บ้าง ผมเคยลองถามๆมหาวิทยาลัยบ้านเราหลายๆแห่งดูแล้ว เสียงตอบรับส่วนใหญ่ จะออกไปในแนวไ่ม่กล้า ด้วยเหตุผลร้อยแปด ฟังแล้วก็เหนื่อยใจ พอๆกับปลงน่ะครับ มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา มีการแข่งขันเพื่อหาคนเข้าเรียนสูง ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ซึ่งรับรู้กันทั่วโลก เขายังยอมนำความรู้ออกมาให้ดูกัน แน่นอน ต้องมีหวังผลทางการค้ากันบ้าง ในแง่ประชาสัมพันธ์ แต่โดยรวมแล้ว ทุกคนได้ และองค์ความรู้เพิ่ม แต่เมืองไทยเรา เรามีคนใช้ภาษาของเรากันแค่หกสิบล้านคน แต่ทำไมดูหวงกันจัง ทั้งหมดนี้ ก็ต้องออกตัวก่อนนะครับว่า ผมไม่รับอะไรจาก apple (แต่ถ้าให้ ก็รับนะครับ) ที่เขียนขึ้นมานี้ ก็เพราะเห็นเรื่องดีๆแบบนี้แล้ว อยากเผยแพร่ครับ ผมเองก็เรียนรู้จาก iTunes U เยอะมาก และกลายเป็นสิ่งที่ฟังทดแทนวิทยุไปเลย เวลาเดินทาง หรือนั่งรอ ถ้าสนใจอยากเผยแพร่ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ก็ลองมาดูตัวอย่างจากเว็บช่างคุย (http://www.changkhui.com) ของเราก็ได้ครับ เผื่อได้แนวทางในการทำแหล่งเผยแพร่ข้อมูลของตัวเอง สงสัยว่า คราวหน้าต้องเขียนเรื่องการพอดคาส์ทเสียแล้วสิ เรื่องราวของสื่อแนวใหม่ที่ทุกองค์กรสามารถนำไปทำเองได้ เอาไว้เจอกันฉบับหน้าครับ

อายุก็ไม่ใช่เป็นเพียงตัวเลข

เขียนให้ Go Training ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๕๑

เคยเขียนไปครั้งหนึ่งแล้วว่า Peter Drucker ปรมาจารย์ทางด้านการจัดการ (management) เคยเขียนไว้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจ คือ “เวลา” หรือ “Time” มันมาแล้ว มันก็ไป เก็บไม่ได้ แบ่งปันไม่ได้ ขอกลับมาก็ไม่ได้ ถ้านำเรื่องนี้มาประยุกต์ใช้กับชีวิตการทำงาน ผมคิดว่า มันน่าจะนำหมายถึงโอกาส หลายๆคนยอมทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสนั้นๆ ตำแหน่ง หน้าที่การงานยังไม่สำคัญเท่ากับโอกาส แต่จะมีอยู่สักกี่คนที่เห็นโอกาสที่ว่า และสามารถพลิกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

ตัวอย่างมีเยอะแยะมากครับ ที่หาอ่านได้ทั่วๆไป ก็อย่างตอนที่เศรษฐกิจตกสะเก็ด จะมีใครเห็นโอกาสในการเปิดบุฟเฟอาหารญี่ปุ่น คนละ ๕๐๐ บาทบ้าง นอกจากคุณตัน ภาสกรนที หรือ จะมีสักกี่คนที่เห็นโอกาสทางธุรกิจ เมื่อได้เจอร้านกาแฟเล็กๆในเมือง Seattle และสามารถแปลงมันมาเป็น Starbucks ได้จนถึงทุกวันนี้ นอกจากคุณ Howard Schultz (แม้ว่า จะประสบปัญหาในปัจจุบัน แต่ก็เป็นคนละประเด็นกัน)

ที่จริงแล้ว พวกเราทุกคนก็ทำหน้าที่สร้างโอกาสให้กับตัวเองตั้งแต่เด็กๆแล้วล่ะครับ เราทำกันโดยไม่รู้ตัว นั่นคือการเรียนหนังสือไงครับ การศึกษาไม่ได้รับประกันอนาคตข้างหน้าว่า จะประสบความสำเร็จ แต่การศึกษาคือการเพิ่มโอกาสให้กับชีวิต เปลี่ยนอัตราต่อรอง หรือเพิ่มความน่าจะเป็นขึ้นมาว่า ถ้าเรามีการศึกษาดี เราน่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น การได้เข้าสู่สถานศึกษาที่ดีมีชื่อเสียง ก็เป็นการเพิ่มโอกาสเหล่านี้ไปในตัว เพราะเรามีโอกาสได้พบปะสังสรรค์ผู้คนมากขึ้น เพิ่มโอกาสให้กับตนเองในวันข้างหน้า  แต่ก็นั่นแหละครับ มันเป็นเพียงเพิ่มโอกาสเท่านั้น ไม่ได้เป็นการรับประกันความสำเร็จ ทุกคนคงต้องหาเอาเองว่า โอกาสนั้นมาแล้วหรือยัง บ่อยไปที่มารู้สึกในภายหลังว่า โอกาสที่ดีที่สุดได้ผ่านไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน หลายๆคนก็มองเห็นโอกาสนั้น ตั้งแต่ก่อนที่จะจบการศึกษาด้วยซ้ำ ในโลกยุคดิจิตอล ไม่มีตัวอย่างไหนดีเท่า Bill Gates แห่ง Microsoft และ Steve Jobs แห่ง Apple ไม่จบปริญญาตรีทั้งคู่ แต่ก็ยอมกระโดดหาโอกาสนั้น เมื่อเห็นว่า มันมาถึงแล้ว และไม่มีความจำเป็นต้องรออีกต่อไป

แต่โอกาสเหล่านั้น ดูจะจำกัดเหลือเกินในหลายๆอาชีพ เช่น กีฬาอาชีพในหลายๆสาขา เพราะโอกาสเหล่านี้มันดันไปผูกพันกับอายุ นักฟุตบอลอาชีพมีโอกาสหรืออายุในการใช้งานไม่น่าเกิน ๒๐ ปี (๑๗ ถึง ๓๗ ปี) จากนั้น ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว ที่จะมีโอกาสได้เล่นอย่างเต็มที่อีก นอกจากกอล์ฟแล้ว กีฬาอาชีพในโลกนี้ แทบจะไม่เหลือที่ให้ผู้สูงอายุได้เล่นเลย แต่ก็นั่นแหละ เมื่อเวลามีให้น้อย ธุรกิจก็ตอบแทนด้วยค่าตอบแทนที่สูงลิบ ถ้าทำได้ดีจริงๆ David Beckham, Michael Jordan, Tiger Woods และ Roger Federer เป็นตัวอย่างของคนที่ไปได้ถึงจุดที่สูงที่สุดจุดนั้นจริงๆ แต่ในวงการนักกีฬาอาชีพ ในช่วงอายุการใช้งานที่ค่อนข้างสั้น เมื่อเทียบกับอาชีพอื่น จะมีอยู่สักกี่คนที่ทำได้ขนาดนั้น เชื่อเหลือเกินว่า คงมีนักกีฬาอาชีพหลายๆท่านที่เลิกเล่นไปแล้ว มีความรู้สึกว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะวางแผนการดำเนินชีวิตใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเล่น การดูแลสุขภาพ และการใช้เงิน แต่ก็นั่นแหละครับ หลายๆคนมารู้สึกตัวเมื่อโอกาสนั้นได้ผ่านไปแล้ว

แล้วพวกเราที่เป็นมนุษย์เงินเดือนอาชีพล่ะ จะว่าไปแล้ว วงจรชีวิตการทำงานก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ช่วงเวลาใช้งานจะยาวกว่า แต่คงต้องยอมรับกระมังครับว่า โอกาสที่เราได้รับกับอายุ มักจะผกผันกัน เมื่อเราอายุมากขึ้น เราจะมีโอกาสในการพิสูจน์ฝีมือน้อยลง ผมขอตั้งข้อสังเกตุของตัวเองเกี่ยวกับอายุไว้ว่า ดังนี้ครับ

  • ช่วงอายุ ๒๐ ปีถึง ๓๐ ปีเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ สร้างความชำนาญเฉพาะทาง มองหาทิศทางของตัวเอง
  • ช่วงอายุ ๓๐ ปีถึง ๔๐ ปีเป็นช่วงสั่งสมประสบการณ์ บารมี และสร้างเนื้อสร้างตัว
  • ช่วงอายุ ๔๐ ปีถึง ๕๐ ปีเป็นช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด
  • ช่วงอายุ ๕๐ ปีถึง ๖๐ ปีเป็นช่วงที่อยู่บนฐานที่ได้สร้างไว้ในช่วงที่แล้ว

เวลาไปที่ทำงาน ไปหาสถานที่ประกอบการอื่นๆ ไปหาลูกค้า ผมมักจะพบคนอายุ ๒๐ กว่าปี จนถึง ๓๐ กว่าปีเป็นส่วนใหญ่ คนที่มีอายุมากกว่านี้ ก็พอเห็นอยู่บ้าง แต่เป็นจำนวนที่น้อยจริงๆ ลองหางานตอนอายุ ๔๐ สิครับ คุณจะพบว่า คุณได้รับโอกาสน้อยกว่าตอนอายุ ๓๐ หลายเท่านัก

แต่เรามีทางเลือกนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโอกาส หาโอกาส หรือ รอโอกาส ทางเลือกเหล่านี้มักจะเปิดเสมอ ขึ้นอยู่กับว่า เราเป็นคนประเภทไหน คนที่เป็นนักประกอบการ ไม่อยู่เฉย มักจะ สร้างโอกาส คนที่มีความสามารถมักจะหาโอกาส และคนส่วนใหญ่มักจะรอโอกาส ผมไม่อยากจะใช้คำที่แรงนักสำหรับนักรอโอกาส เพราะมีหลายๆคนที่ต้องบอกว่า ต้องรอโอกาส หรือต้องให้เวลากับพวกเขาจริงๆ แต่หลายๆคนที่เหลือในกลุ่มนี้น่าจะไม่ใช่

ประเด็นที่เขียนนี่ ก็เพียงอยากบอกว่า โอกาสเนี่ยสร้างได้นะครับ ยิ่งเมื่อมีอายุมากขึ้น ทางเลือกในการเดินของเราอาจจะลดลง แต่ถ้าเราเป็นคนสร้างโอกาสเองเนี่ย อายุอาจจะไม่ใช่อุปสรรค หลายๆคนบ่นเสียดายโอกาสในการเรียนเมื่อสมัยยังเด็ก แต่หลายๆคนก็ใช้ความเสียดายนี้ไปเรียนหนังสือแทนในตอนโต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนปริญญาตรีเพิ่มเติม เรียน MBA หรือเรียนเพิ่มเติมความรู้เฉพาะทางอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง ยิ่งหลายๆคนเห็นว่า ด้วยพื้นฐาน หรือความชำนาญที่มีอยู่ น่าจะเป็นอุปสรรคในความก้าวหน้าทางอาชีพ แทนที่จะรอโอกาสที่จะได้รับการหยิบยื่นจากองค์กร ก็ตัดสินใจออกไปดำเนินกิจการของตัวเองเลย เพื่อสร้างโอกาสใหม่ อันนี้สิครับ เก่งจริง ถ้าใครได้มีโอกาสอ่านประวัติของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี (เจ้าของเบียร์ช้าง แม่โขง แสงโสม  และอื่นๆอีกมาก) ก็จะเห็นได้ว่า ท่านเป็นคนที่มองเห็นโอกาสและกล้าที่ก้าวไปคว้ามันมาจริงๆ เชื่อว่า หาอ่านได้ไม่ยากครับ (ผมเอง อ่านจาก “ตำนานชีวิตเจ้าสัว” ๕๕ ตระกูลดัง ภาค ๒ สำนักพิมพ์เนชั่น)

เห็นการใช้ชีวิตของน้องๆหลายๆคน ทั้งที่เป็นรู้จักเป็นการส่วนตัว รู้จักผ่านทางรายการพอดคาสท์ที่ผมจัด หรือในที่ทำงานที่ผมทำประจำอยู่แล้ว ผมอดเป็นห่วงไม่ได้ หลายๆคนไม่ได้ใช้โอกาสที่ได้รับ ไม่ว่าจะมองไม่เห็น หรือเห็นแต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ เสียดายแทนครับ

อาจจะนอกเรื่องสักนิด แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด นักธุรกิจท่านหนึ่ง ประกอบกิจการอาบอบนวด เป็นธุรกิจด้านมืดของสังคม มีเหตุให้ต้องขึ้นข่าวหน้าหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่า มีส่วนในการส่งคนเข้ารื้อถอนสถานที่บนถนนสุขุมวิทอย่างอุกอาจ กลับสามารถพลิกวิกฤติให้กลายมาเป็นโอกาส จนทำให้นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ได้มีตำแหน่งในแวดวงการเมืองได้อย่างไม่น่าเชื่อ และมีทีท่าว่าจะสามารถสร้างสีสันไปอีกนาน แต่ในขณะที่บ้านเมืองเราผ่านวิกฤติการเมืองในรอบ ๓ ปีที่ผ่านมาหลายๆครั้ง ว่ากันว่า เป็นยุคที่การเมืองแย่ที่สุดตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา แต่พรรคการเมืองที่มีอายุมากที่สุด ก็ยังไม่สามารถพลิกสถานการณ์จากการโอกาสในการเลือกตั้งทั้งสองครั้งได้ ทั้งๆที่มีคนให้กำลังใจอยู่ไม่น้อย โอกาสเนี่ย ดูเหมือนว่ามันจะมาอยู่ตรงหน้า แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้มันไปจริงๆ

ลองวางแผนกันดีๆนะครับ โอกาสกับอายุมันมักจะมาผกผันกัน แต่สำหรับคนที่เลยวัยหนุ่มสาวแล้ว ผมเชื่อว่าโอกาสนั้นยังมีครับ แต่เราคงต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสนั้นครับ และเมื่อไรที่เรามาถึงจุดที่เราพอใจแล้ว เราก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้เต็มที่ โดยการให้โอกาสคนอื่นบ้างครับ เจอกันตอนหน้าครับ

เล่าเรื่องแบบมืออาชีพ ตอน ๓

เขียนให้นิตยสาร Go Training ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๕๑

ขอกล่าวทวนสรุปจากสองตอนที่แล้วก่อนนะครับ ก่อนที่จะว่ากันต่อในตอนนี้ ในตอนแรก เรามาว่าถึงความสำคัญของการเล่าเรื่อง และยกตัวอย่างของการทำ Presentation ชั้นครูของ Steve Jobs ซึ่งทั้งๆที่ทุกคนทราบว่า เขาต้องขึ้นมาขายของแน่ๆ แต่ยังมีคนตั้งใจฟังทุกครั้ง เป็น Talk of the Town ไปทั้งโลก โดยไม่ต้องโฆษณา จากนั้นในตอนที่สอง เราก็มาว่ากันถึงหนังสือ ๔ เล่ม ที่ผมได้อ่านเอง แล้วก็นำมาเล่าคร่าวๆว่า แต่ละเล่มเน้นจุดไหน มีทั้งทางเทคนิค ความสร้างเรื่อง คุณลักษณะของเรื่อง และการแสดงออก

ถ้าเรานำหนังสือทั้งสี่เล่มมารวมกัน แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับการเล่าเรื่องอย่างมืออาชีพ เราคงสามารถแบ่งขั้นตอนการเตรียมตัว ได้เป็นสามขั้นตอน คือ
๑) การเตรียมเรื่อง
๒) ร้อยเรื่อง การหาจุดเด่นของเรื่อง
๓) การเตรียมพร้อมทางเทคนิค
๔) การแสดงออกระหว่างพูด

๑) การเตรียมเรื่อง อันนี้เป็นหัวใจของเล่า ถ้าเราเป็นนักขาย การเตรียมเรื่องคือ การศึกษาข้อมูลของสินค้าและบริการที่เราจะนำเสนอ ข้อดี ข้อด้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่ง คุณลักษณะเด่นที่ต้้องทำให้ผู้ฟังเข้าใจให้ได้ การหาตัวอย่างมาสร้างเป็นเรื่อง เพื่อลดความซับซ้อน ลดข้อโต้แย้ง และโน้มน้าวให้ผู้ฟังเข้าใจ ถ้าเรารู้ถึงขั้นว่า เราจะไปนำเสนอเรื่องให้ใครฟัง กี่คน ระดับความเข้าใจเฉพาะทางของคนฟัง จะช่วยให้เราสร้างเรื่องได้ง่ายขึ้น หรือสนุกขึ้น แน่นอนครับ ในชีวิตประจำวันทั่วๆไป เราไม่มีทางเตรียมตัวได้มากนัก อาจจะเกินครึ่งด้วยซ้ำ ที่เราจะเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนแนวทางการพูด อันนี้เป็นประสบการณ์ครับ เป็นความสามารถที่เราต้องสะสม แต่ที่แน่ๆ ถ้าเรามีการเตรียมตัวทางด้านพื้นฐานมาดี ไม่ว่าสถานะการณ์จะเปลี่ยนไปขนาดไหน การเตรียมตัวมาดี จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ แต่ที่แน่ๆ นอกจากประสบการณ์แล้ว สิ่งที่จะทำให้น่าเชื่อถือที่สุดคือ คนพูดต้องรู้จริง

หนังสือ Made to Stick และ The Story Factor จะช่วยเราเตรียมตัวตรงนี้ได้ดี คุณลักษณะทั้ง ๖ ข้อของเรื่องที่ดี (Simple, Unexpected, Concrete, Credible, Emotional และ Story) จาก Made to Stick น่าจะเป็นตัวตรวจสอบการนำเสนอเรื่องของเราได้ดี ว่ามีครบถ้วนทั้งหกข้อหรือไม่ ยากครับยาก ผมเองก็ไม่สามารถทำได้หมดทุกครั้ง แต่ก็นั่นแหละครับ ผมว่า ทุกคนคงไม่สามารถเล่นกอลฟ์ได้เก่งอย่างไทเกอร์ วูดใช่ไหมครับ แต่ไม่มากก็น้อย นั่นก็เป็นเป้าหมายที่เราสามารถตั้งขึ้นมาเป็นโจทย์ได้ ถึงเราจะไม่ยังสามารถเล่าให้ได้อย่าง Steve jobs แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรพยายามใช่ไหม

เรื่องราวทั้งหกแบบ (Who I am, Why I Am here, The Vision, Teaching, Values-in-Action และ
I Know What You Are Thinking) จาก The Story Factor จะเป็นการนำการพูดของเราว่า จะนำเสนอไปในทิศทางไหน อันนี้ยากครับ ต้องอาศัยอ่านมากๆเข้าช่วย อยากให้หาเล่มนี้มาอ่านจัง นานๆจะได้เห็นหนังสือที่เขียนอะไรออกมาแปลกๆแบบนี้สักที

๒) ร้อยเรื่อง การหาจุดเด่นของเรื่อง อันนี้เป็นการทำให้เรื่องดูน่าสนใจ แน่นอนว่า เราจะมานำเสนองาน อาจจะเป็นการขายของ แต่ถ้าสไลด์แผ่นแรก เป็นตารางราคาแล้วล่ะก็ ที่เหลืออาจจะไม่มีใครสนใจฟังแล้ว

เราคงต้องเรียบเรียงเรื่อง ลำดับเรื่อง คัดเลือกเรื่องที่ต้องการเล่า ให้ลำดับความสำคัญในการเล่าเรื่อง เทคนิคง่ายๆที่ผมชอบใช้เป็นประจำ คือการเลือกใช้ Feature ที่ชื่อว่า Auto Content Wizard ของ PowerPoint นี่แหละครับ เวลาเราจะทำสไลด์เรื่องไหน ก็ไปเลือกหัวข้อ New … (จากเมนูบาร์) แล้วก็เลือกเจ้าหัวข้อ Auto Content Wizard ที่ว่า แล้วก็เลือกเรื่องที่เราจะพูด จากนั้น PowerPoint ก็จะทำ template ออกมาว่า เราต้องพูดถึงเรื่องไหนบ้าง ผมลองให้น้องๆในทีมไปลองใช้หลายครั้งแล้ว ปรากฏว่า ได้เนื้อหาใจความครบถ้วนดี (ถ้าไม่แอบลบหัวข้อที่เขียนไม่ออกไปเสียก่อน) อันนี้ต้องลองครับ ทำเสร็จแล้ว ก็ไปลองซ้อมพูดกับใครต่อใครดูก็ได้ ก็จะพอเห็นว่า เราเรียงลำดับการพูดได้ดีหรือยัง อย่าลืมหลักการ SUCCES ของ Made to Stick ด้วยล่ะ จะได้ทำให้เป็นเรื่องที่คนฟัังสามารถจะจำได้

๓) การเตรียมพร้อมทางเทคนิค จะว่าไป เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีหนังสือออกมาหลายเล่ม รวมทั้งเล่ม Presentation Zen ด้วย แต่ก็เป็นเรื่องที่แปลก เป็นเรื่องที่หาอ่านยากหน่อยสำหรับหนังสือหรือตำราการพูดของไทย หรือจากนักพูดของคนไทย ทั้งนี้น่าจะเป็นว่า เป็นเรื่องใหม่ หรือเป็นเรื่องที่คนไทยเราไม่ค่อยถนัดนัก แม้จะสัมผัสอยู่บ่อย
Presentation Zen ทำให้ผมคิดในหลายๆอย่าง แต่ที่ชอบ เห็นด้วย และจำได้คือ ต้องทำให้สไลด์ออกมา Simple Credible และ Brief (SCB) เคยเห็นการนำเสนองานที่เห็นโลโก้บริษัททุกแผ่นไหมครับ เกือบจะทั้งนั้นเลยนะครับที่เป็นแบบนั้น อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ยกขึ้นมาถาม ลองกลับไปดูงาน Presentation ของ Apple ที่ผมเคยยกมาเป็นตัวอย่างนะครับ จะเห็นได้ว่า เป็นสไลด์พื้นดำเรียบๆ ไม่มีโลโก้เลย
การใช้ Pointer หรืออุปกรณ์ที่ใช้กดเลื่อนสไลด์  โดยที่ไม่ต้องไปกดที่คอมพิวเตอร์ ก็เป็นอีกคำแนะนำหนึ่งจากเว็บไซด์ PresentationZen.Com ซึ่งดีทีเดียว ทำให้การนำเสนองาน ลื่นขึ้น และทำให้ดูเนียนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณกดเลื่อนสไลด์ และพูดต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องหันกลับไปดู หรืออ่านจากสไลด์ โดยหันหลังให้คนดู อันน้ีควรจะใช้เทคนิคอีกอันหนึ่งช่วย นั่นคือการเลือกใช้ Presenter View ซึ่งมีมาให้ทั้งใน PowerPoint (version 2003 ก็มีแล้ว) หรือ KeyNote หลายๆคนที่เคยต่อคอมพิวเตอร์กับจอโปรเจคเตอร์คงคุ้นเคยกันดี กับการที่เราจะเห็นหน้าจอโนตบุคที่เราใช้ กับจอที่โปรเจคเตอร์แสดงภาพเหมือนกัน แต่ที่หลายๆคนอาจจะไม่เคยลองใช้ก็คือ เราสามารถทำให้จอของคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งาน กับจอของโปรเจคเตอร์แสดงภาพไม่เหมือนกันได้
โดยที่เราสามารถตั้งให้ภาพที่ขึ้นที่จอโปรเจคเตอร์ใหญ่เป็นสไลด์ที่เราต้องการนำเสนอ แต่บนจอของเราเอง สามารถเห็นสไลด์แผ่นถัดไป หรือโน๊ตที่เราจดบทพูดสำหรับแผ่นนี้ไว้ หรือ จับเวลาว่าเราพูดที่แผ่นนี้ไปนานเท่าไรแล้ว หรือเลือกว่า จะข้ามไปสไลด์แผ่นใดเป็นพิเศษ อยากให้หลายๆคนได้ไปลองต่อสองจอจากคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกันดู จะพบว่า การใช้งานแบบนี้ น่าทึ่งมากๆ เสียดายที่หลายๆคนไม่ทราบลูกเล่นนี้ ซึ่งอาจจะทำให้การพูดดูน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้

๔) การแสดงออกระหว่างพูด อันนี้เป็นเรื่องของการฝึกซ้อมแล้วครับ อันนี้หนังสือ You are the Message จะพอให้แนวทางได้ว่า ควรจะทำตัวอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พอจะหาอ่านได้ในหนังสือแนะนำการพูดในบ้านเรา การใช้ภาษามือ การใช้สายตา การวางมือ หรือแม้กระทั่งการแสดงออกบนสีหน้า อันนี้ช่วยได้มาก บ้านเราคนที่เก่งเรื่องพวกนี้มากๆ คงเป็นบรรดาตลกอาชีพ การดึงจังหวะการพูดให้ตลก การใช้หน้าตาประกอบบทพูด ดูแล้วเนียนมาก คุณ Roger Ailes ซึ่งเป็นผู้เขียนเล่มดังกล่าว เอ่ยไว้น่าสนใจว่า หลายๆคนเตรียมเรื่องมาดี ข้อมูลพร้อม เทคนิคใช้ได้ แต่เสียดาย ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือการซ้อมครับ ดูแล้วจะเห็นอาการติดๆขัดๆ ไม่ได้ดูเนียน หรือเป็นธรรมชาติ จนทำให้คนฟังลดความตั้งใจในการฟังเสียเฉยๆเลย เห็นด้วยครับ เห็นด้วย แต่ตัวเองก็ยอมรับว่า ขี้เกียจเหมือนกัน คิดเสียว่า เดี๋ยวก็ไปมั่วๆหน้างานได้ แต่หลายๆครั้งเลยครับ ที่พบว่า นึกเสียใจ (อยู่ในใจ)ที่ไม่ได้ซ้อมมาก่อน แต่ก็สายไปแล้ว เสียดาย เสียใจ แล้วก็เสียเวลาจริงๆ

ทั้งสี่หัวข้อที่เอ่ยมานี่ เป็นแนวทางที่ผมคิดเอาเอง โดยอิงจากหนังสือสี่เล่มที่ว่ามา ไม่ได้อิงจากที่ไหน ขาดตกบกพร่องก็กรุณาทักท้วงได้ทางอีเมล์ะครับ

ในชีวิตนี้ ก็เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งนะครับ ที่เห็นการออกมาพูดในรูปแบบที่น่าทึ่ง พื้นๆ เรียบๆ ไม่มีเทคนิค แต่ได้ใจความ ครั้งนั้นผมได้มีโอกาสไปเข้าสัมมนาต่างประเทศ โดยมีคนออกมาพูดหลายๆคน แล้วก็มาถึงคนหนึ่งซึ่งไม่ได้ใช้ PowerPoint หรือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ มีเพียงแผ่นใสแบบสี ธรรมดาๆ แค่ตอนที่ผู้พูดออกมาหน้าเวที ก็น่าทึ่งแล้วครับ เขานั่งรถเข็นมาครับ หมุนล้อมาด้วยตัวเอง ขึ้นมาเล่าประสบการณ์ของตัวเองในการใช้ชีวิตบนรถเข็น อดีตท่านเป็นนักกีฬาอาชีพ แต่ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ ทำให้ไม่สามารถเดินได้อีก แต่เขาก็ใช้เวลานานกว่าจะสามารถทำใจได้ว่า เขาไม่สูงไปถึง ๑๘๕ เซนติเมตรอีกแล้ว ผมประทับใจในเรื่องความมั่นใจในการเล่าเรื่องของท่านมาก ความลื่นไหลในการพูดคนเดียว เนื้อหาที่ร้อยออกมาได้พอดี และเสียงที่ก้องกังวานไปทั้งห้องสัมมนา เรารู้สึกได้ถึงพลังในการเล่าเรื่องของเขาจริงๆ ผ่านมา ๗ ปีแล้ว ผมยังจำบรรยากาศได้อยู่เลย อันนี้เป็นการออกมาพูดที่ทะลุขั้นเทคนิคไปแล้ว เพราะไม่ได้ใช้ PowerPoint เลย เลือกเปลี่ยนแผ่นใสเอาเองว่า ถึงเรื่องไหนแล้ว

ที่กล่าวมาทั้งสามตอนนี้ ก็เป็นเพียงการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้อ่านหนังสือดีๆหลายๆเล่ม ได้เห็นการเล่าเรื่อง หรือการนำเสนองานในแบบที่น่าสนใจ ที่จริงแล้ว ผมเองก็เคยอ่านเจอบทความของคุณแสงชัย สุนทรวัฒน์ ที่เขียนไว้ในคอลัมน์ฟุดฟิดฟอไฟ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อเกือบๆยี่สิบปีที่แล้ว อ่านแล้วก็ยังประทับใจในตัวอย่างที่ท่านยกมา (ประทับใจขนาดที่ว่าผ่านมานานขนาดนี้ ยังจำได้เลย) เนื่องจากผมไม่สามารถหาบทความดังกล่าวได้อีก ผมจึงขอเขียนเท่าที่จำได้ก็แล้วกันนะครับ ผิดพลาดประการใดก็เป็นที่ตัวผมเอง ท่านว่าไว้ว่า ในบรรดานักพูด หรือนักเล่าเรื่องทั้งหมด เราน่าจะจัดระดับคนที่มีความสามารถในการถ่ายทอด หรือการนำเสนอได้อย่างน้อยๆสามขั้น

ขั้นต้นเลย ต้องยกให้บรรดาศาสดาของทุกศาสนา เพราะสิ่งที่แต่ละคนถ่ายทอดออกมานั้น ผ่านมาเป็นพันปี ถ่ายทอดไว้แบบไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่ไฉนเนื้อหาเหล่านั้น ถึงสามารถผ่านกาลเวลามาได้ มีคนเชื่อถือคำพูด นำมาปฏิบัติ รุ่นแล้วรุ่นเล่า ใจความสำคัญก็ยังอยู่ ศาสดาเหล่านี้ เป็นตัวอย่างชั้นครู ที่กาลเวลาพิสูจน์มาแล้ว

ขั้นต่อมาน่าจะเป็นบุคคลสำคัญต่างๆของโลก ตัวอย่างที่ยังได้ยินกันอยู่เรื่อยๆ ก็เป็นบรรดานักการเมืองของสหรัฐอเมริกา ที่หลายๆคนยกย่องกันมากๆ ก็ต้องเป็นจอห์น เอฟ เคเนดี มีคนยกบทพูดจากหลายวาระ มาเป็นตัวอย่างในการพูด อธิบาย หรือขายความคิด ไม่ว่าจะเป็นการพูดเรื่องส่งคนไปดวงจันทร์ หรือเรื่องที่เราหวังว่าเราจะได้อะไรจากรัฐบ้าง อีกสองท่านที่พอจะนึกออกก็คงเป็น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง และโรแนลด์ เรแกน (น่าเสียดายที่การจัดเก็บของเราไม่ได้เป็นระบบ ทำให้ไม่ได้เห็นว่า ปราชญ์ของบ้านเราหลายๆท่านเป็นนักพูดด้วยหรือเปล่า ผมนึกถึงหลายๆท่านที่ผมไม่ได้มีโอกาสได้เจอ เช่น อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หรืออาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์)

ขั้นที่สาม ก็คือบรรดานักพูดร่วมสมัยที่เราได้เห็นกันแหละครับ กาลเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ว่า นักพูดหรือนักเล่าที่เราได้เห็นได้เจอกัน จะเป็น”ของจริง”หรือเปล่า ผมชอบฟังนักการเมืองหลายๆคนพูด แม้ว่าผมจะไม่ชอบพวกเขาหลายๆคนเลยก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า โดยอาชีพแล้ว นักการเมืองทุกคน ทุกประเทศ ต้องมีความเป็นนักพูด นักนำเสนอที่ดี ฟังแล้วน่าเชื่อถือ หรือเคลิ้มตาม ส่วนพฤติกรรมจริงจะเป็นอย่างไร ก็คงต้องไปหาหนทางพิสูจน์เอาเอง เท่าที่ได้ติดฟังมา คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเกือบทุกคน พูดเป็นทั้งนั้น หรืออาชีพทั้งหลายที่ออกโทรทัศน์ ก็ดูจะเป็นคนที่นำเสนองานได้เก่งๆทั้งนั้น และที่น่าทึ่งคือ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาพ ก็ดูเหมือนว่าจะอธิบายได้ดีทีเดียว

ผมเองด้วยหน้าที่การงาน ทำให้ต้องพูดนำเสนองานมากขึ้น ทำให้ผมสนใจเรื่องการนำเสนองานมากขึ้น ซึ่งจากเดิมก็ชอบอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ยิ่งชอบ นอกจากหนังสือสี่เล่มดังกล่าวที่ได้อ้างอิงไปแล้วนั้น ยังมีคัมภีร๊อีกสามเล่มที่เขียนโดยอาจารย์คนเดียวกัน คือ Edward Tufte ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Yale อันที่จริงแล้ว ผมไม่ได้รู้จักผลงานของอาจารย์ท่านนี้เลย แต่เมื่ออ่านหนังสือหลายๆเล่มที่เกี่ยวกับการนำเสนองานด้วยภาพ และกราฟแล้ว เกีอบทุกเล่มจะกลับมาอ้างอิงหนังสือทั้งสามเล่มของอาจาย์ท่านนี้ และยกให้ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการนำเสนองานด้วยภาพไปแล้ว เข้าใจว่า คงหาดูได้ไม่ง่ายนัก เพราะเป็นตำราเก่า ส่วนเล่มที่สี่ที่ชื่อว่า Beautiful Evidence เพิ่งออกมาใหม่ (ปี ๒๐๐๖) อาจจะพอสั่งได้อยู่ แต่สำหรับคนที่สนใจการนำเสนอ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กร ผมคิดว่า ทั้งสี่เล่มที่อ้างไป หรือจะใช้ Presentation Zen เล่มเดียวก็พอแล้ว หวังว่าคงจะได้อะไรไปบ้างนะครับ เจอกันตอนหน้าครับ

เล่าเรื่องแบบมืออาชีพ ตอน ๒

เขียนให้นิตยสาร Go Training ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๑

มาว่ากันต่อจากคราวก่อน ในหัวข้อการเล่าเรื่องนี่แหละครับ โดยขอเร่ิมจากหนังสือดีๆที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ผมได้อ่านเอง สี่เล่ม โดยขอเล่าเนื้อหาของหนังสือทั้งสี่เล่มก่อนว่า เขาว่ากันด้วยเรื่องอะไรบ้าง จากนั้น เรามาลองสรุปเนื้อหาของทั้งสี่เล่ม เพื่อที่เราจะได้นำไปประยุกต์เล่าเรื่องในรูปแบบมืออาชีพของเราบ้าง

เล่มแรกนั้น ผมเขียนไปแล้วในตอนที่แล้ว คือ The Presentation Zen โดย Garr Reynolds ว่าด้วยเรื่องทำอย่างไรถึงจะทำให้งาน presentation ดูน่าสนใจ โดยเน้นที่หลักการง่ายๆว่า ต้องมีคุณลักษณะเด่น คือ Simplcity, Creativity และ Brevity เล่มนี้เน้นเรื่องเทคนิคการนำเสนอให้ดูน่าสนใจ โดดเด่นแตกต่างไปจากที่หลายๆคนเคยเห็นมา แต่ก็ไม่ได้ให้ใช้เทคนิคอย่างฟุ่มเฟือย ให้ดูเรียบๆ แต่เท่ห์แบบ Apple เพราะจะว่าไป ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็เคยทำงานที่ Apple มาก่อน เนื่องจากคราวที่แล้ว ได้อ้างอิงเล่มนี้ไปมากแล้ว ผมจะไม่ขอเล่าเรื่องจากเล่มนี้อีกมากนัก หลักๆแล้วเป็นการใช้งาน Microsoft PowerPoint และ Apple Keynote

เล่มที่สองคือ Made to Stick โดย Chip และ Dan Heath (เป็นพี่น้องกัน) เป็นการศึกษาว่า ทำไมเรื่องราว หลายๆเรื่องถึงยังเป็นที่จดจำ เล่าขานต่อๆกันมาได้ โดยที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเล่าธรรมดาๆ ที่บางครั้งก็หาคนที่เป็นต้นเรื่องไม่เจอแล้ว ตัวอย่างเแรกๆที่หนังสือเล่มนี้ เอ่ยถึง ก็เรื่องของชายคนหนึ่งซึ่งตื่นมาพบว่า เขานอนอยู่ในอ่างน้ำ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำแข็ง และมีป้ายเขียนไว้ว่า อย่าขยับ ให้โทรเรียกรถพยาบาลด่วน เพราะเขาได้ถูกขโมยไตไปแล้ว (หลังจากที่เมื่อคืน ไปกินเลี้ยงกับสาวสวยที่ไม่รู้จักมา และจำไม่ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นในคืนนั้น) ในหนังสือนั้นเล่าไว้ละเอียดกว่านี้ แต่ประเด็นก็คือว่า ผู้เขียนเชื่อว่า หลายๆคนต้องเคยได้อ่านหรือเคยได้ยินเรื่องพวกนี้ ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะเป็นเรื่องที่ผ่านมาหลายปี ก็ยังมีคนจำเรื่องนี้ได้อยู่ เล่าต่อๆกันไปโดยไม่ต้องมีการทำ marketing ก็สามารถมีคนนำไปสื่อสารกันต่อไปได้ ผมอ่านแล้วก็อดยิ้มไม่ได้ เพราะผมเองก็เคยได้รับอีเมล์เรื่องทำนองนี้เหมือนกัน โดยมีรายละเอียดต่างๆกันไปบ้าง เช่นในฉบับของเมืองไทย เหตุการณ์นี้จะเกิดที่ห้างสรรพสินค้ากลางเมือง ที่มีทางเข้าห้องน้ำค่อนข้างลึกลับ เมื่อเทียบกัห้างอืื่น ผมเชื่อว่า ผู้อ่านหลายๆท่านก็ต้องเคยได้ยิน หรือเคยอ่านเรื่องทำนองนี้มาแล้ว หนังสือเล่มนี้ เขาไปลองค้นหาหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่า นิยาย หรือแม้แต่โฆษณา ว่าทำไมเรื่องเหล่านี้ถึงสามารถเป็นที่กล่าวขวัญกันนัก เขาได้สรุปออกมาด้วยครับว่า หลักๆแล้ว เรื่องราวที่จะทำให้จำกันได้ (Made to Stick) มักจะมีคุณลักษณะเด่นอยู่ ๖ อย่าง คือ
๑) Simplicity
๒) Unexpectedness
๓) Concreteness
๔) Credibility
๕) Emotions
๖) Stories
จากนั้น ผู้เขียนก็เล่าในรายละเอียดว่า คุณลักษณะที่ว่านี้ มีส่วนดีอย่างไรต่อเรื่องราวทั้งหลายที่อยู่มายาวนาน ทั้งนี้ เขายังยกตัวอย่างคำพังเพย หรือสุภาษิตโบราณของหลายๆชาติมาด้วยว่า หลายๆชาติมีสุภาษิตหลายๆบทที่เหมือนกัน โดยไม่ทราบว่า มาจากที่ไหนก่อน เท่าที่ผมพอจะนึกออก ก็อย่างเช่น กระสุนนัดเดียว ยิงนกได้สองตัว โดยที่ภาษาอังกฤษเองก็มีว่า Kill two Birds with One Stone ซึ่งทั้งสองภาษา ก็สื่อความหมายของสุภาษิตบทนี้ไปในทางเดียวกัน มีอีกหลายตัวอย่างทำนองนี้ในเล่มนี้ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ส่วนหนึ่งที่สุภาษิตเหล่านี้ มีส่วนคล้ายๆกัน และอยู่่มาได้หลายชั่วคน ก็เพราะมีลักษณะหลายๆอย่างที่ตรงกับคุณสมบัติทั้งหกข้อข้างต้น อ่านแล้วก็น่าสนใจ น่าคิด และน่าจะลองเอาใช้ดู

เล่มที่สาม ชื่อว่า The Story Factor โดย Annette Simmons ซึ่งเห็นบน Amazon.Com มีขายเป็น 2nd Edition แล้ว แสดงว่า ได้รับความนิยมไม่น้อยเลย เล่มนี้สนุกกว่าที่คาดไว้ครับ เขาเล่าว่าเวลาเราต้องเสนอความคิด แสดงผลงาน หรือ พูดในที่สาธารณะชนเนี่ย เราสามารถใช้วิธีเล่าเรื่องได้ เพื่อลดข้อโต้แย้ง เสนอความคิดที่ต่าง โดยที่บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ทั้งนี้ ผู้เขียนบอกไว้ว่า เรื่องที่เราจะเล่าเนี่ย สามารถแบ่งได้เป็น ๖ ประเภท คือ
๑) เรื่อง Who I am
๒) เรื่อง Why I Am here
๓) เรื่อง The Vision
๔) เรื่อง Teaching
๕) เรื่อง Values-in-Action
๖) เรื่อง I Know What You Are Thinking
ตัวอย่างของหนังสือเล่มนี้ที่ใช้เปิดบทแรก ก็เอ่ยไว้น่าสนใจทีเดียว เพราะเขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อทายาทรุ่นที่สามของบริษัทต้องเข้ามาทำหน้าที่สานต่องาน ที่รุ่นก่อนทิ้งไว้ก่อนกำหนด ด้วยประสบการณ์ที่ยังไม่มากนัก อายุก็ยังน้อยเมื่อเทียบกับบทบาทที่ต้องมารับ ประกอบกับทางองค์กรเองก็มีปัญหา เมื่อถึงวันที่ต้องมารับตำแหน่ง ท่ามกลางสายตาของผู้ถือหุ้นหลายๆท่านที่มีท่าทางเคลือบแคลง และนักข่าวที่จ้องจะคอยดูว่า ซีอีโอมือใหม่จะทำอะไรเชยๆ หรือพูดอะไรผิดพลาดบ้าง ผู้นำท่านนี้จะทำอย่างไรในสถานการณ์นี้
เขาเลือกที่จะเล่าเรื่องครับ เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อตอนที่เขาอายุ ๒๕ ปี จบปริญญาโทมาสองใบ ต้องไปทำงานเป็นวิศวกรในโรงงานประกอบเรือ ซึ่งเขาคิดว่า คุณวุฒิของเขาเหลือเฟือกับงานดังกล่าว โดยจุดสำคัญของงานคือ ห้ามประกอบผิดพลาด เพราะความผิดพลาดของการหล่อโครงเรือไฟเบอร์มีมูลค่ามหาศาล

ซึ่งครั้งหนึ่ง มีลูกมือในโรงงานโทรมาหาเขาที่บ้าน เพื่อยืนยันว่าจะทำตามแบบที่เขาเขียนมาจริงๆหรือ ซึ่งเขาก็ยืนยันไปตามนั้น โดยที่เขาเองก็ไม่ได้คิดอะไร แต่ว่าต่อมาอีกหนึ่งชั่วโมง โฟร์แมนก็โทรมาอีกด้วยคำถามเดียวกัน ซึ่งเริ่มทำให้เขาฉุนมาก อดนึกโมโหไม่ได้ว่า เรื่องแค่นี้ยังต้องมาถามอีก ซึ่งเขาก็ยืนยันไปตามเดิม จากนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมง เขาก็ได้รับโทรศัพท์จากประธานบริษัท มาตามให้ดูเรื่องนี้ที่โรงงาน และนั่นเองทำให้เขาได้เห็นว่า แบบที่เขาทำขึ้นมานั้น มีข้อผิดพลาด (เนื่องจากเขาเป็นคนถนัดซ้าย ทำให้แบบที่ออกมา มีการทำสำเนาผิด กลับซ้ายเป็นขวา) จากเหตุการณ์ในคราวนั้น เขาได้รับของที่ระลึกเป็นรองเท้าพิเศษหนึ่งคู่จากที่บริษัท ข้างหนึ่งเป็นสีแดง และอีกข้างเป็นสีเขียว เพื่อเป็นเครื่องเตือนเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อกล่าวถึงตอนนี้ เขาก็หยิบรองเท้าคู่นี้ออกมาจากกล่องที่เขาถือติดมา เพื่อให้ทุกคนได้เห็น หลายๆคนในห่้องประชุมหัวเราะ และเรื่องนี้ก็เรียกรอยยิ่้้มจากหลายคนที่เดิมฉายแววเคลือบแคลงเขาอยู่ บรรยากาศของการแถลงข่าวก็เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ผ่อนคลายมากขึ้น คงไม่ต้องเล่ากระมังครับว่า เพราะอะไร

ในเล่มนี้ มีตัวอย่างเรื่องหลายๆเรื่อง หลายๆสถานการณ์ ที่เราต้องนำเรื่องเล่ามาลดแรงเสียดทานในการนำเสนองาน อ่านเล่มนี้แล้วชอบ รู้สึกว่าคนเขียนฉลาดดี นำเรื่องพวกนี้มาสรุปเป็นหมวดๆได้ลื่น และกลมกลืนดี

เล่มที่สี่เป็นหนังสือที่เก่ามาก ชื่อว่า You Are the Message โดย Roger Ailes เขียนมาตั้งแต่ปี ๑๙๘๘ ซึ่งคนเขียนท่านนี้(ณ เวลานั้น)เป็นที่ปรึกษาทางด้านสื่อให้กับนักการเมือง นักธุรกิจหลายๆคน โดยที่หนึ่งในลูกค้าของเขาคือ Ronald Reagan ซึ่งเขาเองก็ได้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ตรง เมื่อ Reagan ต้องประสบปัญหาในการหาเสียงในสมัยที่สอง เนื่องจากตอนนั้น ประธานาธิบดีคนดังกล่าวมีอายุได้ ๗๓ ปีแล้ว และเมื่อเผชิญหน้ากับผู้ท้าชิงที่มีอายุอ่อนกว่า และมีท่าทีที่ทันกับสถาณะการณ์ปัจจุบันได้ดีกว่าท่านประธานาธิบดีที่ดูจะเริ่มสับสนในนโยบายของตัวเองแล้ว และสถานะการณ์ก็มาถึงจุดคับขัน เพราะ Reagan ต้องขึ้นเวทีสด ออกโทรทัศน์ เพื่อโต้วาทีกับผู้ท้าชิง Walter Mondale เป็นครั้งที่สอง โดยที่ครั้งแรกนั้น ดูเหมือนว่า ทั้งสื่อและมหาชนจะลงความเห็นไปในทางที่ว่า Walter Mondale ทำคะแนนได้ดีกว่า และทาง Reagan เองก็ยังไม่สามารถหาข้อโต้แยงใดๆมาลบประเด็นเรื่องอายุได้เลย ผมไม่อยากเล่าว่า เรื่องนี้จบอย่างไร เพราะเล่าไปก็ไม่สนุกเท่าที่ได้อ่าน เพราะคนเขียนขมวดปม และแทรกบริบทต่างๆใยช่วงเวลาดังกล่าวได้ดีมาก จนอยากให้ได้อ่านกัน เพราะผมเองก็มีโอกาสได้เห็นเทปดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ ทาง Larry King Podcast ซึ่งถ้าไม่ได้อ่านเรื่องนี้มาก่อน ผมเองก็คงเฉยๆกับช่วงดังกล่าว เพราะไม่ได้เห็นบรรยากาศทางการเมือง ณ ขณะนั้นว่ากำลังพุ่งประเด็นเรื่องอะไรอยู่

นอกจากนี้ ในหนังสือเล่มนี้ยังได้เล่าถึึงวิธีการพูด การใช้สายตา การแต่งตัว อารมณ์ด้วย ควรจะเป็นอย่างไร โดยมีตัวอย่างที่เขาเห็นมา มาเล่าให้ฟัง ที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งคือ เขาบอกว่า หลายๆครั้ง เขาจะดูว่าคนพูด หรือพิธีกรรายการทีวีน่าสนใจหรือไม่ โดยการปิดเสียงทีวีซะ แล้วดูว่า เมื่อไม่มีเสียงแล้ว ภาษากาย สายตา ใบหน้าของคนพูดยังน่าสนใจหรือไม่ สนุกนะครับ แต่ผมกลับรู้สึกตรงข้าม ในแง่ที่ว่า ผมเองมักจะให้ความสำคัญของการใช้เสียงมากกว่าการใช้ท่าทาง แต่ประเด็นที่ท่านเขียนไว้ ก็น่าสนใจมากอยู่

พื้นที่หมดอีกแล้ว เอาไว้ตอนหน้า ค่อยมาสรุปจากทั้งสี่เล่มก็แล้วกันนะครับว่า เราน่าจะนำไปใช้ได้อย่างไร

เล่าเรื่องแบบมืออาชีพ ตอน ๑

เขียนให้ นิตยสาร Go Training เดือนเมษายน ๒๕๕๑

อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในองค์กร หลายๆคนคงตอบว่า คน ผมเองก็ตอบว่าคน แต่ Peter Drucker ซึ่งยกย่องกันว่า เป็นปรมาจารย์ทางด้านการจัดการ (Management Guru) แย้งว่า ไม่ใช่ เขาบอกว่า คนสามารถหามาเปลี่ยนได้ ในแง่ว่า บ้านเมืองยังต้องเปลี่ยนผู้นำ องค์กรก็ต้องเคยเปลี่ยน CEO นับประสาอะไรกับพนักงานทั่วๆไป ที่วันดีคืนดีั อาจจะลาออก หรือประสบเหตุให้ต้องออกไป แต่องค์กรโดยรวมก็ยังอยู่ได้

Drucker บอกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเวลาครับ หาซื้อไม่ได้ เก็บไม่ได้ หายแล้วก็หายไป ให้แทนกันก็ไม่ได้ ผมอ่านบทความนี้มากว่า ๑๐ ปี ทุกวันนี้ ก็ยังจำได้ หาทางแย้งในใจหลายต่อหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่าจริง

ถ้าเวลาสำคัญขนาดนั้น แล้วเคยไหมครับ ที่เราเข้าไปฟังการพูด สัมมนา หรือการประชุม แล้วเรารู้สึกเสียดายเวลาจัง ไม่น้อยนะครับ ที่เราจะอยู่ในสถานะการแบบนั้น ผมได้ไปอ่านหนังสือเรื่อง Presentation Zen ของ Garr Reynolds แล้ว มีอยู่ตอนหนึ่งที่เขาเขียนไว้ ทำให้อดนึกถึงที่ Drucker เขียนไว้ไม่ได้ หนังสือเล่มนั้น เขียนเรื่องการทำอย่างไรให้การนำเสนองาน (Presentation) ออกมามีประสิทธิภาพ แล้วเขาก็บอกว่า ลองนึกดูก็แล้วกันว่า เวลาเรานำเสนองานแต่ละครั้ง ต้องเรียกคนมากี่คน แล้วต้องใช้เวลาเท่าไร ถ้าเราไม่สามารถนำเสนอได้ดี หรือไม่มีประสิทธิภาพ แต่ละคนจะเสียเวลามากขนาดไหน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่นำเสนองาน อาจจะต้องเตรียมตัวมากหน่อย เพื่อเตรียมข้อมูลและซักซ้อม แต่เพื่อแลกกับเวลาของแต่ละคนที่เข้าร่วมงาน เมื่อลองคูณเลขเล่นๆแล้ว น่าจะคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปโดยรวม อ่านแล้วก็ชอบ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยากเหมือนกันนะครับ ชีวิตนี้มีไม่กี่ครั้ง ที่ได้เห็นคนนำเสนองานดีๆ หรือแม้แต่ตัวเอง ก็ไม่ได้ทำได้ดีทุกครั้ง ว่าแต่ว่า แล้วแบบไหนล่ะที่เรียกว่าดี

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ หลายๆคนอาจจะได้เคยเห็นคลิปวิดีโอของ Steve Jobs ไม่ว่าจะเป็นเปิดตัว iPhone ในงาน MacWorld เมื่อต้นปี ๕๐ หรือ งานเปิดตัว MacBook Air ที่ MacWorld เมื่อต้นปี ๕๑ ที่เพิ่งผ่านมาอยู่บ้าง อันนี้เป็นตัวอย่างการทำ Presentation ที่ดี ผมอยากแนะนำให้ลองไปหาดู จะไปที่เว็บไซด์ของ Apple ก็ได้ เพื่อดูเป็นตัวอย่างของการนำเสนอแบบมืออาชีพ ผมเองไม่ได้ใชเจ้า iPhone หรอกครับ ไม่ได้อยากได้เท่าไรนัก แต่ที่ต้องทึ่ง คือนานๆจะเห็นการโฆษณาล่วงหน้ากว่าครึ่งปี แล้วสามารถสร้างกระแสได้แรงทั้งโลกขนาดนั้น (ขายจริงปลายเดือนมิถุนายน ๕๐) ทั้งๆที่มีรุ่นเดียว ในขณะที่ยี่ห้ออื่นออกกันปีละไม่รู่้วากี่รุ่นต่อกี่รุ่น แต่ก็ไม่ได้สร้างกระแสความแรงได้เท่าที่ Steve Jobs ทำไว้ ต้องยอมรับว่า วันนั้น Steve ทำได้ดีจริงๆ แล้วก็ให้ไปได้อ่านหนังสือที่มีเนื้อหาในเชิงแนะนำการนำเสนองานที่ดี อยู่สองสามเล่ม อ่านแล้วก็ชอบครับ ก็เลยอยากจะเล่าให้ได้ฟังกันบ้าง

ด้วยหน้าที่การงาน ทำให้ผมต้องกลับมาใช้งาน PowerPoint อีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้จับอย่างเป็นจริงเป็นจัง มาหลายปี และเนื่องจากใช้เครื่อง Apple ทำให้ได้ใช้งานเจ้า Keynote ของตระกูล Apple ด้วย ก็เลยกลับมาดูเทคนิคการนำเสนองานอีกครั้ง ยิ่งคิด ยิ่งทำ ยิ่งรู้สึกว่า การนำเสนองานผ่านโปรแกรมพวกนี้ เป็นวิธีการฝึกคนให้เป็นนักเล่าเรื่องที่ดีทางหนึ่ง ไปๆมาๆ ผมว่า มันไม่ต่างจากการทำหนังสักเท่าไร ยิ่งซอฟท์แวร์สมัยนี้ ทำให้เราใส่เพลง เสียง ภาพและหนังได้ง่ายขึ้นมาก ยื่งทำให้การทำ presentation slide น่าสนุกมาก แต่ที่ยากคือต้องทำให้คนฟัง รู้สึกสนุกไปด้วย

ในหนังสือ Presentation Zen เน้นคุณสมบัติง่ายๆ แค่สามข้อคือ

  1. Simplicity (เข้าใจง่าย),
  2. Creativity (สร้างสรรค์) และ
  3. Brevity (กระชับ)

ยิ่งเมื่อไปเทียบดูกับที่ไ้ด้เห็นการนำเสนอแบบ Apple แล้ว จะยิ่งเห็นได้ชัดขึ้น

เท่าที่ได้เห็นหลายๆงาน Steve Jobs มักจะนิยมเริ่มเรื่องด้วยการนำเสนอผลงาน หรือยอดขายในรอบปีที่ผ่านมา ว่าทำไปได้เท่าไร เป็นอย่างไร โดยทำเป็นกราฟเแท่งง่ายๆ หรือเป็น Pie Chart พื้นๆ ผมดูหลายครั้งก็ยังอดนำมาใช้ไม่ได้ เพราะเขามักไม่นิยมเล่าเป็นตัวเลขที่ละเอียดนัก ไม่จำเป็นต้องบอกว่า ๖ เดือนที่ผ่านมา ทำยอดขายได้ ๖๑,๒๕๐,๐๐๐ ชิ้น แต่จะเขียนแค่ว่า ๖๑ ล้านชิ้น เท่านั้นเอง สั้นๆ ง่ายๆ รายละเอียดบนกราฟ ก็ไม่ได้สนใจสเกลมากนัก มักนิยมทำในเชิงเปรียบเทียบมากกว่า ดูแล้วก็เข้าใจง่ายดี ไม่ต้องคอยหาดูจาก Legend ของกราฟ ก็พอจะรู้ว่า เส้นไหนหลายถึงอะไร ตรงตามหลักการของ Simplicity, Creativity และ Brevity ดีจัง ยิ่งเมื่อนึกถึึงกราฟทีได้เห็นจากการ present ทั้งภายในบริษัท หรือจากคนภายนอกมาพูดให้ฟัง บางกราพต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน กว่าผมเองจะเข้าใจ และบางครั้งทำให้ขาดความต่อเนื่องในการฟังไปเลย

ต่อมาเมื่อมีการเอ่ยถึงข้อดี ข้อเสีย หรือเป็นการบรรยายลักษณะของสินค้า เขาก็เพียงทำเป็น Bullet Points ของ Key Words นั้น ไม่ได้เขียนเป็นประโยคคำพูด เพื่อให้อ่านตาม อันนี้สำคัญนะครับ ถ้าเป็นการนำเสนองาน ในห้องประชุมใหญ่ การเขียนเป็นประโยคจะทำให้คนอ่านตาม แล้วพลอยทำให้เขาลดความสนใจของผู้พูด เพราะว่า ด้วยธรรมชาติมนุษย์ เราอดอ่านตามไมได้ ทั้งนี้ การทำสไลด์เพื่อเป็นการประกอบการพูด ไม่น่าจะต้องเขียนเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนั้น เพราะเขาต้องการให้ฟังคนพูด ส่วนเอกสารที่ต้องให้เขานำติดตัวออกไป เมื่อสิ้นสุดงานแล้ว น่าจะเป็นเอกสารอีกชุดหนึ่ง ซึ่งมีคำบรรยายมากกว่าบนสไลด์ และสามารถนำไปอ่านทบทวนได้ในภายหลัง ลองไปดูสไลด์ที่อยู่บนจอของ Apple เมื่อ Steve Jobs หรือคนอื่นๆขึ้นมาพูดนะครับ จะเห็นได้ว่า มันจะสั้นมากๆ เห็นแล้วเข้าใจทันที โดยเราสามารถไปอ่านรายละเอียดตามได้ในภายหลัง จากเอกสารอื่นประกอบ ไม่ว่าจะเป็น Technical Specfications หรือ User Manual อื่นๆ เห็นแล้ว ก็ชอบ เพราะจริงๆแล้ว (๑) สไลด์ประกอบการบรรยาย (๒) Technical Specification และ (๓) คู่มือใช้งาน เป็นเอกสารสามชิ้น ที่มีวัตถุประสงค์ต่างกัน ใช้คนละวาระ แต่เรามักจะนิยมทำรวมๆกัน เลยพลอยทำให้การนำเสนองาน ไม่น่าสนใจเท่าที่ควร อันนี้ต้องลองไปดูตอนที่ Apple พูดถึง Hardware รุ่นใหม่นะครับ เขาเล่าได้เป็นจุดๆ ในแบบที่น่าสนใจ และมักจะให้คนฟังไปหารายละเอียดต่อเอาเองจาก Technical Specification ซึ่งหลายๆครั้ง เป็นการหมกเม็ดข้อเสีย ไม่ให้จับได้ซะเฉยๆ เนียนมาก

ส่วนที่ซับซ้อนมาก เขามักจะนิยมใช้ภาพประกอบ อันนี้หลายๆคนทราบอยู่แล้วว่า การนำเสนองานด้วยภาพนั้น เข้าใจง่ายกว่าด้วยตัวอักษรแน่ๆ แต่ที่ยากคือ จะใช้ภาพแบบไหน จากไหน และวางภาพอย่างไรให้น่าสนใจ อันนี้อยากให้ลองไปหาดูหนังสือ Presentation Zen จังครับ เพราะมีตัวอย่างดีๆหลายแผ่น หรือลองไปดูที่เว็บของคนเขียนที่ http://www.presentationzen.com ดูครับ ทำได้น่าสนใจดี ถ้ามองย้อนกลับไปที่งาน Apple พอมาถึงตรงนี้แล้ว เขานิยมสาธิตให้ดูเลยครับ เพื่อให้เข้าใจ แต่สำหรับงาน Present ทั่วไป เรามักจะนิยมใช้ภาพกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากหนังสือ หรือจากเพื่อนๆที่อยู่ในวงการที่ปรึกษา หรือ consult มักจะแนะนำให้หาภาพที่เป็นมืออาชีพ หรือไม่อย่างนั้น ก็หลีกเลี่ยงการใช้การ์ตูน หรือคลิปอาร์ตที่แถมมากับ Microsoft Office เพราะมักจะทำให้ดูพื้น ใ้ห้ความรู้สึกไม่เป็นมืออาชีพ พลอยทำให้ไม่น่าสนใจ

และท้ายสุดของการ present งาน Steve Jobs มักจะนำราคามาเฉลย โดยยกข้อดีต่างๆนาๆ มาสรุป พร้อมกับยกตัวอย่างสินค้าคู่แข่งที่พอจะเปรียบเทียบได้ แล้วก็ค่อยเฉลยว่า ตั้งราคาไว้เท่าไร ซึ่งจะว่าไป หลายๆครั้งที่เราไป present งานเอง ถ้าเราทำได้ดีจริงๆ ลูกค้ามักจะถามข้ามช็อตอยู่แล้วว่า ตกลงเป็นราคาเท่าไร อันนี้เป็นสัญญาณที่ดีครับ ผมเองก็ชอบดูการลำดับสไลด์ของ Steve Jobs ในส่วนนี้ timing และ sequence ทำได้ดีทีเดียว เหมือนตอนดูหนังน่ะครับ ๑๕ นาทีสุดท้ายจะเป็นการค่อยๆคลายปมที่ผูกไว้ตั้งต้นเรื่อง ในหลักการเดียวกัน การเปิดราคาในตอนท้าย ดูแล้วน่าสนใจ ทั้งๆที่ราคาของสินค้า Apple เกือบทุกครั้ง มักจะตั้งไว้สูงกว่าคู่แข่ง หรืออย่างน้อยก็จะสูงกว่าที่ผมเดาไว้เสมอ (ยกเว้น Mac OsX อันนี้ถูกมาก) แต่ก็ดูน่าตื่นเต้นทุกครั้ง ดูแล้วก็ต้องนำมาประยุกต์น่ะครับ

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงข้อสังเกตุจากที่ได้เห็นงาน Presentation ที่ดี โดยที่ยังไม่ได้ว่ากันถึงเรื่องเทคนิคของการทำ presentation กันเลย ว่าจะทำอย่างไรให้น่าสนใจ น่าเสียดายที่เนื้อที่หมดแล้ว มาว่ากันตอนหน้าก็แล้วกันครับ ผมอยากนำทีี่เคยอ่านหลายๆเล่มมาเล่าให้่ฟังต่อ

หาคนทำแทน

เขียนให้ นิตยสาร Go Training เดือนมีนาคม ๒๕๕๑

Starbuck, Walmart, Apple, Dell ทั้งหมดนี้ เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่หลายๆคนน่าจะเคยได้ยินชื่อกันบ้าง ทั้งหมดนี้อยู่กันคนละอุตสาหกรรม มีทั้งเครื่องดื่ม ขายปลีก และคอมพิวเตอร์ ทราบไหมครับว่า ทั้งสี่บริษัทนี้ มีอะไรเหมือนกันบ้าง

ทั้งสี่บริษัทนี้ เคยมียุคสมัยหนึ่งที่ผู้ก่อตั้งบริษัท ต้องกลับมาทำงานบริหารอีกครั้ง หลังจากที่ตัวเองวางมือไปแล้ว คุณ Howard Shultz ของ Starbuck ได้วางมือจากการบริหารไปหลายปี จนกระทั่งเมื่อปีัที่แล้ว ปี 2007 เขาต้องกลับมาใหม่ เมื่อบริษัทเริ่มประสบปัญหา จนทางบอร์ดต้องไปเชิญกลับมา

Sam Walton ก็เขียนถึงเรื่องนี้ในอัตชีวประวัติของตนเองเหมือนกัน (Sam Walton: Made in USA) โดยที่ช่วงหนึ่งเขาก็ตัดสินใจวางมือ และมอบให้คนที่เคยทำงานด้วยกัน ให้ช่วยดูแลต่อ แต่ก็ดำเนินงานผิดพลาด จนต้องกลับมาใหม่ อ่านบทนี้ในหนังสือเล่มนั้นแล้ว รู้สึกถึงความลำบากใจที่เขาต้องทำหน้าที่ปลดผู้บริหารออก แล้วก็กลับมาทำใหม่

ที่น่าทึ่งคือ การกลับมาของ Steve Jobs ที่โดนปลดออกจากบริษัทตัวเอง จนผ่านไปกว่า ๑๐ ปี บริษัทดูเหมือนจะดำดิ่งไปเรื่อยๆ ทางบอร์ดก็ตัดสินใจ ไปเชิญกลับมาใหม่ แล้วก็กลับมาได้สวยงามด้วย จนดูน่าเป้นห่วงว่า คนต่อไปใครจะมาแทนได้

แต่ที่ผมงงมากคือการกลับมาของ Michael Dell เพราะ Dell ทดลองใช้ระบบ CEO คู่อยู่นาน จน Michael Dell วางใจ และปล่อยให้คนที่เขาเลือกมาเอง ทำหน้าที่บริหารต่อไป ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์และบทวิเคราะห์เรื่องการวางมือของ Michael Dell หลายแห่ง จนเชื่อว่า ไม่น่าจะพลาด แต่แล้วก็จนได้ Michael Dell ก็ต้องกลับมาบริหารอีก ภายในเวลาไม่กี่ปี อดคิดไม่ได้ว่า เกิดอะไรขึ้น

เคยได้คุยกับเจ้าของกิจการ แล้วได้ยินเขาบ่นไหมครับว่า ลูกน้องทำไม่ได่อย่างใจ หรือบางครั้ง ผมก้ได้ยินว่า อยากหาใครสักคนมาทำเรื่องเหล่านี้แทน เพื่อที่เขาหรือเธอจะได้ไปทำเรื่องอื่นที่อยากทำอีก บ่อยนะครับ ที่ผมได้ยินทั้งสองอย่างนี้ ผมอดนึกเปรียบเทียบกับกรณีข้างต้นไม่ได้ บางครั้งผมก็อดเตือนเพื่อนๆหรือคนรู้จักเหล่านั้น ให้ลองดูกรณีข้างต้นดูบ้างว่า การหาคนทำแทนเนี่ย มันอาจจะยากกว่าที่คิด เพราะอะไรน่ะหรือครับ น่าจะเป้นเพราะว่า ความรู้สึกเป็นเจ้าของต่างกัน และทิศทางในการสร้างแบรนด์ก็ไม่เหมือนกัน การที่จะถ่ายทอดแนวคิดของการสร้างธุรกิจ ให้เข้าใจตรงกัน เป็นเรื่องที่ยาก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ Apple ในสมัยที่ไม่มี Steve Jobs กับสมัยที่เขากลับเข้ามาใหม่ จะเห็นได้ว่า แนวทางการสร้างบริษัท สินค้า เป็นคนละแนวกันโดยสิ้นเชิง ผู้นำองค์กรในสมัยที่ Steve ไม่อยู่ ก็มีแนวทางการทำงานที่แตกต่างกันออกไป และพลอยทำให้แบรนด์ Apple ค่อยๆเสื่อมมนต์ขลังลง จนเมื่อ Steve กลับเข้ามา เหล่าแฟนๆถึงได้รู้สึกโล่งใจ

แต่กรณีที่น่าพิศวงมาก คือกรณีของ Dell เพราะทั้งสองคนทำงานด้วยกันมานาน จนน่าจะอ่านใจกันออกว่า ความคิดน่าจะออกไปแนวไหน แต่เมื่อมีปัญหาหลังจากที่ปล่อยให้เดินเดี่ยว ก็ต้องไปตาม Michael กลับมาจนได้

ในบ้านเราก็ดูเหมือนจะมีกรณีคล้ายๆกันแบบนี้ให้เห็นเยอะมาก แต่น่าจะเป้นเหตุผลว่า ผู้ที่มาแทน ทำได้ถูกต้อง แต่ไม่ถูกใจ มากกว่าจะเป็นกรณีของทั้งสี่บริษัทข้างต้น (ที่ผู้ดำเนินงานต่อ พาบริษัทไปผิดทิศ ผิดทาง เข้ารกเข้าพง จนต้องไปตามคนมาคุมบังเหียรใหม่)

ผมนึกถึงผู้บริหารมืออาชีพที่เข้าไปอยู่ในเครือข่ายโรงหนังใหญ่ในบ้านเรา ที่มีผู้บริหารมืออาชีพเข้าไปร่วมในตำแหน่งบริหาร แต่ก็ทำได้ไม่นาน ก็ต้องอำลาจากเก้าอี้ไป หรือกรณีของคุณอภิรักษ์ ที่เข้าไปทำหน้าที่เป็น CEO ร่วมที่ Orange แต่ก็ขอลาออกเพื่อไปลงสมัครผู้ว่ากทม. การหาตัวเลือกสำหรับคนในระดับนี้นั้น เรื่องเงินไม่ได้เป็นปัจจัยแล้ว แต่น่าจะเป้นเรื่องแนวทางการทำงาน มากกว่าว่าไม่ถูกใจ ทั้งๆที่ก่อนจะเลือกคนเข้ามา ผมก็เข้าใจว่า เจ้าของกิจการคงจะคิดแล้วคิดอีก

ทั้งนี้คงจะเป็นการฉายภาพแนวคิดของเจ้าของกิจการพอสมควร ว่าเจ้าตัวคิดอย่างไร ที่นิยมทำกันมากๆทั้งในและนอกประเทศ โดยที่ผมสรุปเอาเอง ก็มี คือ

๑) ส่งมอบกิจการให้ลูกหลานทำต่อไป โดยกรณีที่ลูกหลานโตไม่ทัน ก็ให้หามืออาชีพที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่นี้ไปก่อน ในบ้านเรานี่ ผมยังนึกไม่ออกว่า มีกิจการไหนไม่ทำแบบนี้บ้าง ไม่ว่าจะเป้นธนาคาร ห้างสรรพสินค้า อุตสาหกรรมเกษตร และอื่นๆ ในเมืองนอก เท่าที่นึกออก ก็คุณ Rupert Murdoch หรือกลุ่มแฟชัน วิธีนี้ เป็นที่นิยมเพราะง่ายที่สุด ประหยัดสุด เงินทองไม่รั่วไหล และรับประกันได้ว่า กิจการยังอยู่ในมือ

๒) การเล็งหามืออาชีพจริงๆมารับช่วงต่อเพื่อขยายกิจการออกไป ในบ้านเรา ผมยังนึกไม่ค่อยออก ที่พอจะใกล้เคียงบ้าง ก้เป็นกิจการที่ถือกำเนิดมาจากมืออาชีพอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป้นปูนซิเมนต์ไทย ธนาคารบางแห่ง ในขณะที่ในต่างประเทศ แนวทางนี้ดูจะหาตัวอย่างได้ง่ายกว่ามาก เช่น ไมโครซอฟท์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เขาเฟ้นหามืออาชีพจริงๆ เข้ามาทำแทน หรือ GE และ IBM ที่ผ่านจุดตั้งไข่ไปนานมากแล้ว จนดูจะมีแนวทางการทำ succession plan กันเป็นเรื่องเป็นราวดี

๓) ่แนวทางที่สามนี่สิ ผมว่าเป็นสุดยอดแล้ว นั่นคือ ไม่หาตัวทงตัวแทนแล้ว ขายกิจการทิ้งไปเลย อันนี้เป้นการพิสูจนใจกันพอสมควรว่า ตัดใจได้จริงหรือเปล่า บ้านเราที่เห็นๆ ก้ทั้งชินคอร์ป และ DTAC นี่แหละ ใจถึงกันจริงๆ

ทั้งสามแนวทางนี้ ผมชอบมองแบบที่สองมากที่สุด เพราะเป้นการแสดงความสามารถเฉพาะตัวของเจ้าของกิจการจริงๆ ว่า สามารถหาตัวตายตัวแทนได้จริงหรือเปล่า ที่ผมเห็นเค้าลางอยุ่บ้าง ก็เป็นเครือใหญ่ๆอย่างซีพี ที่เห็นมืออาชีพอยู่ในนั้นบ้าง ดูแล้วน่าสนใจว่า ผู่ใหญ่ระดับนั้นดูแลคนอย่างไร ให้อยู่ในองค์กรได้นานๆ และดูเหมือนว่า จะสามารถวางใจให้ดูแลงานกันต่อไปได้ สามารถแถลงข่าว หรือทำหน้าที่เป็นตัวแทนองค์กรได้ โดยไม่ต้องรออนุมัติอีกที ลองสำรวจองค์กรของตัวเองดูสิครับ ว่ามี succession plan กันหรือเปล่า ไม่แน่นะครับ คุณอาจจะมองเห็นเบื้องหลังการติดสินใจหลายๆอย่างได้ไม่ยาก เพราะเจ้าของกิจการเขากำลังทำ succession plan อยู่ก็ได้ แต่การทำเจ้า plan ที่ว่าเนี่ย ไม่ได้หมายความว่า เขาจะหาใครมาแทนเสมอไปนะครับ เขาอาจจะทำเพื่อให้มั่นใจว่า มีการถ่วงดุลอำนาจกัน จนไม่มีมาแทนที่เขาได้ ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้

คิดแบบ Google

เขียนให้ นิตยสาร Go Training ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารหรือผู้จัดการมักจะตัดสินใจไม่ถูกว่า ควรจะจัดเวลาให้พนักงานแต่ละคนเท่าไร คือการฝึกอบรม งบฝึกอบรมอาจจะเป็นตัวหนึ่งที่โดนหั่นก่อน เวลาองค์กรต้องรัดเข็มขัด ในขณะเดียวกัน เรามักจะให้งาน หรือ”สั่งงาน”นั่นแหละ จนมองข้าม หรือเหลือเวลาเพียงน้อยนิด เพื่อให้คนในทีมพัฒนาตัวเอง ที่แน่ๆ ผมก็เป็นครับ เพราะนอกจากเราจะมีงานล้นมือแล้ว การขออนุมัติงบในการฝึกอบรมนั้น วัดผลได้ลำบาก พูดได้ไม่เต็มปาก ทั้งๆที่ทุกคนก็ทราบว่า ไม่มากก็น้อย การได้พัก ได้ออกไปเจอโลกภายนอก และเรียนรู้เพิ่มเติม เป็นเรื่องดี ที่เขียนมานี้น่ะ ก็เพราะผมสะกิดใจมากๆ หลังจากที่ได้ฟังรายการพอดคาสท์ของนิตยสาร Business Week (http://www.businessweek.com) และตามไปอ่านบทความของเรื่องนี้ (ประจำฉบับวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๐) ที่เว็บไซด์ดังกล่าว ทึ่งมากๆ พอกับรู้สึกว่า มันโดนครับ มันโดน

บทความที่ว่า เขาเขียนเรื่องเกี่ยวกับ Google ครับ โดยที่เราต้องทราบเป็นพื้นก่อนว่า ที่ Google เนี่ย เขายอมให้พนักงานทุกคนแบ่งเวลา ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของการทำงาน ไปทำเรื่องอะไรก็ได้ ที่ไม่เกี่ยวกับงาน บางคนอาจจะไปวาดรูป บางคนอาจจะไปเรียนภาษา ไม่่ว่ากัน ทีนี้ ในเรื่องนี้เนี่ย เขาพูดถึงพนักงานท่านหนึ่ง ชื่อว่า Christophe Bisciglia อายุ ๒๗ ปี ทำงานที่นี่มาแล้วกว่า ๕ ปี เขาเอาเวลาที่ว่านี้น่ะ ไปสอนหนังสือครับ เขากลับไปสอนที่ University of Washington ที่เขาจบมา เขากลับไปสอนเรื่องอะไรทราบไหมครับ เขาไปสอนเรื่อง วิธีการคิดเและแนวทางการเขียนโปรแกรมแบบ Google ครับ เขาพบว่า หลายคนนึกภาพไม่ออก หรือไม่เข้าใจว่า วิธีการคิดแบบ Google หรือ การที่ต้องออกแบบระบบที่รองรับการทำงานที่มีโหลดเป็นพันๆเท่าของระบบปกตินั้น ต้องทำอย่างไร ปริมาณทราฟฟิคที่ Google ต้องรับในแต่ละวันสูงมาก และมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าใช้วิธีการทำงานแบบเก่า จะทำไม่ทัน

คูณคริสทอฟ แกกล้้่ามากครับ ที่ไปสอนเรื่องพวกนี้ ในมหาวิทยาลัย และที่แกกล้ากว่านั้น คือ การสั่งคอมพิวเตอร์กว่า ๔๐ เครื่อง เพื่อจำลองการทำงาน มาไว้ที่มหาวิทยาลัย โดยส่งบิลล์ไปเก็บที่ Google ครับ (ถ้าเป็นบ้านเรา นอกจากจะโดนไล่ออกแล้ว อาจจะโดนคดีอาญาด้วยนะเนี่ย) มันยังมีรายละเอียดอีกเยอะนะครับว่า เขาไปทำอะไร ได้อย่างไร แล้วมีใครเห็นบ้าง แต่อยากให้ไปลองหาอ่านจาก Business Week ดูนะครับ แต่เอาเป็นว่า CEO ของ Google ซึ่งก็คือ Eric Schmidt ทราบเรื่องนี้ดี รู้เห็นเป็นใจด้วย โดยจับตาดูอยู่ห่างๆ

มีเอกชน และหน่วยงานรัฐอื่นๆให้ความสนใจมากๆ และอยากให้ขยายไปสอนที่อื่นด้วย โดยเรียกวิชานี้ว่า Google 101 และเมื่อวันหนึ่ง คุณ Sam Palmisano ซึ่งเป็น CEO ของ IBM มาเยี่ยมคุณ Eric ที่ Google ระหว่างที่คุยกันมื้อเที่ยง ทาง Sam ก็พูดถึงเรื่องโครงงานที่ IBM ให้ความสำคัญ คุณ Eric ก็เลยพูดถึงเรื่องที่ คริสทอฟทำอยู่ โดยที่คริสทอฟเองก็นั่งทานอยู่ด้วย ก็เลยกลายเป็นโปรเจคใหญ่ที่ทาง Google และ IBM ร่วมกันทำ และพลอยทำใ้ห้คริสทอฟเอง ต้องไปทำงานนี้เป็นเรื่องเป็นราวเต็มเวลาไปเลย แทนที่จะเป็น ๒๐ เปอร์เซ็นต์ในตอนต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เนื่องจากงานนี้ เป็นงานที่คริสทอฟเองอยากทำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ที่ผมรู้สึกว่า มันโดนเนี่ย มีหลายจุดครับ เพราะต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่เราจะเห็นองค์กรยอมให้คนของตนใช้เวลา ๒๐ เปอร์เซ้นต์ไปทำอะไรก็ได้ เพราะนั่นหมายความว่า ในหนึ่งอาทิตย์ พนักงานแต่ละคนมาทำงานแค่ ๔ วันก็พอแล้ว อีกหนึ่งวันที่เหลือ อยากจะทำอะไรก็ไปทำ ผมนับถือใจของผู้บริหารจริงๆ เพราะจากประสบการณ์การทำงานเห็น พนักงานบริษัททั่วไปใช้เวลา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่เห็นมีท่าทีว่า จะทำงานเสร็จเลย แถมยังอาจจะต้องหอบงานกลับไปทำที่บ้านอีก
ที่สำคัญ Google เป็นองค์กรใหญ่นะครับ มีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก มีพนักงานเป็นหมื่นๆคน และได้รับการยอบรับว่า เป็นบริษัทที่มีคนอยากทำงานมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา มีบุคลากรระดับหัวกะทิของโลกมาทำงานอยู่ที่นั่น หลายคนอาจจะบอกว่า แน่ล่ะสิ บริษัทมีเงินมากพอ อยู่ในช่วงขาขึ้น จะทำอะไรแปลกๆก็ได้ แต่ผมเชื่อว่า ทัศนคติในการคิดของผู้บริหารในเชิงกลยุทธต่างหาก ถึงทำให้เขาทำแบบนั้น และประสบความสำเร็จ ทุกอย่างอยู่ที่การคิด และวิสัยทัศน์จริงๆ ผมอดนึกไม่ได้ว่า ถ้าบริษัทไหนในบ้านเรา จะทำอย่างนี้บ้าง คงต้องมีกฏระเบียบว่า ให้ทำอะไรได้บ้าง หรือ ไม่ให้เอาเวลาไปทำอะไรบ้าง โดยอ้างว่า บ้านเราไม่เหมือนอเมริกา หรือไม่ก็บกว่า ทำงานที่บริษัทนี้นะ ไม่ใช้ Google ด้วยน้ำเสียงประชดประชันนิดๆ (คิดแล้วเซ็ง)

อีกจุดหนึ่งที่ชอบคือ การที่ช่องว่างระหว่างผู้บริหารกับพนักงานที่อาวุโสน้อย มีน้อยมาก ในบทความดังกล่าว เขาบอกว่า เมื่อตอนที่คริสทอฟเริ่มงานที่ Google นั้น เขานั่งตรงข้ามกับออฟฟิสของคุณ Eric ก็เลยทำให้สนิทสนมกันเป็นการส่วนตัว ซึ่งต้องนึกชม CEO อยู่ในใจว่า วางตัวได้ดี พอๆกับตาแหลมพอที่จะมองออกว่า ใครเป็นพวก high caliber บ้าง (จะว่าไป ชั่วโมงนี้ พนักงาน Google คงแทบจะเป็น High Celiber กันหมด) คิดถึงว่า CEO ของ IBM กับ CEO ของ Google ทานข้าวเที่ยงกันที่ canteen ของบริษัท โดยมีพนักงานระดับ Junior นั่งด้วยแล้ว มันบอกถึงวัฒนธรรมองค์กรหลายๆอย่าง โดยไม่ต้องอธิบาย และที่ชอบมากๆ คือ การที่ยอมให้คนภายในนำเรื่องราวไปสอนภายนอกได้ นับถึอครับ นับถือ

ผมเองได้มีโอกาสรับชมรายการพอดคาสท์ของ Stanford University ซึ่งเชิญบุคคลในวงการมาเล่าเรื่องที่เขาทำ เท่าที่พอจะเปิดเผยได้ มาเล่าให้นักศึกษาระดับ MBA ฟัง ก็ได้เจอคนที่ทำ GMail และคนที่ทำ Google Mobile Interface มาเล่าแนวคิดของเขาให้ฟัง ทึ่งครับ ทึ่งมาก

สุดท้ายนี้ ก็อยากวกกลับมาที่เปิดเรื่องทิ้งเอาไว้ เราสามารถนำแนวทางแบบ Google มาใช้กับการฝึกอบรมได้นะครับ แทนที่จะคิดว่า ต้องส่งคนของเราไปเรียนอะไร อาจจะโยนกลับไปถามคนในทีมแทนว่า อยากเรียนอะไร แล้วก็ให้ไปทำเลย วัดเป็นไตรมาสก็พอไหว ประหยัดงบได้ด้วย ผมว่าคนของเราพอรู้แหละว่า เขาควรจะไปเรียนอะไร หรือถ้าเก่งขนาดคริสทอฟ ยิ่งสบายใจเข้าไปใหญ่ ทั้งสองฝ่าย แต่คุยกับฝ่ายบุคคล หรือเจ้าของบริษัทให้ดีนะครับ จะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง อ่านเรื่องนี้ แล้วสะกิดใจครับ หวังว่า เมื่อได้อ่านแล้ว จะรู้สึกคันไปด้วย เหมือนผมนะครับ