วิ่ง…(๔)

ผมเชื่อว่า สิ่งที่ทำให้ FitBit ประสบความสำเร็จ คือการเก็บข้อมูลและนำแสดงข้อมูลนั้นทางอินเตอร์เน็ทนี่แหละครับ พอเราเห็นสถิติที่เป็นของเราทุกวันๆ มันทำให้ผมเกิดความรู้สึกอยากทำให้มันดีขึ้นและสะสมข้อมูลไปเรื่อยๆ นอกจากนี้แล้ว มันยังสามารถทำให้เราสามารถเชื่อมโยงกับเพื่อนๆและแสดงผลทาง Social Network ต่างๆได้ พลอยทำให้เพื่อนเราได้เห็นด้วย ธรรมชาติมนุษย์น่ะครับ มีอะไรดีๆ ก็อยากอวดแหละ ส่วนเพื่อนๆจะอยากดูหรือเปล่า ก็ช่างมันเถอะ แต่ก็แปลกดี ผมได้รับ feedback จากเพื่อนๆหลายๆคนเลยว่า เห็นแล้ว อยากกลับมาออกกำลังกายบ้าง และก็มีส่วนหนึ่งในนั้น เปลี่ยนจากความอยาก มาเป็นมีส่วนร่วม ลุกมาออกกำลังกายจริงๆไม่น้อยเลย

หลังจากที่วิ่งไปได้สักสัปดาห์หนึ่ง ผมก็อยากรู้จริงๆแล้วล่ะว่า แต่ละวันเนี่ย เราวิ่งไปเท่าไรกันแน่ ลำพังเจ้า FitBit นี่ ไม่เที่ยงพอ เวลานั่งรถตู้ไปต่างจังหวัดไกลๆ มันดันไปนับการโยกเยกของรถตู้ เป็นการวิ่งไปด้วย ไปกลับโรงเกลือ อรัญประเทศนี่ เกินไปเป็นหมื่นก้าว และขึ้นไปเก้าสิบชั้น โดยที่จริง เราแค่นั่งเฉยๆ

ตามประสา Geek แหละครับ เราก็อดจะมองหาอุปกรณ์ที่มาช่วยวัดไม่ได้ ตอนแรก ผมก็มองหาเจ้า Nike+ App บน iOs นะครับ ลองดูอยู่นาน เห็นว่า มันพอจะวัดได้ แต่ก็มีจุดที่น่าสงสัยคือ มันต้องใช้งานกับ GPS ซึ่ง iPod Touch ของผมไม่มี ต้องเป็น iPhone คิดอยู่นาน ทั้งที่ราคามันแค่ USD 2.00 เอง แล้วก็กดซื้อมาใช้วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ พบว่า มันวัดระยะน่าเชื่อถือกว่า FitBit แต่ก็ไม่แน่ใจว่า น่าเชื่อถือแค่ไหน เพราะมันไม่มี GPS ทำงานโดยการจับแต่ accelerometer อย่างเดียว แต่ก็ถือว่า มีตัววัดที่ดีขึ้น

เจ้า Nike+ App มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งครับ คือมีเสียงบอก (Voice Navigator) เมื่อถึง milestone สำคัญในการวิ่ง เช่น ครบ ๑ กิโลเมตร หรือเลยจุดที่เคยวิ่งได้ไกลที่สุดแล้ว รวมทั้งบอกอัตราการวิ่งเฉลี่ยด้วยว่า เมื่อครบรอบกิโลเมตรแล้ว เราวิ่งอยู่ที่ค่าเฉลี่ยกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อวิ่งครบ ก็บันทึกลงในเว็บ Nike+ และแสดงผลของการวิ่งทั้งหมดของเรา ผมค่อนข้างพอใจรายงานการวิ่งที่ได้จาก Nike+ มากกว่าที่ได้จาก FitBit เพราะ Nike+ เจาะจงกว่า แสดงผลเฉพาะเรื่องที่ละเอียดกว่า โดยผมไม่ต้องทำอะไรมาก ทุกอย่างบันทึกจากใน app โดยเราอาจจะ calibrate ระยะทางได้ ถ้าเราทราบระยะทางจริง และสามารถบันทึกได้ว่า การวิ่งแต่ละครั้ง เราใช้รองเท้าคู่ไหน (เรื่องนี้ สำคัญเหมือนกันนะครับ ถ้าต้องการทราบอายุการใช้งานของรองเท้า เพื่อเป็นปัจจัยในการเปลี่ยนคู่ต่อไป) แต่ก็นั่นแหละ เมื่อใช้ iPod Touch ที่ไม่มี GPS ทำให้ผมยังไม่ค่อยเชื่อในความแม่นของข้อมูลอยู่ดี ยิ่งมาวิ่งที่สวนลุมที่เราทราบระยะทางชัดเจน ก็พบว่า ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้างไม่เกิน ๒๐ เปอร์เซนต์ ทำให้อยากหาว่า มีทางวัดอย่างอื่นหรือไม่ พอลองถามเจ้าหมู (@taweewut) เจ้าตัวบอกว่า ใช้ iPhone แล้วก็ใช้ App เป็นตัววัด ทำเอาอยากได้iPhone เหมือนกันนะเนี่ย

จากนั้น ก็เริ่มหาครับว่า อุปกรณ์วัดระยะทางเนี่ย ใช้อะไรกันบ้าง ก็พบว่า บรรดานาฬิกาข้อมือที่มี GPS ในตัว ใช้สำหรับการเล่นกีฬาจริงจังนี่ มีเยอะเลยทีเดียว มียี่ห้อแปลกๆที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น Suunto, Polar หรือที่เป็นที่รู้จักในแง่อุปกรณ์นำทาง อย่าง Garmin ก็มีออกมาให้เลือกหลายรุ่นมาก รวมถึงนาฬิกาสายพันธ์อเมริกันอย่าง Timex ก็มีออกมาด้วย ราคาก็มีตั้งแต่ USD 100 – 600 เลยครับ จะวัดกันขนาดไหน ทั้งในน้ำ หรือบนบก ทั้งวิ่ง ปั่นจักรยาน ไตรกีฬา หรือว่ายน้ำ โอ๊ย เยอะจริงๆ อ่านจากใน Amazon.com จนมึนไปหมด แต่ละอันนี่ คุณสมบัติไม่ได้ขาดกันเท่าไร มีตัวชนกันเป็นรุ่นๆไป เหมือนกับว่า Accord – Camry, Civic กับ Altis, Jazz กับ Yaris ยังไงยังงั้นเลย เสียงวิจารณ์ทาง Amazon.com ก็ไม่ได้ห่างกันเท่าไร อ่านจาก RunnersWorld.com ก็ดูจะกลางๆและมีข้อมูลที่เก่าไปนิด

จนมาเจอ DCRainmaker.com เข้าให้ครับ โอ้โห Blog ของคนธรรมดา ที่ไม่ได้ทำโดยภาคธุรกิจ แต่ช่างละเอียดแบบได้ใจไปเกินร้อยเลย ตอบโจทย์ความสงสัยหายเกลี้ยง ลองไปอ่านดูนะครับ เจ้าของเว็บทำงานสาย telecom network นี่แหละครับ แล้วก็ออกกำลังกายเป็นงานอดิเรก ทั้งวิ่ง ว่ายน้ำ และไตรกีฬา ผมเจอ Blog นี้จากการ search หาเว็บที่ review นาฬิกาที่มี GPS รุ่นหนึ่ง ก็เลยมาเจอเข้า ผมเข้าใจว่า แกวิจารณ์ Garmin ทุกรุ่นแล้ว แล้วก็มีอุปกรณ์หลายๆชิ้นทีเดียว ที่แกหยิบมา ทั้งนี้ เนื่องจากว่าแกดังแล้วในระดับหนึ่ง หลายๆชิ้นก็เลยเป็นสินค้าฝากวิจารณ์มากกว่า ลองอ่านดูครับ ผมว่า แกเขียนละเอียดมากที่สุดคนหนึ่งทีเดียวเท่าที่ได้เลยอ่านมา ไม่ใช่แค่แกะกล่องออกมาถ่ายรูป และกดเมนูอุปกรณ์ วิจารณ์ไปนะครับ แกเอาไปวิ่ง ลงน้ำ หรือปั่นจักรยานด้วย เพื่อตรวจสอบข้อมูลว่า แม่นยำขนาดไหน หรือ มีปัญหาในการใช้งานจริงหรือเปล่า

พอได้รุ่นที่เราสนใจแล้ว ปัญหาของคนที่อยู่ในเมืองไทยที่เป็นกันทุกคนคือ ของพวกนี้ หาซื้อยาก เพราะเป็นของเฉพาะทาง และที่มีขายอยู่ ก็อาจจะทำใจลำบากหน่อย เพราะราคามันเป็นเกินจากที่เราเห็นขายในเว็บต่างประเทศ เหลือเกิน โดยเฉพาะถ้ามีโอกาสหาคนหิ้วกลับมาได้ คงจะไม่อยากซื้อเมืองไทยเท่าไรเหมือนกัน ด้วยความที่อยากได้ และหาซื้อรุ่นที่ไม่มีในเมืองไทยจริงๆ ก็เลยต้องให้คนรู้จักที่โน่นส่งมาให้ เสี่ยงดวงเรื่องภาษีเอา แต่ก็พบว่า ไม่โดนแฮะ อาจจะเป็นเพราะของเล็กและราคามันเอง ก็ไม่ได้แพงมาก

ผมมาเลือก Timex รุ่น Run Trainer ครับ สาเหตุหลักๆคือ ราคาไม่แพงนัก (USD 175) แล้วก็มี Heart-rate monitor มาด้วย (ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่า มันคืออะไร แต่น่าจะดี มาทราบคุณประโยชน์ของมันในภายหลัง ถึงได้รู้สึกดีใจ ที่เลือกเจ้านี่มาด้วย) และคุณสมบัติเรื่อง กันน้ำและความทนของแบตตารี่ครับ ในเมืองไทย ผมหารุ่นนี้ ไม่เจอ ถามหน้าเคาน์เตอร์ ก็ตอบไม่ค่อยได้ (ดูเหมือนว่า ผมจะรู้มากกว่าด้วยซ้ำ หลังจากที่ลองถามเคาน์เตอน์ Timex อยู่สองสามที่) ลองเมล์หาตัวแทนจำหน่ายในไทย ก็ไม่มีเสียงตอบกลับ (เมล์ไปที่ timexcs@idsgroup.com เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๒๒.๒๕ น.)

ได้รับของวันศุกร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ ได้ปุ๊ป ก็จับมาวิ่งเลย มันจะแม่นระยะทางแค่ไหนนี่ ไม่สามารถตอบได้แฮะ จนกว่าจะมีรุ่นอื่นๆมาเทียบ แต่มันมีการพลอตออกมาเป็นแผนที่ บอกระยะทาง อัตราการเต้นของหัวใจ ความเร็วต่อรอบ(หรือต่อกิโลเมตร) ได้ละเอียดดีจัง

มาถึงจุดนี้ ผมวิ่งมาได้ ๒ เดือนแล้ว อาการเจ็บค่อยๆหายไป ความสนุกเข้ามาแทนที่ พอๆกับความกลัวเรื่องเข่าพัง มีทุกขณะจิต อ่านเรื่องราวต่างๆจาก RunnersWorld.com ถึงอาการเจ็บของนักวิ่งใหม่ๆแล้ว กลัวจริงๆ มาออกกำลังกายตอนสี่สิบกว่าๆนี่ ต้องระวังตัวให้มาก ตัววัดที่สำคัญสำหรับผม ณ เวลานั้น คือ ระยะทางและระยะเวลา พยายามวิ่งให้ได้ ๕ กิโลเมตร ภายใน ๓๐ นาที เป็นอันว่า ใช้ได้ เจ้า Heart-rate monitor ที่ติดมาด้วยนี่ ใส่ไว้ วัดไว้ แต่แทบไม่ได้ดูค่าเลย ดูแล้ว ก็ยังไม่เข้าใจว่า มันสำคัญอย่างไร เห็นแต่ว่า อัตราการเต้นเฉลี่ยจากการวิ่งในแต่ละวัน อยู่ที่ 155 ถึง 160 BPM (Beats per Minute) ทั้งนาฬิกาและ HRM มีคู่มือมาให้ทั้งคู่ อ่านคู่มือของนาฬิกาจนพอจะเข้าใจ ก็พอใจแล้ว ผ่านไปสักสองอาทิตย์ ถึงได้ลองอ่านคู่มือของ Heart-rate monitor อ่านเสร็จแล้ว เหงื่อตก กลับมาดูสถิติของตัวเอง แล้วพูดในใจว่า “ฉิบหายแล้ว ออกกำลังกายผิดแนว”

วิ่ง…(๓)

สิ่งแรกที่ให้ความสำคัญและศึกษาอยู่นาน คือ รองเท้า เพราะมันเป็นตัวรองรับการใช้งาน เจ้า Brooks Ozone 2 ก็ใช้มา ๒ ปีแล้ว น่าจะถึงเวลาปลดระวางเสียที หลังจากที่รองรับการใช้งานทุกวัน ในช่วง ๕ สัปดาห์หลัง

ผมพบว่า เว็บ RunnersWorld.com เป็นแหล่งข้อมูลที่ดีมาก หาเจอจากการ search ไปเรื่อยๆ จากเดิมที่ชอบหาความรู้ใหม่ๆจาก Amazon.com ก็ ได้รู้จักเว็บนี้อีกที่ ผมก็เพิ่งทราบว่า รองเท้าสำหรับวิ่ง มี ๔ แบบหลัก ขึ้นอยู่กับรูปเท้า (ความแบน ความโค้งของอุ้งเท้า) ในเว็บของ RunnersWorld.com มีแบบสอบถาม หาข้อมูลเบื้องต้น เพื่อ search หารองเท้ารุ่นที่เราน่าจะลองพิจารณาดู สิ่งที่ทำให้เซ็งคือ ราคารองเท้าที่เห็นในห้างบ้านเรา กับที่เห็นจาก Amazon มันต่างกันอย่างมีนัยยะจริงๆ พอลองๆดู ตามห้าง


ก็มาเจอเจ้า K-Swiss นี่แหละ ราคาไม่แพงเกินไปนัก เหมาะกับรูปเท้าเรา ราคาในระดับที่เราพอใจ ชื่อรุ่นว่า Blade-Max Trail ตอนซื้อก็ไม่ได้เอะใจคำว่า Trail มาทราบภายหลังว่า Trail คือ การวิ่งที่อยู่นอกเส้นทางทั่วไป เช่น วิ่งในป่า เขา ทางที่ไม่ใช่ถนน ด้านล่างจะออกแบบให้รองรับการขูด ขีด ข่วน และกันน้ำในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องแลกก้บน้ำหนักรองเท้าที่มากขึ้น (คำว่า Trail  กับคุณสมบัติที่ว่า เป็นทุกยี่ห้อนะครับ) ได้มาปุ๊ป ก็ใส่วิ่งอย่างสนุกอยู่หลายวัน แต่ใส่ไปใส่มา ทำไมนิ้วเท้าเรา เจ็บหว่า แถมเล็บทำท่าว่า จะหลุด หาอ่านจากหลายๆที่ ถึงได้พบว่า เราต้องซื้อรองเท้าวิ่งให้ใหญ่กว่าขนาดเท้าเรา ๑ เบอร์ เพราะเท้าต้องการพื้นที่ในการกระแทกเข้าไปด้านหน้า อ้าว กลายเป็นว่า ซื้อรองเท้าผิดเบอร์ วิ่งมาก็หลายวันแล้ว แม้จะชอบมาก แต่ก็ต้องหาคู่ใหม่มาใส่ ก่อนที่เท้าจะเจ็บมากไปกว่านี้ คราวนี้ กลับมาลองหาใน RunnersWorld.com ใหม่ เจอที่น่าสนใจหลายคู่ แต่ดูยังไง ก็ทำใจรับราคารองเท้าที่เห้นในห้างไม่ได้สักที เพราะราคาเกินกว่าที่เห็นซื้อขายในต่างประเทศมาก ยี่ห้อดังสำหรับวิ่งอย่าง New Balance, Asics,  Mizuno, Brooks, Nike และ Adidas แพงจริงๆ เพื่อนรุ่นน้องที่วิ่งเยอะๆ ก็แนะนำว่า อย่าซื้อรองเท้าที่กองลดราคาเยอะๆ เพราะมักจะเป็นรองเท้าที่อยู่ใน stock เก่า สภาพยางและกาวจะเริ่มเสื่อม ถ้าออกกำลังกายจริงจัง จะไม่ทนนัก


ก็ให้มาเจอ Nike ลดราคากองหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นรุ่นคลาสสิคของนักวิ่งจาก Nike เป็นรุ่น Pegasus ดูเหมือนว่า Nike จะออกรุ่นใหม่ทุกปีใน series นี้ รุ่นที่มีขายอยู่คือรุ่น Pegasus 28 แต่ในอเมริกา ทาง Nike กำลังจะออกรุ่น Pegasus 29 มิน่าล่ะ ทางห้างจึงนำมาลดราคา พอลองใส่ดู บอกได้ถึงความนุ่มจริงๆ ใส่สบายมาก ไปเดินอยู่หลายห้าง แต่มีห้างเดียวที่ลดราคารุ่นนี้ ห้างอื่นไม่เห็นจะลดเลย แม้จะเป็นรุ่นเดียวกัน ผ่านไป ๒ สัปดาห์ ก็ยังลดราคาอยู่  ก็เลยตัดสินใจซื้อ ผมค่อนข้างชอบเจ้า Pegasus นี้นะครับ มันนุ่มสบายจริงๆ ตอนที่เท้ากดน้ำหนักตัวลงไป รู้สึกเลยว่า โฟมหรือยางด้านล่างยุบตัวรับการกระแทกให้ วิ่งมีความสุขมาก แล้วก็ต้องปลดเจ้า K-Swiss ไปไว้สำหรับเดินเล่นอย่างเดียว เสียดายเหมือนกัน แต่ก็เป็นบทเรียนในการเลือกซื้อขนาดรองเท้า จะว่าไป ก่อนจะซื้อเจ้า Pegasus ผมเกือบซื้อ Adidas นะครับ คนขายที่ห้างเซนทรัลพระรามเก้าเก่งมากๆ รู้จักสินค้าที่ตัวเองขายเป็นอย่างดี ให้คำแนะนำกับผมได้อย่างน่าประทับใจ แต่ราคานี่สิ ทำให้คิดอยู่นานเลย อายุรองเท้าเท่าที่อ่านๆมา น่าจะประมาณครึ่งปี (ถ้าใช้หนักๆ) หรือ ๔๐๐ ไมล์ คราวหน้า อาจจะเจอกัน


แต่ก็ให้มีเหตุที่ซื้ออีกคู่จนได้ โดยที่คู่แรกเพิ่งวิ่งไปได้ประมาณ ๒๐๐ กม. พอมาถึงจุดนี้ ผมวิ่งไปประมาณ ๓ เดือนแล้ว จากเดิมที่วิ่งวันละ ๓ กิโลเมตร ก็เพิ่มมาเป็นวันละ ๕ กิโลเมตร แต่แทนที่จะวิ่งสัปดาห์ละ ๖ วัน ก็ลดลงเหลือสัปดาห์ละ ๕ วัน โดยเลือกวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ไปเปลี่ยนบรรยากาศ วิ่งที่สวนลุมแทน แล้วก็แวะทานข้าวกับแม่ด้วย หนังสือและเว็บหลายๆที่ แนะนำว่า เมื่อจริงจังแล้ว ควรมีรองเท้าสองคู่ เพื่อสลับกันและให้เลือกคนละยี่ห้อไปเลย เพื่อเท้าจะได้เปลี่ยนพื้นบ้าง มีอยู่วันหนึ่ง ผมเลยแวะไปดูรองเท้า งานนี้ประทับใจคนขายครับ มาจาก Brooks เองเลย ขายอยู่ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว สามารถแนะนำได้เป็นอย่างดี ผมลอง search ดูจาก RunnersWorld แล้ว ก็พบว่า เป็นรุ่นที่ได้รับคำแนะนำ และเนื่องจากรุ่นใหม่ Brooks Glycerin 10 ออกมาแล้ว ทาง Brooks ก็เลยลดราคารุ่น Glycerin 9 ลงมาพอสมควร อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ และที่สำคัญ คนขายคุยกันรู้เรื่อง ผมก็เลยเลือกเจ้ารุ่นนี้แหละ มาลองดู ค่อนข้างประทับใจครับ ไม่นุ่มมากเหมือน Pegasus 28 แต่ก็รู้สึกสบายและมีแรงส่งในการวิ่งไปข้างหน้าค่อนข้างดี

พอมาถึงจุดนี้ ระดับการวิ่ง ของผมเริ่มอยู่ตัวแล้ว มีรองเท้า ๒ คู่สลับกันทุกวัน และที่สำคัญ ผ่านมา ๓ เดือน จากเดิมที่วิ่งสูงสุด ๕ กิโลเมตร ก็กลายมาเป็น ๑๐ กิโลเมตรแล้ว เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕

ตอนต่อไป ก็จะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ที่สำคัญมากๆอีกชิ้นหนึ่งแล้วครับ จะว่าไป มันทำให้ผมต้องกลับมาปรับความเข้าใจในการออกกำลังกายของตัวเองใหม่หมดเลย จากที่สนใจระยะทาง และระยะเวลา ก็ต้องหันมาดูอีกตัวแทน และกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สามารถวิ่ง ๑๐ กิโลเมตรได้ด้วยครับ

วิ่ง…(๒)

จากเดิมที่เดิน เดิน และเดิน เมื่อครบเดือน ความรู้สึกต่อมาคือ เมื่อไรมันจะครบ ๑๐,๐๐๐ ก้าวเสียที เดินเป็นชั่วโมงเลยกว่าจะครบ จากแรกเริ่มที่เกลียดการวิ่ง ก็ต้องคิดใหม่ ถ้าจะให้ได้เร็วๆ ก็คงต้องวิ่งแล้วมั้ง จะได้ครบเร็วๆ ประกอบกับว่า เริ่มเห็นวี่แววว่า นอกจากสุขภาพจะดีขึ้นแล้ว น้ำหนักก็ดูเหมือนจะลดลงด้วยแฮะ อย่ากระนั้นเลย ลองวิ่งดูก็ได้ วิ่งที่คอนโดนี่แหละ พอลองๆไป พบว่า ก็ไม่เลวเหมือนกัน ไม่เหนื่อยมากอย่างที่คิด เหตุผลหลักคงเป็นเพราะร่างกายเริ่มฟิตขึ้นแล้ว

ผมจำไม่ได้แล้วว่า ตอนแรกวิ่งต่อวัน เป็นระยะทางขนาดไหน ใช้เวลาเท่าไร คิดว่า ไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่ทำเกือบทุกวัน ถ้าจำไม่ผิด เริ่มวิ่งวันแรกที่ ๑ พฤษภาคม วันแรงงาน เพราะเป็นวันหยุด ประเมินจากจำนวนก้าวที่นับได้ใน FitBit ก็เลยเดาว่า วิ่งรอบสวนลอยในคอนโดสัก ๔ รอบ ก็น่าจะได้ประมาณ ๑ กม เลยขีดเส้น วิ่ง ๑๒ รอบ น่าจะได้ระยะประมาณ ๓ กม. รองเท้าที่มีอยู่ ก็เริ่มรู้สึกว่า ไม่น่าจะใช่แล้ว แต่ก็ยังทนใช้ไปก่อน ผ่านไปได้สักสัปดาห์ของการวิ่ง ผมก็รู้สึกคันขึ้นมาแล้วว่า เราจะวิ่งได้มากแค่ไหน ผมมีประสบการณ์ไม่ดีเรื่องวิ่งมา ๒ ครั้งใหญ่ในชีวิตที่ผ่านมา ณ จุดนั้น

อันแรกคือ วิ่ง ๖ กม ที่โรงเรียน สมัยเป็นนักเรียน AFS ที่ออสเตรเลีย ลองไปลงวิ่งดู เข้ามาน่าจะเป็นคนสุดท้ายของคนที่ลงทะเบียนแข่งทั้งหมด เกือบตาย พักเดินตั้งเยอะ แถมยังต้องไปวักน้ำข้างถนนมาลูบตัว เพราะร้อนมาก จนแทบไม่ไหว แต่ก็ฮึดสู้ ในจังหวะสุดท้าย เพราะมีเพื่อนนักเรียนวิ่งแซงแล้วแซว ก็เลยฮึดขึ้นมา แต่ก็จำขึ้นใจว่า ๖ กม. คือสุดๆแล้วที่เราทำได้ (แบบทุลักทุเลมากๆ) และแทบจะสาบส่งการวิ่งไปเลย

อีกประสบการณ์หนึ่ง คือ สมัยเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว บ้านแม่ผมอยู่ซอยหลังสวน สวนลุมพินีเป็นสถานที่ที่ผมคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่า ล่าสุดที่ผมเคยลองวิ่งที่สวนลุม คือ ประมาณ มิถุนายน ปี ๒๕๓๕ ช่วงปิดเทอมมหาวิทยาลัย แล้วว่างมาก จนเช้าวันหนึ่งไปลองวิ่งดู พบว่า เกือบตาย วิ่งเหนื่อยมากๆ  วิ่งจนครบรอบ แต่ก็เหนื่อยจนแทบเป็นลมไปเลย จำได้ว่า ไปนั่งนิ่งๆข้างทางเดินอยู่นานมาก เดินแทบไม่ไหว ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก่อน นึกอยากไปวิ่ง ตอนเช้า ก็ออกไปเลย ที่จำเดือนได้ เพราะจำได้ว่า มีเงินติดกระเป๋าอยู่ ๒๐ บาท ซื้อน้ำ ๑ ขวด และซื้อ The Nation มาอ่านข่าว NBA Final ระหว่าง Chicago Bulls – Portland Trail Blazers อยู่ อ่านข่าวแบบเหนื่อยๆ แล้วก็บอกตัวเองว่า ลิมิตเราจริงๆ ไม่ใช่ ๖ กม. แล้ว แต่เป็น ๑ รอบสวนลุม ซึ่งตอนนั้น จำไม่ได้แล้วว่า กี่กิโลเมตร แต่ไม่มีทางเกิน ๖ กิโลเมตรแน่ๆ

ผ่านมา ๒๐ ปี พอดี (บังเอิญจริงๆ เขียนไปก็อมยิ้มไป เพราะนึกไม่ถึงเหมือนกัน) คราวนี้ เดินมา ๑ เดือนแล้ว วิ่งมาเกือบอาทิตย์

“เราจะวิ่งผ่านจุดที่เราเคยเจอว่าเป็นลิมิตสมัยหนุ่มๆได้หรือเปล่า” เป็นคำถามที่ค้างคาใจจริงๆ อย่ากระนั้นเลย กลับไปลองใหม่ดีกว่า กลับไปสวนลุมนี่แหละ แล้วก็ถือว่า ไปกินข้าวกับแม่ด้วย ถ้าไม่ไหว ก็นอนเล่นบ้านแม่ก่อนได้

๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เป็นวันดีเดย์ ลูกเมีย ตามมา แบบงงๆ คุณพ่อและสามีกำลังทำอะไรอยู่ แต่ก็ไม่ว่าอะไร พอมาถึงสวนลุม ถึงได้ทราบว่า ๑ รอบที่สวนลุม เป็นระยะทาง ๒.๕๔๓ กิโลเมตร ซึ่งน่าจะเป็นระยะที่ผมทำได้ ไม่ต้องจรดจ้องนาน ว่าแล้วก็ลุยเลย

ครบรอบครับ ครบแบบไม่เหนื่อยมากอย่างที่กลัวไว้ ด้วยความดีใจ ครบแล้ว ก็ไม่หยุด ขอวิ่งต่อ ต่อไปได้สักครึ่งรอบ ก็รู้สึกว่า น่าจะพอได้แล้ว สำหรับครั้งแรก ไม่อย่างนั้น อาจจะเจ็บได้ ก็เลยหยุดการวิ่งครั้งแรกที่สวนลุมที่ ๑ รอบครึ่ง ระยะทางประมาณ ๓.๗ กิโลเมตร ไม่น่าเชื่อแฮะ

จะว่าไป ก็ต้องขอบคุณพี่ๆน้องๆ เพื่อนฝูงหลายๆคนที่มาให้กำลังใจผ่านทาง Facebook หลายๆคนเตือนให้ระวังอาการเจ็บ บางคนบอกว่ีา ไม่ต้องห่วง โรงพยาบาลจุฬาฯอยู่ติดกัน ไปได้เลย มีพี่หนูหริ่งมาให้กำลังใจดีมาก บอกว่า ไม่ยากหรอก เธอยังทำได้เลย ฟังแล้วรู้สึกดี เพราะเธอแก่กว่าเรา 😛 น้องบางคนก็บอกเรื่องของเวลาว่า น่าจะอยู่ในช่วงเท่าไร ผมจำไม่ได้จริงๆว่า ใช้เวลาเท่าไร เพราะมัวแต่ดีใจที่วิ่งจนจบ น่าสนุกแล้ว เราทำได้จริงๆ

ภาพประกอบที่เห็น เป็นภาพที่บันทึกจากโทรศัพท์มือถือในวันนั้น ก่อนจะเริ่มวิ่งสัก ๑๐ นาที

จากนั้น ก็แทบจะเรียกได้ว่า ไม่ได้สนใจเรื่องการเดินแล้ว หันมาออกกำลังกาย โดยการวิ่งอย่างเดียวจริงๆ การเดินขึ้นบันไดต่อวัน ก็ค่อยๆลดลงมาตามลำดับ อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อก็ค่อยๆเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดเป็นอาการบาดเจ็บ ผ่านไปอีก ๑ สัปดาห์ คราวนี้ กลับมาใหม่ ในที่สุด สองรอบที่สวนลุม ๕ กม. เราทำได้แล้วแฮะ ใช้เวลา ๔๕ นาที (๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕)

และเมื่อคิดว่าจะจริงจัง ผมก็เริ่มมาให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ต่างๆมากขึ้น แล้วก็มาถึงเรื่องเสียเงินแล้วสินะ

วิ่ง… (๑)

อุปกรณ์ FitBitแว่บแรกที่เห็นใน recommended list ใน Amazon.com ผมก็นึกสงสัยว่า เจ้า FitBit มันคืออะไร แต่ก็ไม่ได้สนใจมากนัก แต่จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า มีเพื่อนคนหนึ่งน่าจะใช้งานอยู่ เพราะเห็นใน Facebook แต่ผมก็จำไม่ได้ว่า เพื่อนคนไหนกันแน่ จากนั้น ผ่านมาหลายเดือน ผมก็เห็นเพื่อนคนที่ว่า คือ อุลิต มีสถิติรายวันลงใน Facebook ก็เลยเมล์ไปถาม ได้ว่าความว่า ใช้งานอยู่ แล้วก็ชวนให้ผมใช้ ผมสองจิตสองใจอยู่นาน ตัดใจไม่เอา แต่อุลิตก็เสริมว่า น่าสนใจนะ ผมไปลองดูวิดีโอของ FitBit ดู คิดไปคิดว่า ก็ลองแล้วกัน

Image

ภาพจาก endgadget

ก่อนจะไปถึงว่า ผมมาวิ่งได้อย่างไร ก็คงต้องแนะนำเจ้า FitBit นี่เสียก่อน เจ้า FitBit ที่ว่านี่ มันทำหน้าที่เป็น Pedometer ครับ มันทำหน้าที่นับการเดินของเรา อุปกรณ์แบบนี้ มีหลายยี่ห้อ หลายรุ่น แต่ที่ทำให้เจ้า FitBit แตกต่างจากคนอื่น คือ มันสามารถบันทึกข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ท ทำให้เราได้เห็นสถิติว่า แต่ละวัน เราเดินไปกี่ก้าว หรือประมาณกี่กิโลเมตร (ในชุดที่ให้มา จะมีแท่นชาร์จที่ทำหน้าที่ชาร์จต่อผ่าน USB  และส่งข้อมูลขึ้น http://www.FitBit.com ) เราสามารถเลือกที่จะเปิดให้คนอื่นมาดูได้แค่ไหน หรือปิด และเลือกได้ว่า จะแชร์ข้อมูลผ่าน social network (ตามสมัยนิยม) ทั้งทาง Facebook หรือ Twitter ก็ได้ ดูจากรูป ก็จะเห็นได้ว่า มันมีขนาดเล็กครับ พกพาง่าย ไม่ต้องชาร์จทุกวัน เก็บข้อมูลได้ประมาณ ๑ สัปดาห์ (ถ้าเราเดินทางและไม่สามารถเข้าอินเตอร์เน็ทได้) นอกจากนี้แล้ว ในรุ่นปัจจุบัน มันยังมีฟังก์ชัน altimeter วัดระดับความสูงได้ ประเมินได้ว่า เราเดินขึ้นบันไดไปแล้วกี่ชั้น หน้าจอของมัน สามารถกดดูข้อมูลได้ตลอดเวลา เราสามารถดูได้ว่า วันนี้ เราเดินไปแล้วกี่ก้าว ขึ้นสูงไปแล้วเท่าไร นอกจากนี้ เราสามารถตั้งให้มันวัดคุณภาพการนอนของเราด้วย โดยใส่เจ้า FitBit เข้าไปในสายรัดข้อมือ และกดให้มันจับเวลาก่อนนอน เมื่อตื่นขึ้นมา ก็กดหยุดเวลา มันจะประมวลผลของการนอนทั้งหมดว่า ใช้เวลาเท่าไร และขยับตัวมากน้อยขนาดไหน จากเวลาที่เราเข้านอน ๗ ชั่วโมง เราได้นอนนิ่งๆจริงๆ ประมาณเท่าไร (จากการใช้งานเจ้า FitBit มาสี่เดือน ผมเห็นว่า เจ้า FitBit เป็นตัวประเมินที่ดีนะครับ แต่ไม่ได้แม่นยำถึงขนาดว่า เอาไปอ้างอิงได้ แต่เมื่อมีข้อมูลติดต่อกันมาระยะหนึ่ง เราก็พอจะเห็น Pattern ของพฤติกรรมของเราได้อยู่) ข้อเสียอีกอย่างของมัน คือ ถ้าเราอยู่ในสถานะการณ์ที่กระเทือนเยอะ เช่น นั่งรถตู้ทางไกล เจ้า FitBit นับเพี้ยน เกินเลยไปเยอะเลยครับ ทั้งจำนวนก้าวและจำนวนชั้น

หลังจากที่ได้รับ FitBit มาใช้งานแล้ว (ผมฝากน้องสาวผมที่อยู่อเมริกาหิ้วกลับมาให้) ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ปีนี้เอง ผมคิดว่า สิ่งที่ผู้คิดค้น FitBit ตีโจทย์แตกละเอียดเลย คือการบันทึกลงในอินเตอร์เน็ทนี่แหละครับ ผมอ่านหนังสือเรื่อง The Power of Habit แล้ว ทำให้นึกถึงเจ้า FitBit เลย มนุษย์เรามักจะโดนกระตุ้นให้ทำอะไรสำเร็จได้ เมื่อเห็นตัววัดที่ชัดเจน จนนำไปก่อให้เกิดพฤติกรรมที่นำไปสู่การกระทำเป็นกิจวัตร พอเดินไปสักสัปดาห์หนึ่ง ผมก็พบว่า ตัวเองค่อนข้างติดการดูสถิติของมันอย่างจริงจัง เพราะมันเป็นสถิติของเราเองเลย คนทำ FitBit เขามีจิตวิทยาครับ เขาไม่ได้ตั้งตัววัดของเราเปล่าๆ เขาตั้งค่า Benchmark กลางๆไว้ครับว่า วันหนึ่ง เราน่าจะเดินได้ 10,000 ก้าว และขึ้นบันไดทั้งหมด 10 ชั้น ผมพบว่า ผมเดินอยู่ที่ประมาณ 4,000 ก้าวต่อวัน แต่ขึนบันได้อย่างมาก ก็ 1 ชั้นครับ ซึ่งก็นำมาสู่ข้อสงสัยต่อมาว่า ถ้าจะเดินให้ได้วันละ 10,000 ก้าวอย่างที่เขาตั้งไว้ มันจะยากมากไหม ว่าแล้วก็ใส่รองเท้าผ้าใบ ที่เราไม่ได้ใส่มานาน มาลองเดินดู หลังทานข้าวเย็นเสร็จ

ผมอยู่คอนโดมิเนียมครับ ในคอนโดฯ มีสองตึก ตึกละประมาณ ๓๐ ชั้น ผมเริ่มจากเดินในแนวราบ รอบๆสวนลอยที่เชื่อมสองตึกเข้าด้วยกัน พบว่า หนึ่งรอบ ใช้ประมาณ 400 ก้าว ถ้าจะเดินให้ได้ อีก 6,000 ก้าว ก็อีกหลายรอบอยู่ ก็เลยลองเดินไปตามชั้นต่างๆของตึกด้วย ระหว่างที่เดิน ก็ฟังพอดคาสท์ที่เราฟังประจำอยู่แล้วไปด้วย

จากการลองเล่นๆ ก็เริ่มเป็นกิจวัตร พบว่า เราทำได้ 10,000 ก้าว ไม่ได้ยากอย่างที่คิด จากที่เดินในแนวราบ เห็นทิวทัศน์เดิมๆ ก็กลายเป็นเดินตามลานจอดรถ สะสมชั้นที่เดินขึนด้วย จากจุดนี้ 10 ชั้น ก็ไม่เห็นจะยากตรงไหน อย่ากระนั้นเลย ลองเดินทั้งตึกดูดีไหม เอ๊ะ 30 ชั้น ก็ไม่ยากนี่หว่า แต่ที่สำคัญ อย่าเดินลง เพราะน้ำหนักจะลงเข่าเต็มๆ ทำให้พังง่ายขึ้น เดินขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ทั้งจำนวนก้าว จำนวนชั้น และเห็นว่า คอนโดเรา ก็มีห้องที่มีเลย์เอาท์จากภายนอกที่แปลกตาออกไปเหมือนกันนี่หว่า แถมมีคนลักลอบเลี้ยง สุนัขไว้ด้วยวุ้ย เนืื่องจากคอนโดที่อยู่เป็นคอนโดแรกของเมืองไทย ทางเดินหนีไฟ และทางเดินบันไดธรรมดา มีแยกกัน แถมมีบันไดหนีไฟถึง 2 ด้านต่อตึก ทำให้แต่ละชั้น มีบันไดให้เดินถึง 3 ทาง ผมเดินอย่างมีความสุข จากพอดคาสท์ที่ดองมา ไม่ได้ฟังหลายรายการ ก็ทยอยฟังจนหมด จนต้องมาฟังเพลงทั้งใหม่และเก่า ปนกันไป มารู้ตัวอีกที 1 เดือนผ่านไป ผมเดินเฉลี่ยวันละ 10,000 ก้าว 60 ชั้น สบายๆ ใช้เวลาวันละ 1 ชั่วโมง เมื่อเดินเสร็จ ก็ไปจัดรายการ ช่างคุยรายวัน กับกั้ง อย่างสบายๆ ทั้งหมดนี้ ก็ยังเป็นการเดิน โดยมีเจ้า FitBit และ iPod Touch + หูฟัง เป็นอุปกรณ์พกพา ทั้งลูกและภรรยา เริ่มทำใจรับได้กับพฤติกรรมของคุณพ่อและสามี ที่ต้องออกไปเดินไหนต่อไหน หลังมื้อเย็น สุขภาพไม่ได้ดีขึ้นเท่าไรนัก น้ำหนักก็เท่าเดิม แต่ที่เปลี่ยนไป คือ เหนื่อยน้อยลง แหงล่ะ เดินมาเดือนหนึ่งแล้วนี่ ร่างกายคงปรับตัวได้บ้างน่ะ

สิ่งหนึ่งที่ผมตั้งใจไว้และเป็นความคิดที่มีมานานมากแล้วคือ ผมจะทำแค่เดินเท่านั้น เพราะผมเกลียดการวิ่งมาก มันน่าเบื่อและเสียเวลา คิดแบบนี้มานานมากแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เจอเพื่อนๆ ผมก็ชวนให้ลองใช้ FitBit แต่ก็บอกไปว่า ที่จะไม่ทำต่อไป คือวิ่ง เพราะ “กูไม่ชอบ”