เล่าเรื่องแบบมืออาชีพ ตอน ๒

เขียนให้นิตยสาร Go Training ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๑

มาว่ากันต่อจากคราวก่อน ในหัวข้อการเล่าเรื่องนี่แหละครับ โดยขอเร่ิมจากหนังสือดีๆที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ผมได้อ่านเอง สี่เล่ม โดยขอเล่าเนื้อหาของหนังสือทั้งสี่เล่มก่อนว่า เขาว่ากันด้วยเรื่องอะไรบ้าง จากนั้น เรามาลองสรุปเนื้อหาของทั้งสี่เล่ม เพื่อที่เราจะได้นำไปประยุกต์เล่าเรื่องในรูปแบบมืออาชีพของเราบ้าง

เล่มแรกนั้น ผมเขียนไปแล้วในตอนที่แล้ว คือ The Presentation Zen โดย Garr Reynolds ว่าด้วยเรื่องทำอย่างไรถึงจะทำให้งาน presentation ดูน่าสนใจ โดยเน้นที่หลักการง่ายๆว่า ต้องมีคุณลักษณะเด่น คือ Simplcity, Creativity และ Brevity เล่มนี้เน้นเรื่องเทคนิคการนำเสนอให้ดูน่าสนใจ โดดเด่นแตกต่างไปจากที่หลายๆคนเคยเห็นมา แต่ก็ไม่ได้ให้ใช้เทคนิคอย่างฟุ่มเฟือย ให้ดูเรียบๆ แต่เท่ห์แบบ Apple เพราะจะว่าไป ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็เคยทำงานที่ Apple มาก่อน เนื่องจากคราวที่แล้ว ได้อ้างอิงเล่มนี้ไปมากแล้ว ผมจะไม่ขอเล่าเรื่องจากเล่มนี้อีกมากนัก หลักๆแล้วเป็นการใช้งาน Microsoft PowerPoint และ Apple Keynote

เล่มที่สองคือ Made to Stick โดย Chip และ Dan Heath (เป็นพี่น้องกัน) เป็นการศึกษาว่า ทำไมเรื่องราว หลายๆเรื่องถึงยังเป็นที่จดจำ เล่าขานต่อๆกันมาได้ โดยที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเล่าธรรมดาๆ ที่บางครั้งก็หาคนที่เป็นต้นเรื่องไม่เจอแล้ว ตัวอย่างเแรกๆที่หนังสือเล่มนี้ เอ่ยถึง ก็เรื่องของชายคนหนึ่งซึ่งตื่นมาพบว่า เขานอนอยู่ในอ่างน้ำ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำแข็ง และมีป้ายเขียนไว้ว่า อย่าขยับ ให้โทรเรียกรถพยาบาลด่วน เพราะเขาได้ถูกขโมยไตไปแล้ว (หลังจากที่เมื่อคืน ไปกินเลี้ยงกับสาวสวยที่ไม่รู้จักมา และจำไม่ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นในคืนนั้น) ในหนังสือนั้นเล่าไว้ละเอียดกว่านี้ แต่ประเด็นก็คือว่า ผู้เขียนเชื่อว่า หลายๆคนต้องเคยได้อ่านหรือเคยได้ยินเรื่องพวกนี้ ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะเป็นเรื่องที่ผ่านมาหลายปี ก็ยังมีคนจำเรื่องนี้ได้อยู่ เล่าต่อๆกันไปโดยไม่ต้องมีการทำ marketing ก็สามารถมีคนนำไปสื่อสารกันต่อไปได้ ผมอ่านแล้วก็อดยิ้มไม่ได้ เพราะผมเองก็เคยได้รับอีเมล์เรื่องทำนองนี้เหมือนกัน โดยมีรายละเอียดต่างๆกันไปบ้าง เช่นในฉบับของเมืองไทย เหตุการณ์นี้จะเกิดที่ห้างสรรพสินค้ากลางเมือง ที่มีทางเข้าห้องน้ำค่อนข้างลึกลับ เมื่อเทียบกัห้างอืื่น ผมเชื่อว่า ผู้อ่านหลายๆท่านก็ต้องเคยได้ยิน หรือเคยอ่านเรื่องทำนองนี้มาแล้ว หนังสือเล่มนี้ เขาไปลองค้นหาหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่า นิยาย หรือแม้แต่โฆษณา ว่าทำไมเรื่องเหล่านี้ถึงสามารถเป็นที่กล่าวขวัญกันนัก เขาได้สรุปออกมาด้วยครับว่า หลักๆแล้ว เรื่องราวที่จะทำให้จำกันได้ (Made to Stick) มักจะมีคุณลักษณะเด่นอยู่ ๖ อย่าง คือ
๑) Simplicity
๒) Unexpectedness
๓) Concreteness
๔) Credibility
๕) Emotions
๖) Stories
จากนั้น ผู้เขียนก็เล่าในรายละเอียดว่า คุณลักษณะที่ว่านี้ มีส่วนดีอย่างไรต่อเรื่องราวทั้งหลายที่อยู่มายาวนาน ทั้งนี้ เขายังยกตัวอย่างคำพังเพย หรือสุภาษิตโบราณของหลายๆชาติมาด้วยว่า หลายๆชาติมีสุภาษิตหลายๆบทที่เหมือนกัน โดยไม่ทราบว่า มาจากที่ไหนก่อน เท่าที่ผมพอจะนึกออก ก็อย่างเช่น กระสุนนัดเดียว ยิงนกได้สองตัว โดยที่ภาษาอังกฤษเองก็มีว่า Kill two Birds with One Stone ซึ่งทั้งสองภาษา ก็สื่อความหมายของสุภาษิตบทนี้ไปในทางเดียวกัน มีอีกหลายตัวอย่างทำนองนี้ในเล่มนี้ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ส่วนหนึ่งที่สุภาษิตเหล่านี้ มีส่วนคล้ายๆกัน และอยู่่มาได้หลายชั่วคน ก็เพราะมีลักษณะหลายๆอย่างที่ตรงกับคุณสมบัติทั้งหกข้อข้างต้น อ่านแล้วก็น่าสนใจ น่าคิด และน่าจะลองเอาใช้ดู

เล่มที่สาม ชื่อว่า The Story Factor โดย Annette Simmons ซึ่งเห็นบน Amazon.Com มีขายเป็น 2nd Edition แล้ว แสดงว่า ได้รับความนิยมไม่น้อยเลย เล่มนี้สนุกกว่าที่คาดไว้ครับ เขาเล่าว่าเวลาเราต้องเสนอความคิด แสดงผลงาน หรือ พูดในที่สาธารณะชนเนี่ย เราสามารถใช้วิธีเล่าเรื่องได้ เพื่อลดข้อโต้แย้ง เสนอความคิดที่ต่าง โดยที่บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ทั้งนี้ ผู้เขียนบอกไว้ว่า เรื่องที่เราจะเล่าเนี่ย สามารถแบ่งได้เป็น ๖ ประเภท คือ
๑) เรื่อง Who I am
๒) เรื่อง Why I Am here
๓) เรื่อง The Vision
๔) เรื่อง Teaching
๕) เรื่อง Values-in-Action
๖) เรื่อง I Know What You Are Thinking
ตัวอย่างของหนังสือเล่มนี้ที่ใช้เปิดบทแรก ก็เอ่ยไว้น่าสนใจทีเดียว เพราะเขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อทายาทรุ่นที่สามของบริษัทต้องเข้ามาทำหน้าที่สานต่องาน ที่รุ่นก่อนทิ้งไว้ก่อนกำหนด ด้วยประสบการณ์ที่ยังไม่มากนัก อายุก็ยังน้อยเมื่อเทียบกับบทบาทที่ต้องมารับ ประกอบกับทางองค์กรเองก็มีปัญหา เมื่อถึงวันที่ต้องมารับตำแหน่ง ท่ามกลางสายตาของผู้ถือหุ้นหลายๆท่านที่มีท่าทางเคลือบแคลง และนักข่าวที่จ้องจะคอยดูว่า ซีอีโอมือใหม่จะทำอะไรเชยๆ หรือพูดอะไรผิดพลาดบ้าง ผู้นำท่านนี้จะทำอย่างไรในสถานการณ์นี้
เขาเลือกที่จะเล่าเรื่องครับ เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อตอนที่เขาอายุ ๒๕ ปี จบปริญญาโทมาสองใบ ต้องไปทำงานเป็นวิศวกรในโรงงานประกอบเรือ ซึ่งเขาคิดว่า คุณวุฒิของเขาเหลือเฟือกับงานดังกล่าว โดยจุดสำคัญของงานคือ ห้ามประกอบผิดพลาด เพราะความผิดพลาดของการหล่อโครงเรือไฟเบอร์มีมูลค่ามหาศาล

ซึ่งครั้งหนึ่ง มีลูกมือในโรงงานโทรมาหาเขาที่บ้าน เพื่อยืนยันว่าจะทำตามแบบที่เขาเขียนมาจริงๆหรือ ซึ่งเขาก็ยืนยันไปตามนั้น โดยที่เขาเองก็ไม่ได้คิดอะไร แต่ว่าต่อมาอีกหนึ่งชั่วโมง โฟร์แมนก็โทรมาอีกด้วยคำถามเดียวกัน ซึ่งเริ่มทำให้เขาฉุนมาก อดนึกโมโหไม่ได้ว่า เรื่องแค่นี้ยังต้องมาถามอีก ซึ่งเขาก็ยืนยันไปตามเดิม จากนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมง เขาก็ได้รับโทรศัพท์จากประธานบริษัท มาตามให้ดูเรื่องนี้ที่โรงงาน และนั่นเองทำให้เขาได้เห็นว่า แบบที่เขาทำขึ้นมานั้น มีข้อผิดพลาด (เนื่องจากเขาเป็นคนถนัดซ้าย ทำให้แบบที่ออกมา มีการทำสำเนาผิด กลับซ้ายเป็นขวา) จากเหตุการณ์ในคราวนั้น เขาได้รับของที่ระลึกเป็นรองเท้าพิเศษหนึ่งคู่จากที่บริษัท ข้างหนึ่งเป็นสีแดง และอีกข้างเป็นสีเขียว เพื่อเป็นเครื่องเตือนเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อกล่าวถึงตอนนี้ เขาก็หยิบรองเท้าคู่นี้ออกมาจากกล่องที่เขาถือติดมา เพื่อให้ทุกคนได้เห็น หลายๆคนในห่้องประชุมหัวเราะ และเรื่องนี้ก็เรียกรอยยิ่้้มจากหลายคนที่เดิมฉายแววเคลือบแคลงเขาอยู่ บรรยากาศของการแถลงข่าวก็เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ผ่อนคลายมากขึ้น คงไม่ต้องเล่ากระมังครับว่า เพราะอะไร

ในเล่มนี้ มีตัวอย่างเรื่องหลายๆเรื่อง หลายๆสถานการณ์ ที่เราต้องนำเรื่องเล่ามาลดแรงเสียดทานในการนำเสนองาน อ่านเล่มนี้แล้วชอบ รู้สึกว่าคนเขียนฉลาดดี นำเรื่องพวกนี้มาสรุปเป็นหมวดๆได้ลื่น และกลมกลืนดี

เล่มที่สี่เป็นหนังสือที่เก่ามาก ชื่อว่า You Are the Message โดย Roger Ailes เขียนมาตั้งแต่ปี ๑๙๘๘ ซึ่งคนเขียนท่านนี้(ณ เวลานั้น)เป็นที่ปรึกษาทางด้านสื่อให้กับนักการเมือง นักธุรกิจหลายๆคน โดยที่หนึ่งในลูกค้าของเขาคือ Ronald Reagan ซึ่งเขาเองก็ได้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ตรง เมื่อ Reagan ต้องประสบปัญหาในการหาเสียงในสมัยที่สอง เนื่องจากตอนนั้น ประธานาธิบดีคนดังกล่าวมีอายุได้ ๗๓ ปีแล้ว และเมื่อเผชิญหน้ากับผู้ท้าชิงที่มีอายุอ่อนกว่า และมีท่าทีที่ทันกับสถาณะการณ์ปัจจุบันได้ดีกว่าท่านประธานาธิบดีที่ดูจะเริ่มสับสนในนโยบายของตัวเองแล้ว และสถานะการณ์ก็มาถึงจุดคับขัน เพราะ Reagan ต้องขึ้นเวทีสด ออกโทรทัศน์ เพื่อโต้วาทีกับผู้ท้าชิง Walter Mondale เป็นครั้งที่สอง โดยที่ครั้งแรกนั้น ดูเหมือนว่า ทั้งสื่อและมหาชนจะลงความเห็นไปในทางที่ว่า Walter Mondale ทำคะแนนได้ดีกว่า และทาง Reagan เองก็ยังไม่สามารถหาข้อโต้แยงใดๆมาลบประเด็นเรื่องอายุได้เลย ผมไม่อยากเล่าว่า เรื่องนี้จบอย่างไร เพราะเล่าไปก็ไม่สนุกเท่าที่ได้อ่าน เพราะคนเขียนขมวดปม และแทรกบริบทต่างๆใยช่วงเวลาดังกล่าวได้ดีมาก จนอยากให้ได้อ่านกัน เพราะผมเองก็มีโอกาสได้เห็นเทปดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ ทาง Larry King Podcast ซึ่งถ้าไม่ได้อ่านเรื่องนี้มาก่อน ผมเองก็คงเฉยๆกับช่วงดังกล่าว เพราะไม่ได้เห็นบรรยากาศทางการเมือง ณ ขณะนั้นว่ากำลังพุ่งประเด็นเรื่องอะไรอยู่

นอกจากนี้ ในหนังสือเล่มนี้ยังได้เล่าถึึงวิธีการพูด การใช้สายตา การแต่งตัว อารมณ์ด้วย ควรจะเป็นอย่างไร โดยมีตัวอย่างที่เขาเห็นมา มาเล่าให้ฟัง ที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งคือ เขาบอกว่า หลายๆครั้ง เขาจะดูว่าคนพูด หรือพิธีกรรายการทีวีน่าสนใจหรือไม่ โดยการปิดเสียงทีวีซะ แล้วดูว่า เมื่อไม่มีเสียงแล้ว ภาษากาย สายตา ใบหน้าของคนพูดยังน่าสนใจหรือไม่ สนุกนะครับ แต่ผมกลับรู้สึกตรงข้าม ในแง่ที่ว่า ผมเองมักจะให้ความสำคัญของการใช้เสียงมากกว่าการใช้ท่าทาง แต่ประเด็นที่ท่านเขียนไว้ ก็น่าสนใจมากอยู่

พื้นที่หมดอีกแล้ว เอาไว้ตอนหน้า ค่อยมาสรุปจากทั้งสี่เล่มก็แล้วกันนะครับว่า เราน่าจะนำไปใช้ได้อย่างไร